ปรับอย่างไรให้รอด ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง กับ ณฐา ชัยเพชร เกษตรกรชาวสวนยาง แห่งอ.เทพา จ.สงขลา (ตอนที่ 1)
ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม การศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่เกษตรกรต้องเผชิญนั้น ทำให้เกษตรกรแต่ละพื้นที่ต่างก็ต้องหาหลากรูปแบบหลายวิธีในการปรับตัว เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ณฐา ชัยเพชร หรือพี่จ๋า ถือเป็นหนึ่งในเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ที่ลุกขึ้นมาเรียนรู้ และมีวิธีการปรับตัว และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ
เส้นทางการเปลี่ยนแปลง
ณฐา ชัยเพชร หรือ พี่จ๋า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ผู้ถือกำเนิดในอ.สะบ้าย้อย และมาเติบโตที่ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา เริ่มต้นชีวิตเกษตรกร กรีดยางมาตั้งแต่อายุ 13 ปี พี่จ๋าเล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิต และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า เมื่อก่อนตัวเองเป็นเกษตรกร ที่ทำอาชีพไปตามที่พ่อแม่ทำมา และก็ทำตามที่นโยบายลงมาส่งเสริม คือเน้นปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่ดินที่มีอยู่จากที่เคยปลูกผสมผสาน ก็เปลี่ยนมาปลูกยางพารา เป็นพืชเชิงเดี่ยว ใช้ปุ๋ย ใช้ยาเคมี เต็มรูปแบบ จนตัวเองล้มป่วย ตอนนั้นเป็นโรคไทรอยด์ ต้องกินยาเยอะมาก และก็ตามมาด้วยสารพัดโรค ทั้งไมเกรน ภูมิแพ้ ไซนัส กระเพาะ ริดสีดวง กล้ามเนื้อ
นับเป็นความโชคดี ที่พี่จ๋า มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโลกภายนอก ได้รู้จักกับเพื่อนในเครือข่ายเกษตรทางเลือกมากมาย ทำให้มีความรู้ทั้งเรื่องจุลินทรีย์ เรื่องต้นไม้ พืชผัก สมุนไพร รวมไปถึงเรื่องพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ตลอดจนการทำเกษตรกรแบบยั่งยืนมากขึ้น และเมื่อได้รับความรู้มา พี่จ๋าก็นำมาทดลอง และปรับใช้ในพื้นที่ตัวเองเสมอมา
พี่จ๋า เล่าว่า ตอนแรก ก็เริ่มจากนำต้นไม้ต่างๆมาปลูกเป็นแนวเขต รอบสวนยางของตัวเอง และก็นำพันธุ์ไม้มาปลูกที่สวนหลังบ้าน ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการเลิกใช้ปุ๋ยและยาเคมี แล้วหันมาทำพวกน้ำหมักจุลินทรีย์ และหมักปุ๋ยใช้เอง เมื่อเริ่มเห็นว่าต้นไม้ต่างๆที่ตัวเองปลูกกลายเป็นป่า ที่ตามมาด้วยพืชผักหลากหลายชนิดที่ขึ้นมาเอง หลายอย่างก็เก็บเอามาแกงส้ม แกงเลียงกินได้ ก็เริ่มเห็นประโยชน์ของการปลูกต้นไม้เหล่านี้ในบริเวณสวนยางมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าอุณหภูมิในแปลงของตัวเอง ยังร้อนน้อยกว่าแปลงอื่นที่เป็นสวนยางอย่างเดียว แม้ว่าจะอยู่ในบริเวณใกล้กันก็ตาม จากที่เริ่มปลูกแค่เป็นแนวเขต พี่จ๋าก็เลยเริ่มหาพืชพันธุ์ที่ตัวเองชอบและสามารถเก็บขายได้มาปลูกเสริมในสวนยาง ในขณะเดียวกัน ก็ปล่อยให้พืชพันธุ์พื้นถิ่นที่ขึ้นเองเติบโตในแปลงยาง เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นคืนระบบนิเวศน์ขึ้นมาด้วย โดยจะถางก็แค่ตรงบริเวณทางเดินที่ใช้ในการกรีดยางเท่านั้น
เมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนสวนยางพาราของพี่จ๋า ก็พบว่า ที่แห่งนี้คือป่าอย่างแท้จริง มีพืชพันธุ์หลากหลายชนิดมาก ที่พี่จ๋าคอยชี้ให้ดู พร้อมบอกสรรพคุณของพืชแต่ละชนิดได้แทบจะทุกย่างก้าวที่เดินเข้าไป
พี่จ๋าอธิบาย ถึงระบบการปลูกพืชร่วมยางที่ตัวเองทำให้ฟังว่า รูปแบบที่ทำเรียกว่าทำป่าปลูก คือ ปลูกพืชผักผลไม้ ที่สามารถเก็บขายได้ เช่นทุเรียน มังคุด กาแฟ โกโก้ ส้มแขก สะตอ จำปุริง ใบเหมียง พืชสมุนไพรต่างๆ รวมถึงพืชสำหรับใช้สอย อย่างตะเคียน ยางนา กระถินเทพา ส่วนที่ปล่อยให้ขึ้นเองนั้น เรียกว่าป่าปล่อย ซึ่งหากเราได้เรียนรู้ ทำความรู้จักกับพืชพื้นถิ่นเหล่านั้น ก็จะพบว่า มีพืชจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ไม่รู้ประโยชน์ของมัน และก็ไม่รู้วิธีนำมาใช้ ก็เลยโค่นถางทิ้งอย่างน่าเสียดาย
พี่จ๋าเริ่มปลูกป่าในสวนยางมาตั้งแต่ปี 2548 กว่าจะมาถึงวันนี้ ก็ต้องเผชิญกับคำพูดของทั้งคนในครอบครัว และผู้คนในชุมชน ที่หาว่า “บ้า” มาไม่น้อย จนเกือบทำให้ท้อ และถอดใจ
เมื่อถามว่าอะไรทำให้ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ พี่จ๋าก็เล่าว่า ตอนนี้เครียดมาก คิดมาก นอนไม่หลับ แต่เมื่อได้ฟังคำของผู้เป็นคู่ชีวิต พูดว่า “คิดมากทำไม คนอื่นเขาทำหรือยัง ที่มาว่าเรา และบอกว่าจะไม่ได้ผล” พี่จ๋าบอกว่า พอฟังก็คิดได้ และก็ตั้งใจมุ่งมั่นว่าจะลองทำดูว่าผลจะเป็นอย่างไร
นับตั้งแต่วันนั้น พี่จ๋าก็เลิกสนใจฟังคำคนอื่น และตั้งหน้าตั้งตาลงมือทำ จนพืชพันธุ์ต่างๆเริ่มเติบโต และเห็นผล แม้แต่ผู้เป็นพ่อ ที่ตอนแรกก็ขัดขวาง บ่นว่าตลอด ก็เริ่มตระหนักถึงประโยชน์ และก็กลายเป็นคนที่ช่วยเชื้อเชิญให้คนอื่นทำตาม
พี่จ๋าบอกว่า อันที่จริงวิถีเดิมของพ่อ ก็เคยทำกันมาแบบนี้ แต่พอรัฐเข้ามาส่งเสริม ให้ความรู้ เรื่องพืชเศรษฐกิจ ก็หันไปทำตามจนหลงลืมวิถีเดิมของตัวเอง
จากวันนั้นถึงวันนี้ พี่จ๋าก็ยืนหยัดอย่างมั่นคงบนเส้นทางการปลูกพืชร่วมยาง สามารถเก็บผลผลิต สร้างรายได้ให้กับตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอ พี่จ๋ายกตัวอย่างการเก็บข้อมูลรายได้โดยเฉลี่ยให้ฟังว่า จากเดิมเคยได้รายได้จากการกรีดยาง 30,000 บาทต่อปี ก็มีรายได้จากผักเหมียง ซึ่งพี่จ๋าเก็บขายทั้งใบ ขายทั้งไหล และเมล็ดพันธุ์ รวมแล้วปีละประมาณ 50,000 บาทเลยทีเดียว ยังไม่นับผลไม้ป่า และพืชผักสมุนไพรอื่นๆ รวมถึงชันตะเคียน ซึ่งเก็บได้จากต้นตะเคียนที่ปลูกไว้ เรียกได้ว่า แม้จะมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สามารถกรีดยางได้ลดน้อยลงมาก แต่ความหลากหลายในสวนยาง ก็ช่วยให้พี่จ๋าสามารถปรับตัว และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ในขณะเดียวกัน นอกจากการปลูกพืชร่วมยาง ทำเป็นสวนป่าอย่างที่พี่จ๋าบอก จะช่วยสร้างความหลากหลายแล้ว ยังพบว่ามีผลดีต่อต้นยางเองด้วย พี่จ๋าเล่าว่า ปัญหาเรื่องโรคยางพารา ที่คนอื่นเผชิญ โดยเฉพาะโรคใบร่วง ที่ฝนมาเยอะ ก็ร่วง เข้าฤดูใบไม้ร่วง ใบก็ร่วม พอเดือนมีนาคม เมษายน ใบยังไม่ทันแก่ ฝนมาอีก ใบก็ร่วงอีก ทำให้ยางโทรมนั้น หลังจากปลูกพืชร่วมยาง ทำเป็นเป็นป่ายางนั้น ใบยางก็สมบูรณ์มาก มีโรคมันก็กระจาย ไม่ไปอยู่ที่ยางอย่างเดียว บางทีพืชอย่างสะเดาก็ช่วยกำจัดเชื้อราได้ด้วย นอกจากใบไม่ร่วงแล้ว ยังได้น้ำยางคุณภาพดีกว่าเก่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์ประกอบอันเป็นปัจจัยเงื่อนไขสำคัญและน่าสนใจ ควรค่าแก่การเรียนรู้ในการทำเกษตรจากพี่จ๋าอีกมาก ชวนให้ติดตามอ่านกันตอนต่อไปนะคะ