การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคอีสาน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับพันธุกรรมผัก

โดย อาจารย์พัฒนา ภาสอน สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิในช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนไม่แตกต่างกันมากนัก จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ตัวอย่างเช่น การเพาะกล้ามะเขือเทศต้องได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสมถึงจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ในช่วงติดดอกและเริ่มออกผลอุณหภูมิในช่วงกลางวันต้องสั้นกว่ากลางคืนถึงจะทำให้มะเขือเทศมีรสชาติดี แต่หากอุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนไม่แตกต่างกันมากนักก็ส่งผลต่อผลผลิตและรสชาติมะเขือเทศที่ไม่ดีนัก เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของพืชจะอยู่ในช่วง 15-30 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าพืชจะไม่งอกหรือมีการเจริญเติบโตที่ไม่ดี ตัวอย่างในประเทศจีนได้มีการปรับโรงเรือน เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผัก โดยสร้างโรงเรือนที่ครึ่งหนึ่งของด้านทิศตะวันออกจะก่อเป็นกำแพงอิฐมอญ 2 ชั้น เพื่อให้มีโพรงอากาศถ่ายเทด้านในโรงเรือน ส่วนฝั่งด้านทิศตะวันตกจะปิดด้วยพลาสติกใส มีผ้าห่มและฟางคลุมไว้อีกชั้น เพื่อควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผักไว้ในโรงเรียน วิธีการเช่นนี้ ทำให้การปลูกผักในประเทศจีนสามารถวางแผนการปลูกผักได้ตลอดทั้งปี และได้ผลผลิตที่ดี จึงกล่าวได้ว่าการปลูกผักจะได้ผลผลิตที่ดี ต้องมีอุณหภูมิที่พอเหมาะที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตตั้งแต่การงอกของเมล็ด การเจริญเติบโต และให้ผลผลิต

เมล็ดพันธุ์กับการปรับตัว

          สำหรับเมล็ดพันธุ์ผักนั้น สามารถปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพพื้นที่ที่ต่างไปจากเดิม โดยอาศัยการคัดเลือกพันธุ์ที่นำมาปลูกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เมล็ดพันธุ์สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ได้ อย่างเช่น การปลูกผักกวางตุ้ง ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่เกษตรกรในพื้นที่มีการคัดเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์เอง แม้ว่าสภาพอากาศไม่ได้เย็นมาก แต่สามารถติดดอกและเก็บเมล็ดได้ โดยเหตุผลในการเก็บเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร คือหากไม่เก็บเมล็ดพันธุ์เองจะต้องเดินทางไปซื้อในอำเภอ เพื่อไปซื้อเมล็ดพันธุ์ซึ่งไม่คุ้มกับค่าเดินทางเพียงเพื่อไปซื้อเมล็ดพันธุ์ราคา 10 บาท ซึ่งเกษตรกรได้มีรายหนึ่งในทุ่งกุลาได้มีการเก็บและคัดเลือกพันธุ์มานานกว่า 40 ปี  

          อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของเมล็ดพันธุ์อาจต้องใช้เวลา ดังนั้น การนำเมล็ดพันธุ์ต่างถิ่นมาปลูกในช่วงแรกการเจริญเติบโตและผลผลิตจะไม่ดี แต่เกษตรกรต้องมีการคัดเมล็ดพันธุ์และปลูกผักชนิดนั้น ซ้ำหลายครั้งเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ได้ปรับตัวตามสภาพที่เป็นอยู่

การปรับตัวในการปลูกผัก

          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ปกติที่ช่วงฤดูร้อนกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน เนื่องจากดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ช่วงฤดูหนาวนั้น กลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวันเพราะดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว แต่เมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ช่วงแสงกลางวันและการคืนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลต่อการปลูกผักที่เกษตรกรต้องขยับวันปลูกออกไป ตัวอย่างพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา ฟักทอง บวบ มะระ ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น โดยปกติมักปลูกช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ซึ่งเป็นฤดูหนาวที่มีช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน แล้วจะให้ผลผลิตดี แต่ถ้าปลูกในช่วงมีนาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นฤดูร้อนที่มีช่วงกลางวันยาวกว่ากลางคืนจะได้ผลผลิตน้อยหรือผลผลิตไม่ดี ความต่างของช่วงแสงมีผลต่อการบานและการเจริญเติบโตของเกสรตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งโดยลักษณะของพืชตระกูลแตงจะเป็นพืชที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือดอกที่มีเกสรตัวผู้ หรือเกสรตัวเมียเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งในต้นเดียวกันแต่ต่างดอกกัน และผลของพืชตระกูลแตงจะติดเฉพาะดอกตัวเมียเท่านั้น ดังนั้นหากอยากให้มีผลผลิตที่ดีจึงต้องทำให้พืชออกดอกตัวเมียในปริมาณมาก ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน ดอกที่มีเกสรตัวเมียจะออกในปริมาณมากจึงทำให้ผลผลิตตระกูลแตงดีงาม แต่พอมาเป็นช่วงกลางวันยาว เดือนมีนาคม-มิถุนายน ช่วงกลางวันยาวกว่ากลางคืน พืชตระกูลแตงมีแต่ดอกตัวผู้ผลผลิตจึงมีน้อย อย่างไรก็ตามถึงดอกตัวผู้จะไม่ติดผล แต่ก็มีประโยชน์ในการปล่อยละอองเกสรไปผสมกับดอกเพศเมีย

การรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

  • การคัดเลือกพันธุ์เติบโตได้ดีในสภาวะที่เหมาะสม เช่น การเก็บเมล็ดผักกวางตุ้งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่แม้ว่าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ แต่เกษตรกรสามารถคัดเลือกพันธุ์ จนได้พันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี เป็นต้น
  • การเติมอินทรียวัตถุลงไปในดินเพื่อปรับโครงสร้างดิน การเติมมูลสัตว์ การปลูกพืชตระกูลถั่ว การคลุมแปลงด้วยเศษใบไม้หรือฟาง การหมุนเวียนปลูกพืชต่างตระกูล การพักดิน ฯลฯ จะช่วยควบคุมอุณหภูมิรักษาความชุ่มชื้นในดิน ช่วยเพิ่มช่องว่างอากาศในดินจากการซอนไซของรากพืช ทำให้ดินมีธาตุอาหารและความสมบูรณ์ขึ้น เหล่านี้จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของผักได้อย่างดี
  • การปลูกพืชผสมผสานสร้างความหลากหลายชนิดพืช โดยเกษตรกรต้องมีการพืชยืนต้นที่หลากหลายบริเวณรอบแปลงผัก หรือการปลูกไม้ดอกล่อแมลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น ระบบการผลิตวนเกษตร การนำใช้หลักทฤษฎีการผลิตผสมผสานควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ฯลฯ เป็นต้น