“เกษตรนิเวศบนที่สูงกับการปรับตัว(สวนคนขี้เกียจ)” คุณศิวกร โอ่โดเชา ตัวแทนเกษตรกรลุ่มน้ำวาง เชียงใหม่

จากงานมหกรรม กู้โลกเดือด : COP28 ภาคประชาชน “วิถีเกษตรนิเวศกับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมย่อย 401 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ บางช่วงบางตอนของเวทีสัมมนา “เกษตรนิเวศบนที่สูงกับการปรับตัว(สวนคนขี้เกียจ)” คุณศิวกร โอ่โดเชา ตัวแทนเกษตรกรลุ่มน้ำวาง เชียงใหม่ ได้กล่าวว่า

ทำเกษตรแบบปกาเกอะญอมีต้นทุนธรรมชาติที่สำคัญคือ ป่า สัตว์ป่าเข้ามาทำให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีงานวิจัยรองรับว่าการเผาไร่หมุนเวียนที่ถูกวิธีสร้างคาร์บอนไดออกไซต์ในอากาศเท่ากับศูนย์ คนแบบปกาเกอะญอเชื่อว่าการอยู่ที่เดิมนานนานทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรม ต้องเวียนเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ จะทำให้ระบบนิเวศมีเวลาฟื้นฟูตัวเอง

สวนคนขี้เกียจแบบวิถีปกาเกอะญอเกิดจากการเคารพธรรมชาติ การไม่รีบเร่ง เริ่มจากสิ่งเล็กๆ การเรียนรู้และสังเกต การเฝ้ารอ การไว้วางใจ และการเก็บเกี่ยวความสุขจากธรรมชาติ บรรพบุรุษสอนลูกหลานเสมอว่า “ปลูกพืชอาหารเก็บเอาไว้ 30 ชนิด ถึงแร้นแค้นเราก็มีกิน” ในสวนฯ มีพืชกว่า 70 ชนิด มีอาหารให้เก็บกินตลอดปี คนเป็นผู้ที่แพร่ความหลากหลายได้ดีมาก รายได้หลักของสวนคือการขายกาแฟจากภาวะโลกร้อนการปลูกกาแฟกลางแดดจะทำให้ต้นไม่สมบูรณ์และมีโรคพืช ส่วนการปลูกกาแฟในร่มสวนคนขี้เกียจผลผลิตไม่มากแต่มีผลผลิตตลอดและไม่มีโรคพืช

เกษตรนิเวศบนที่สูงกับการปรับตัวภายในสวนคนขี้เกียจ 1)การปลูกข้าวตามแบบไร่คือพี่นาคือน้อง ข้าวไร่ปลูกที่นาได้แต่ข้าวนาปลูกที่ไร่ไม่ได้ 2)การสร้างบ่อที่เลี้ยงเฉพาะปลาพื้นถิ่นและการปลูกพืชท้องถิ่นที่หลายหลากเพื่อสร้างระบบนิเวศภายในสวนนำมาสู่ความมั่นคงทางอาหาร 3)สวนคนขี้เกียจต้องปลูกพืชอาหารเก็บเอาไว้อย่างน้อย 30 ชนิด และ4)การปลูกกาแฟใต้ร่มเงา เนื่องจากการปลูกกาแฟกลางแดดทำให้ต้นกาแฟเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ การปลูกใต้ร่มไม้พืชสามารถเกื้อกูลกันและให้ผลผลิตได้ดีกว่าผลผลิตอาจไม่มากแต่ไม่เสี่ยงเรื่องโรคพืช

          ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  1. ภาครัฐควรสนับสนุนวิถีการทำเกษตรแบบชนพื้นเมือง ไร่หมุนเวียนปลูกและเปลี่ยนพื้นที่เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตนเอง ไม่ลดคุณค่าและให้ความสำคัญวิถีการทำเกษตรแบบชนพื้นเมือง ไม่สนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและได้กรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่
  2. ภาครัฐสนับสนุนชาวบ้านที่สร้างพื้นเกษตรที่มีความหลากหลายให้ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน ใครทำลายความหลายหลากในธรรมชาติต้องมีมาตรการชดใช้ที่เป็นธรรม
  3. ภาครัฐส่งเสริมภูมิปัญญาการทำกินกับธรรมชาติอย่างสันติในการดูแลธรรมชาติเพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงในที่ทำกิน

การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์คือการเพิ่มพูนเมล็ดพันธุ์ การเก็บเกี่ยวคือความรัก การแบ่งปัน ต่อเพื่อนร่วมโลกต่อไปในอนาคต เมื่อเราให้เวลาธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ความหลากหลายจะเกิดขึ้น อย่าหลงไปกับกลมายาของนักการเมืองกว่าของจริงที่เป็นข้าวปลาอาหาร