การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการทำนา

คุณมงคล ละบุญเรือง ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านเนินไทร ต.สระขวัญ อ.เมือง จ.สระแก้ว

พื้นที่ตำบลสระขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ส่วนใหญ่เป็นที่ทำนาโดยเฉพาะข้าวนาปี พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก คือ มะลิ 105 รองลงมาเป็นเหลืองประทิวและขาวตาแห้ง มีพันธุ์พื้นเมืองเล็กน้อย เช่น ข้าวเหลือง และขาวกอเดียว ช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ตำบลสระขวัญเผชิญกับฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อัตราการงอกของข้าวลดลง และยังมีโรคแมลงระบาดเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรบางรายตัดสินใจปล่อยพื้นที่นาทิ้งไปเพราะยิ่งทำยิ่งขาดทุน

การรับมือจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทาง ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านเนินไทร ได้ค้นหาทางเลือกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนี้

1) พัฒนาและคัดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ปัจจุบันศูนย์ฯ มีแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และมะลิแดง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตและต้านทานโรคแมลงให้กับสมาชิก จึงสามารถลดต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ลงไปได้ อีกทั้งศูนย์ฯ มีการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวน 20 สายพันธุ์

2) สร้างความหลากหลายในแปลงผลิต ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมวิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งด้านการจัดการและด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการปลูกข้าวเพียงชนิดเดียว หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยว จึงศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกพืชให้มีความหลากหลายอย่างน้อย 2 ชนิดในพื้นที่เดียวกัน เช่น การปลูกข้าวสลับกับพืชตระกูลถั่ว หรือข้าวโพด การปลูกมันสำปะหลังสลับกับข้าวโพดและถั่วเขียว เป็นต้น

3) พัฒนาการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม จากที่ศูนย์ฯ รณรงค์ให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมี จึงมีความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางเกษตรที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต โดยร่วมมือกับบริษัทคูโบต้าเพื่อคิดค้นพัฒนาเครื่องมือภายใต้เครื่องมือนั้นๆ เกษตรกรสามารถใช้ได้ง่าย มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว ปอเทือง การประยุกย์ดัดแปลงเครื่องดำนาเก่ามาเป็นเครื่องฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ พัฒนารถไถเดินตามเป็นรถนั่งขับ พัฒนาล้อรถใหญ่เป็นล้อบางขึ้นเพื่อทำนาได้หลายไร่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ดังภาพที่ 1

จากการพัฒนาเครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าวที่เหมาะสมนี้ ทำให้เมื่อนำผลผลิตไปขายให้กับลานรับซื้อจะได้ราคาที่สูงขึ้น จากเมล็ดข้าวมีคุณภาพดี จึงมีเกษตรกรที่สนใจและเข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น ที่สำคัญการดัดแปลงหรือพัฒนาเครื่องมือสำหรับนำมาใช้ในการทำนา นอกจากเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ศูนย์ฯ ยังมุ่งหวังให้เด็กหรือคนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจภาคเกษตรมากขึ้น

ภาพที่ 1 ตัวอย่างการดัดแปลงเครื่องมือ/เครื่องจักรมาประยุกต์ใช้ในการผลิต

4) ใช้วัสดุในแปลงให้เกิดประโยชน์ เช่น ไม่เผาฟางแต่นำมาทำเป็นปุ๋ย ทำอาหารสัตว์ หรือทำเป็นวัสดุคลุมดินในแปลงพืชผัก รวมถึงการรณรงค์ปลูกป่าในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

5) ควบคุมหญ้าในแปลงนาโดยการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ทั้งนี้เพื่อกำจัดพิษจากการไถกลบตอฟางที่มักย่อยสลายได้ช้าและส่งกลิ่นเหม็นที่เป็นเหตุให้เกิดโรคในนาข้าว ทางศูนย์ฯ จึงควบคุมโรคโดยการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่มี 7 รส โดยเอายอดผักหลากหลายชนิดมาหมักผสมกับน้ำอ้อย ซึ่งน้ำอ้อยจะเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่เข้าไปย่อยสลายยอดผักที่มีไนโตรเจนสูง การฉีดน้ำหมักนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ขยายโรค และทำให้ฟางย่อยสลายเร็วเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้เร็วขึ้น และการมีจุลินทรีย์ในดินจะทำให้ดินมีอุณหภูมิที่พอเหมาะในการเอื้อให้การงอกของพืชได้ดี

6) นำใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System – GIS เพื่อวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ว่าควรจะเริ่มเก็บเกี่ยวบริเวณใดของพื้นที่ ที่สามารถทำได้เร็วและลดความเสี่ยงจากรถเกี่ยวได้ จากข้อมูล GIS ที่ทำให้ทราบขนาดพื้นที่ ภาพมุมสูง ความลาดเอียงของพื้นที่ ดังภาพที่ 2

ภาพ 2 ตัวอย่างข้อมูล GIS ในพื้นที่นาของศูนย์ฯ

7) ใช้ภูมิปัญญาควบคู่กับข้อมูลพยากรณ์อากาศ ในการรับมือการจัดการแปลงการผลิต ตัวอย่าง เช่น การดูสีของลำตัวหนอนด้วงในดิน หากลักษณะสีด้วงขาวขุ่น ทำนายได้ว่าจะเกิดภาวะแล้งตลอดปี หากเป็นสีดำสามารถนำมาทำนายความถี่ของฝน โดยนับจำนวนจุดสีดำในแต่ละปล้องของหนอนด้วงที่ปกติมีอยู่ 12 ปล้องที่เริ่มนับเดือนจากช่วงหัวไปทางก้น ซึ่งคำทำนายนี้ต้องทำควบคู่กับข้อมูลการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

8) เชื่อมประสานกับภาคี ศูนย์ฯ ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคี เช่น สภาเกษตรกร อบต. มูลนิธิสระแก้วสีเขียว มหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการยกระดับและพัฒนาการผลิตข้าว และต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจชุมชนผ่านการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการทำเกษตร เป็นต้น

9) ขยายองค์ความรู้การทำเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งตนเอง ทางศูนย์ฯ ได้เปิดอบรมให้ความรู้การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในการพึ่งตนเอง ภายใต้หลักปรัชญาว่าด้วยเรื่อง พออยู่ พอกิน พอใช้ ดังนั้นเทคนิคทางด้านเกษตร ไม่ว่าการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดิน ฯลฯ ทางศูนย์จะถ่ายทอดให้กับผู้สนใจ