เกษตรรุ่นใหม่ผู้หยัดยืนบนผืนแผ่นดินบ้านเกิด
นิตญา วรรณจิต หรือ “นางน้อย” เกษตรกรหญิง อายุ 43 ปี สมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านยานาง-โนนแต้ ต.เพ็กใหญ่ อ.พล จ.ขอนแก่น เป็นตัวอย่างของเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่ผู้หยัดยืนอยู่กับแผ่นดินบ้านเกิด ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ภูมิหลังการทำเกษตร
นางน้อยเติบโตในครอบครัวชาวนา ตั้งแต่เด็กได้ช่วยงานพ่อแม่ทำงานในไร่นามาโดยตลอด จนเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอไม่ได้ศึกษาต่อและได้ทำงานเป็นอาสาสมัครเกษตรยั่งยืน ของโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ในพื้นที่อำเภอพล ทำได้ 3 ปี ก็ขอลาออกและไปทำงานโรงงานทำขนมที่สมุทรสาคร 2 ปี จากนั้นจึงลาออกจากโรงงานและกลับมาทำการเกษตรอยู่กับพ่อแม่ นางน้อยกล่าวถึงการตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านว่า “ชอบอยู่ที่บ้านไม่อยากไปไหน คิดว่าคนแต่ก่อนอยู่ได้ เราก็น่าจะอยู่ได้”
เมื่อแต่งงานแล้ว นางน้อยและสามีได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเธอ และช่วยกันทำการเกษตรบนที่ดิน 10 ไร่ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ พื้นที่ 10 ไร่นี้ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปีและแบ่งพื้นที่บางส่วนสำหรับปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงวัว นอกจากนี้ นางน้อยได้ทำการปลูกผักในพื้นที่แปลงรวมของกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านยานางโนนแต้ โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 งาน (400 ตารางเมตร) ปลูกผักหมุนเวียนตลอดปี ผลผลิตผักที่ได้จะนำไปขายที่ตลาดในอำเภอพลสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตลอดปี นางน้อยมองว่าความมั่นคงในการดำรงชีพของครอบครัวขึ้นอยู่กับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค การปลูกและขายผัก ขณะการการเลี้ยงวัวเป็นเสมือนเงินออมที่ไว้ใช้ในยามจำเป็น
“รายได้หลักมาจากการปลูกผัก ไม่ได้ไปทำงานรับจ้างอื่นๆ รายได้จากการขายข้าวก็จะแบ่งใช้หนี้และเป็นค่าไถ ค่าเกี่ยว และได้กิน การปลูกข้าวเป็นเรื่องอาหาร แต่เรื่องค่าใช้จ่ายจิปาถะ ค่าใช้จ่ายให้ลูกไปโรงเรียน ได้จากผัก” นางน้อยเล่า
ความเท่าเทียมทางเพศ
นางน้อยและสามีต่างก็ช่วยเหลือกันในการทำงานบ้าน การดูแลลูก การทำเกษตรและการไปตลาดขายผัก สามีจะช่วยทำงานทุกอย่าง โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เช่น การใช้จอบยกแปลงปลูกผักและการหว่านข้าวซึ่งเมล็ดข้าวมีน้ำหนักมากต้องออกแรงมาก ส่วนงานอื่นๆ เช่น การทำกับข้าว การทำงานบ้าน การดูแลพืชผักและข้าว ก็ช่วยกันทำ ไม่มีการแบ่งแยกกันว่างานนี้เป็นของผู้หญิงหรือผู้ชาย นางน้อยกล่าวถึงสามีว่า
“แฟนพื้นเพไม่ใช่คนอีสาน แต่ก็ชอบทำเกษตรกร เกิดปีเดียวกันอายุเท่ากัน การทำงานจึงเป็นเหมือนเพื่อนกัน ปรึกษาหารือกันและช่วยกันทำงาน”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อได้เรียนรู้การปรับตัว
บทเรียนจากตอนทำงานอาสาสมัครเกษตรยั่งยืน ทำให้นางน้อยเลือกทำการปลูกผักแบบปลอดสารพิษ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้บริโภค ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรในการเพาะปลูก ใช้ปุ๋ยคอกในการบำรุงดิน เน้นการปลูกผักตามฤดูกาล โดยส่วนมากจะปลูกผักในฤดูหนาว ฤดูร้อนจะลดการปลูกผักลง เลือกปลูกเฉพาะผักที่ทนทานอากาศร้อนและแมลงศัตรูพืช เช่น กะเพรา และแมงลัก ส่วนฤดูฝนมีปัญหาน้ำท่วมขังแปลงเพาะปลูกจึงทำให้ปลูกผักได้น้อย และที่ผ่านมาเกิดปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้การปลูกผักในแต่ละปีได้ผลผลิตไม่ดีนัก
นางน้อยได้เรียนรู้จากโครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน ที่ได้สนับสนุนให้เธอและสมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านยานางโนนแต้ค้นหาวิธีการปรับตัวที่เหมาะสมกับตนเองและสภาพอากาศ เช่น การปรับเวลาการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจากแสงแดด การปรับพื้นที่แปลงเพาะปลูกให้สามารถปลูกผักได้ตลอดปี การคัดเลือกพันธุ์ผักที่เหมาะสมกับฤดูกาล การเก็บเมล็ดพันธุ์ผักเองเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และทนทานต่อสภาพอากาศ เป็นต้น การเรียนรู้นี้ช่วยเสริมศักยภาพในการผลิตผักให้กับนางน้อยและสมาชิกในกลุ่มมากขึ้น
บทบาทของผู้หญิง : เกษตรกร แม่ค้าและแม่บ้าน
การที่นางน้อยสามารถหยัดยืนทำการเกษตรอย่างพออยู่พอกินและมีกินมีใช้ เนื่องจากเธอได้เข้าร่วมกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านยานางโนนแต้ กลุ่มมีการรวมพลังช่วยเหลือกัน แลกเปลี่ยนความรู้กันและสมาชิกให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของกลุ่มอย่างเข้มแข็ง นางน้อยมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหรัญญิกของกลุ่ม ช่วยดูแลเรื่องการออมทรัพย์และการกู้ยืมเงินของสมาชิก ช่วยให้สมาชิก 28 รายมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อการผลิตในแต่ละปี เธอได้รับการยอมรับจากสมาชิกกลุ่มและคนในชุมชนว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยสานต่อการดำเนินงานของกลุ่มให้ยั่งยืน
การหยัดยืนของนางน้อยแสดงให้เห็นถึงภาพความสำเร็จของผู้หญิงในชนบทที่สามารถสร้างความมั่นคงด้านรายได้และความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัว และช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของเกษตรกรในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
“การรวมกลุ่มปลูกผักทำให้มีอาหารกิน มีรายได้ มีเงินใช้สอยไม่ขัดสน โดยไม่ต้องอพยพแรงงานไปทำงานที่อื่นๆ” นางน้อยเล่า