เวทีเสวนา “วิกฤติโลกร้อน ภาวะเศรษฐกิจ”: แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของประเทศไทย

โดย คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (ผอ.กนย.) กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยกิจกรรมของมนุษย์ มีวิธีการรับมือ 2 ช่องทาง คือ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร, อุตสาหกรรม, ของเสียจากชุมชนทั้งขยะและน้ำเน่าเสีย, พลังงานและการขนส่งซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากกรณีที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะทำให้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจเพิ่มขึ้น และ 2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศผ่านการเสริมสร้างขีดการปรับตัวต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในทุกประเภท เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และดินโคลนถล่ม

แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งชาติ

            การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศถือเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ที่ได้ให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) ในการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นถือเป็นกรอบการทำงานในระดับประเทศเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อที่จะนำไปบูรณาการหรือนำไปกำหนดเป็นแผนงานของหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค หรือท้องถิ่น โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้บรรลุ คือ “ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันและสามารถปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งมาตรการนั้นมีแนวปฏิบัติภายใต้ 6 สาขาหลัก ในการขับเคลื่อนประเทศและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ การเกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และผังเมือง

แนวทางการดำเนินงานในภาคเกษตร

1.แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับเกษตรกร

  • ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยนำวิธีการหรือเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมาปรับใช้ เช่น การจัดการมูลสัตว์ การปรับปรุงอาหารสัตว์ การลดการใช้พลังงานและน้ำ การลดการไถพรวน และการควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร เป็นต้น
  • ลดการเผาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตสินค้าทางการเกษตร
  • การรวมกลุ่ม/เครือข่ายในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรที่ผลิตภัณฑ์ปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงกว่าสินค้าปกติ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ให้ความสำคัญในการผลิตที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกผ่านตัวสินค้า

2.แนวทางการปรับตัวของเกษตรกร

  • การปรับปฏิทินการเพาะปลูกควบคู่กับการนำใช้ข้อมูลสภาพอากาศในการวางแผนเพาะปลูก และติดตามเฝ้าระวังภัยพิบัติทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง หรือวาตภัยที่อาจเกิดขึ้น
  • การปรับปรุงกระบวนการผลิตทางการเกษตร ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุน ประหยัดเวลาและแรงงาน เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การปลูกพืชหลากหลายภายใต้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอัจฉริยะ เพื่อลดความเสี่ยงจากภูมิอากาศที่แปรปรวน ควบคู่กับการทำอาชีพเสริมที่ไม่ใช่การเกษตรในการสร้างรายได้ที่ต่อเนื่อง
  • ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเสื่อมโทรมของดิน เช่น การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชแบบไม่ไถพรวน การเลือกระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับชนิดของดิน เป็นต้น

อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ  บ้านสวนซุมแซง  ตำบลท่าขอนยาง  อำเภอกันทรวิชัย  จังหวัดมหาสารคาม