ปรับตัวการผลิตอย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน

พื้นที่อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นพื้นที่ชายขอบของทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีบริบทพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง บางช่วงทิ้งช่วงไปนาน หรือไม่ก็แล้งไปทั้งปีก็มี อย่างเช่นรอบการผลิตปี 60/61 พี่น้องเกษตรกรในแถวพื้นที่กุลาร้องไห้ทั้งหมดประสบปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงที่ไม่เคยมีในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่กระทบกับการผลิต ทำให้น้องเกษตรกรในพื้นที่มีปัญหาในการทำการเกษตรพอสมควรทั้งการปลูกข้าวและพืชผัก จากข้อจำกัดในการผลิตที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีการปรับตัวให้เข้ากับภาวะฝนทิ้งช่วง โดยบางพื้นที่ได้พยายามหาพันธุ์พืช พันธุ์ข้าวที่มีความทนแล้ง ให้ผลผลิตไว หรือข้าวอายุสั้นมาปลูกในไร่นาของตนเองมากขึ้น

บทบาทของศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน

ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านของอำเภอปทุมรัตน์ มีบทบาทสำคัญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืช รวมถึงการขยายองค์ความรู้เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นองค์รู้ที่ทางศูนย์ฯ ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้นำไปปรับใช้ให้เข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี นอกจากการผลิตเมล็ดพันธุ์แล้วทางทางศูนย์ฯ ได้คำนึงถึงความสำคัญในการจัดการด้านการตลาดผลผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ “การตลาดนำการผลิต” เป็นหลักการที่สำคัญในการหนุนเสริมสร้างรายได้จากการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรได้เข้าถึงตลาดที่หลากหลาย ทั้งตลาดเขียว ตลาดเกษตรกร ตลาดปลอดภัย ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดี

จากสถานภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน ที่บางช่วงทิ้งช่วงไปนานนั้น ทำให้พี่น้องเกษตรกรจำเป็นต้องหาประสบการณ์และองค์ความรู้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นหารูปแบบในการจัดการน้ำให้มีเพียงพอในการผลิตเพราะว่าส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการประชุมหารือร่วมกันเดือนละ 1-2 ในการทำความเข้าใจถึงวิถีการดำรงชีพ รูปแบบปัญหาที่เผชิญและมีการปรับตัวของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นอย่างไรภายใต้สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในระดับชุมชนที่มุ่งให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและสร้างเสริมความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรในระดับพื้นที่

อ้างอิง www.sathai.org

หน้า: 1 2