การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของเกษตรกรในนิเวศที่ดอน: การปรับตัวในการปลูกลำไย

สถานการณ์ลำไยในพื้นที่
       คุณวันเพ็ญ พรินทรากูล จากสถาบันวิจัยหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ได้นำเสนอสถานการณ์ผลผลิตของลำไยในช่วงปี 64 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ชาวสวนลำไยเผชิญกับปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ประกอบกับลำไยลูกเล็ก อีกทั้งการช่วงเวลาที่ใช้สารเร่งผลสภาพอากาศและฝนตกดี ทำให้ลำไยออกดอกออกผลเร็วจนทำให้ผลลำไยแตก ในขณะเดียวกันผลผลิตลำไยในประเทศจีนเองมีกำลังการผลิตมากกว่าไทย ทำให้การส่งออกลดลง รวมถึงการค้นพบสารปนเปื้อนในลำไยด้วย สำหรับลำไยเกรด AA ราคาต่ำกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม เหล่านี้ทำให้ชาวสวนลำไยตัดสินใจปล่อยให้ลำไยเน่าคาต้น หรือไม่ก็ตัดต้นเอาไปทำฟืน เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุนทั้งค่าแรง และราคาที่ขายได้ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิดแรงงานต่างด้าวถูกควบคุมและกลับคืนถิ่น ยิ่งทำให้มีแรงงานจำกัดในการจัดการสวน และโดยปกติเองการผลิตลำไยถูกผูกขาดและจัดการโดยล้ง ที่เข้ามาจัดการตั้งแต่การปลูก การผลิตและการบริหารจัดการตลาดที่ทำให้ชาวสวนลำไยไม่สามารถกำหนดราคาขายได้

ทางเลือก การผลิตลำไยในระบบเกษตรอินทรีย์
       ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวสวนลำไยต้องปรับระบบเคมีสู่ระบบการผลิตลำไยอินทรีย์ คือการได้รับผลกระทบด้านราคาตกต่ำจากที่มีล้งเข้ามาจัดการลำไยทั้งระบบ อีกทั้งผลผลิตลำไยไม่ได้ตรงตามเกรดคุณภาพสำหรับส่งออกหรือแม้กระทั่งการขายภายในประเทศ การเกิดโรคและแมลงระบาด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ฯลฯ อันเนื่องจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร
       ตัวอย่าง การจัดการแปลงลำไยอินทรีย์ของเกษตรกร คุณสมควร มาจันทร์ ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน สมควรมีเนื้อที่สวนประมาณ 30 ไร่ ซึ่งได้ปรับมาทำเกษตรอินทรีย์ และได้บทสรุปจากตัวเองว่า “ลำไยไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นผลพลอยได้เท่านั้น เพราะเน้นลำไยเพียงอย่างเดียวก็มีความเสี่ยงหลายด้านแม้ว่าทำในระบบอินทรีย์ก็ตาม” ในสวนลำไยเดิมนั้นปัจจุบันจึงมีพืชและสัตว์ผสมผสานลงไป ทั้งพืชสมุนไพร ผัก ข้าว กระเทียม ฯลฯ ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ ปลา ไก่ไข่ นอกจากนี้ได้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นาเพื่อจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี ส่วนการปรับปรุงบำรุงดินได้เอาเศษวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนในแปลงการผลิตร่วมกับการใช้มูลสัตว์มาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการทำนา ปลูกกระเทียม ฯลฯ

ภาพ แปลงลำไยอินทรีย์ของเกษตรกร นายสำควร มาจันทร์

       สำหรับคุณวรรณทิภา ปัญญาภรณ์ ชาวสวนลำไย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพื้นที่การผลิตมากกว่า 100 ไร่ ซึ่งเดิมปลูกลำไยในระบบเคมี แต่เมื่อประสบกับปัญหาการระบาดของเพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง รวมถึงการพึ่งพาตลาดผ่านล้งที่กำหนดราคาลำไยไม่สัมพันธ์กับต้นทุนทำให้เผชิญกับการขาดทุน และปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่จากการใช้สารเคมี จึงตัดสินใจปรับแปลงผลิตมาปลูกพืชผสมผสานที่มีการปลูกผัก กระเทียม สตรอเบอร์รี่ พืชสมุนไพร มีไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน ภายใต้หลักคิดหลักคิดในการพึ่งตัวเองเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ร่วมกับกลุ่ม/เครือข่าย โดยใช้วัสดุจากไร่นาเป็นหลัก ควบคู่กับการจัดการเก็บกักน้ำในสระเพื่อให้มีน้ำใช้ในแปลงการผลิตตลอดทำให้ปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก       
       วรรณทิภา พบว่า การปลูกพืชผสมผสานทำให้การระบาดของโรคและแมลงลดลง ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจำหน่ายเข้าสู่ตลาด fair trade ของ EU ที่จะมีรายการสั่งซื้อผลผลิตล่วงหน้า เพื่อให้สมาชิกกลุ่มวางแผนการผลิต นอกจากนั้นยังมีช่องทางตลาดทั้งในชุมชน และที่อื่นๆ ที่ทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญในครอบครัวมีความมั่นคงและเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย

ข้อเสนอแนะในการทำลำไยอินทรีย์       
       การปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมี โดยเฉพาะการปลูกลำไยเชิงเดี่ยวในพื้นที่ผืนใหญ่ เมื่อต้องการเลิกการใช้สารเคมีจึงไม่ได้เป็นเรื่องง่ายนัก สิ่งสำคัญต้องตั้งเป้าในการลด เลิก ละการใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด ต้องค้นคว้าศึกษาหาความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์และสร้างความหลากหลายของการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ร่วมกันในแปลง ต้องมีความขยันหมั่นเพียร ไม่รีบเร่งผลผลิตที่จะได้ ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อยกระดับและพัฒนาขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในชุมชน

การขับเคลื่อน ลำไยอินทรีย์ภายใต้เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ลำพูน
       เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ลำพูน ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการทำเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายและเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งมีการคิดค้นการแปรรูปและการจัดการตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะลำไย
       
ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการถอดบทเรียนกับเกษตรกรที่ปลูกลำไยอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรจะได้รับมาตรฐานรับรอง 2 รูปแบบคือ 1) การทำ MOU กับผู้ประกอบการที่แปลงการผลิตจะได้รับมาตรฐานรับรองจาก มกท. มอน. PGS และ EU ที่เข้ากลุ่มแฟร์เทรดร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อส่งลำไยที่มีคุณภาพ และ 2) การปลูกลำไยรอบๆ บ้านที่เป็นวิถีชาวบ้าน และไม่มีการใส่สารเคมี เป็นการปลูกตามธรรมชาติ
       
บทเรียนที่ได้จากการผลิตลำไยอินทรีย์ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน การเตรียมพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวและเทคนิคการจัดการลำไย และการตลาด โดยด้านตลาด พบว่าภายใต้การทำ MOU กับผู้ประกอบการทำให้ผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อโดยตรง ลำไยอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดแม้ว่าปี 2564 ราคาลำไยทั่วไป AA จะขายได้ 7-9 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม ในขณะที่ผู้บริโภคเอได้มีการสั่งจองล่วงหน้าซึ่งทำให้เห็นว่า ผู้บริโภคเห็นความสำคัญและคุณค่าของการบริโภคลำไยอินทรีย์ นอกจากนี้เกษตรกรสามารถขายตรงให้กับผู้บริโภคที่เข้ามารับซื้อในสวน หรือนำไปขายในตลาดท้องถิ่นและตลาดระดับจังหวัด 
       
อย่างไรก็ตาม การทำลำไยอินทรีย์ที่ผ่านมา มีข้อจำกัดเช่นกัน โดยเฉพาะไม่สามารถให้ลำไยออกผลผลิตตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภคได้ เนื่องจากไม่ได้มีการใช้สารโปแตสเซียมคอเรตที่เร่งให้เกิดดอกและเกิดผลผลิต ส่วนเรื่องการจัดการแรงงานในสวนลำไยปรากฏว่า ระบบอินทรีย์จะใช้ปรงงานมากกว่าระบบเคมี เนื่องจากอาศัยแรงงานในการจัดหญ้าและจัดการแปลง ที่สำคัญองค์ความรู้การทำลำไยอินทรีย์ ยังไม่แพร่หลายมากนัก เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการทำลำไยอินทรีย์ ส่วนการจัดการโรคแมลงได้มีเทคนิคการดักจับแมลงในแปลงโดยไม่นำทิ้งไว้ในสวน ดักจับโดยใช้กาว และสารเคมีบางชนิดที่ไม่ได้รุนแรงแต่ต้องเอาไปกำจัดและนำไปทิ้งที่อื่น รวมถึงการปรับปรุงบำรุงดินที่ได้มีการคิดค้นสูตรปุ๋ย และสารชีวภาพร่วมกับกลุ่ม

แนวทางในอนาคต       
       คุณกัลยา ใหญ่ประสาน เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ลำพูน ได้นำเสนอการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาและยกระดับลำไยคุณภาพในระดับจังหวัด โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาให้ความรู้การผลิตลำไยแบบมีคุณภาพให้กับเครือข่ายในพื้นที่ เนื่องด้วยแนวโน้มความต้องการลำไยคุณภาพและลำไยอัตลักษณ์ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าได้มากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานเบื้องต้นนั้นทางจังหวัดได้รับหลักการถึงทิศทางการขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่าย ผ่านโครงการวิจัยที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งจะเปิดให้เกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่เน้นคุณภาพผ่านลำไยอัตลักษณ์ หรือลำไยพื้นถิ่นนำร่องโครงการเข้ามาร่วมเป็นกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย พร้อมทั้งมีแผนการเชื่อมโยงสู่การยกระดับผลผลิตที่หลากหลายผลิตภัณฑ์ของลำไย เข้าสู่ช่องทางตลาดที่หลากหลายมากขึ้น เช่น รังนกในน้ำลำไย ชาดอกลำไย สครับขัดผิว อาหารสัตว์ ฯลฯ

ผู้ร่วมเสวนา
คุณวันเพ็ญ พรินทรากูล สถาบันวิจัยหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
คุณสมควร มาจันทร์ ชาวสวนลำไย ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน
คุณวรรณทิภา ปัญญาภรณ์ ชาวสวนลำไย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
คุณกัลยา ใหญ่ประสาน เครือข่ายเกษตรยั่งยืน ลำพูน