“ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” คุณปราณี มรรคนันท์ ตัวแทนสมาคมคนทาม ราศีไศล ศรีษะเกษ
จากงานมหกรรม กู้โลกเดือด : COP28 ภาคประชาชน “วิถีเกษตรนิเวศกับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมย่อย 401 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ บางช่วงบางตอนของเวทีสัมมนา “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” คุณปราณี มรรคนันท์ ตัวแทนสมาคมคนทาม ราศีไศล ศรีษะเกษ ได้กล่าวว่า
ในรอบ 44 ปี เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ท่วมพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย หลายชุมชนอพยพครอบครัว สัตว์เลี้ยง ข้าวในยุ้ง ขนย้ายขึ้นที่สูง ภูมิปัญญาเดิมที่เคยคาดคะเนปริมาณมวลน้ำใช้ไม่ได้ วิกฤต พ.ศ. 2565 พื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีชุมชนกว่า 200 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ทุกคนไม่มีข้าวกิน ทุกคนไม่ได้เกี่ยวข้าวแม้ซักต้นเดียว มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและเครือข่ายเกษตรทางเลือกจึงทำ “ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ขึ้น” เพื่อส่งต่อเมล็ดพันธุ์ให้พี่น้องเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบ สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ได้กว่า 1,000 ครัวเรือน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตนี้ 1)เขื่อน ชุมชนไม่สามารถจัดการและไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ปีไหนอยากกักเก็บน้ำไว้เยอะก็เป็นอำนาจของกรมชลประทาน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตได้การผลิตอยู่บนความเสี่ยง “ทำเผื่อได้กินตลอดเวลา” 2)การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและภูมิอากาศ ฤดูกาลคาดเคลื่อน
ในภาวะวิกฤตที่พื้นที่เสี่ยงและเปราะบางต่อภัยพิบัติจากเขื่อน การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและภูมิอากาศเช่นนี้ เกษตรกรเกิดการทบทวนว่าเราจะมีข้าวกินได้อย่างไร จะทำนาหนีน้ำท่วมได้อย่างไร พบว่า 1)ปรับช่วงเวลาปลูกข้าวที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว พื้นที่นิเวศทามดินมีความอุดมสมบูรณ์มีเพียงน้ำกับนาก็สามารถปลูกข้าวได้ เช่น ข้าวหอมสยาม ข้าวมะลิ 105 และกข 6 ที่หว่านไม่เกินเดือนธันวาคมสามารถให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมได้ 2)เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ พื้นที่ลุ่มต่ำมากน้ำจะลดช่วงมกราคม-มีนาคม ควรปลูกข้าวนาปลังช่วงนี้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย 1)การพัฒนาพันธุ์ข้าวและพัฒนาความรู้เกษตรกรให้เข้าใจเรื่องพันธุกรรม ข้าวเศรษฐกิจ ข้าวพื้นบ้าน ระยะเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นความรู้ในการวางแผนการปลูก 2)เกษตรกรเข้าใจระบบนิเวศในพื้นที่ พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่โคก จะใช้ข้าวพันธุ์ใดจึงเหมาะ/สอดคล้องกับพื้นที่นิเวศนั้น และ3)เกษตรกรเข้าถึงแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตและคาดการณ์ปริมาณน้ำได้
ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ≠ ปลูกข้าวเผื่อได้กินตลอดเวลา
วิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐาน #เขื่อน ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเอง เกษตรกรต้องจำนนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและตั้งรับปรับตัวให้ทันทวงทีเท่านั้น #อยู่รอดได้แม้ในวิกฤตโลกเดือด