“เกษตรนิเวศในสวนยาง” คุณณฐา ชัยเพชร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสงขลา

จากงานมหกรรม กู้โลกเดือด : COP28 ภาคประชาชน “วิถีเกษตรนิเวศกับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมย่อย 401 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ บางช่วงบางตอนของเวทีสัมมนา “เกษตรนิเวศในสวนยาง” คุณณฐา ชัยเพชร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสงขลา ได้กล่าวว่า

พ.ศ. 2554 เกิดวิกฤตน้ำท่วมหาดใหญ่ ผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะคนเมืองแต่เกิดกับเกษตรกรในชุมชน และสวนยางพารา การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศการทำสวนยางเชิงเดี่ยวมียางอย่างเดียวไม่มีอาหารไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต พ.ศ. 2563 สวนยางเชิงเดี่ยวมีอัตราการยืนต้นตายที่รุนแรงขึ้นจากสถานการณ์โลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดปัญหา 1)ยางยืนต้นตาย 2)หน้ายางตายนึ่ง 3)โรคราก และ4)ยางใบร่วง จากเดิมผลัดใบปีละ 1 ครั้ง ปัจจุบันผลัดใบปีละ 2 ครั้ง

เกษตรกรปรับตัวโดยใช้วิถีเกษตรนิเวศในสวนยางหรือป่าร่วมยาง มี 2 ประเภท คือ 1)ป่าปล่อย ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการฟื้นฟูตนเอง พืชพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีอยู่เดิมในป่าความมั่นคงทางอาหารกลับมาจากที่ถูกทำลายช่วงทำสวนยางเชิงเดี่ยว สามารถดูแลคนในครอบครัวคนในชุมชนได้ และ2)ป่าปลูก อยากปลูกพืชแบบไหนก็ปลูก กาแฟ โกโก้ ไม้เศรษฐกิจต่างๆ เพราะพื้นที่ภาคใต้มีหลายประเภททั้งที่ราบ ที่เนิน ที่เขา ที่ร่องยาง พื้นที่นิเวศสวนยางปลูกพืชได้หลากหลายทั้งปลูกพืชเลื่อย ผัก สมุนไพร ผลไม้

ป่าร่วมยางสร้างเศรษฐกิจอย่างไร เกษตรนิเวศเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เกษตรกรคือ 1)มีรายได้เพิ่มจากสวนยาง จำหน่ายสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ผักเหมียง ผักหวานป่า ดาหลา ผักกูด ผักหนาม และผักกินยอดอีกหลายชนิด ที่ขึ้นตามพื้นที่สวนยาง เดิมมีรายได้จากยางอย่างเดียวปีละ 30,000 บาท เพราะฤดูฝนนานขึ้นวันกรีดลดลง รายได้จากผักเหมียงที่อยู่ในสวนยางปีละ 50,000 บาท ขายจากที่เหลือกินในครอบครัวแบ่งปันญาติพี่น้องและชุมชนเกษตรกรเกิดข้อเปรียบเทียบว่าพึ่งยางอย่างเดียวไม่ได้ 2)สามารถกรีดยางช่วงฤดูร้อนได้ เคยทดลองวัดอุณหภูมิสวนตอนกลางวันสวนยางเชิงเดี่ยว 33 องศา ป่าร่วมยาง 28 องศา 3)เนื้อหน้ายางงอกเร็วขึ้นและนิ่มถ้าปลูกยางเชิงเดี่ยวหน้ายางจะแข็ง และ4)ลดปัญหาโรคพืช ยางยืนต้นตาย หน้ายางตายนึ่ง โรครากและยางใบร่วงปีละ 1 ครั้ง