พื้นที่ดำเนินงานของโครงการ CSA

พื้นที่ ตำบลบ้านขาม  อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

           ตำบลบ้านขามมีพื้นที่ 27,291 ร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ ระบบนิเวศบุ่งทามในลุ่มน้ำพอง และมีที่ดอนบางส่วน แบ่งการปกครองเป็น 16 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 2,589 ครัวเรือน ประชากร 9,412 คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำการปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง  และเลี้ยงสัตว์  มีปัญหาดินเค็มและน้ำใต้ดินเค็ม การทำเกษตรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

           ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลให้พื้นที่ตำบลมีความเสี่ยงจากทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยในปี 2554 และ 2560 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้ข้าว พืชผลอื่นๆเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ปี พ.ศ. 2562  เกิดภาวะแห้งแล้งจนผลผลิตข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก  เมื่อต้องเผชิญกับทั้งปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้ง เกษตรกรพยายามปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ได้  โดยในปีที่น้ำท่วมจะทำการจับปลาที่มากับน้ำเพื่อบริโภคและขาย และในปีที่แห้งแล้งก็จะมีการทำเกษตรผสมผสานทั้งเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู และปลูกผักเพิ่มขึ้น  เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและผันผวนของสภาพภูมิอากาศ

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลบ้านขาม

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาม

http://bankham-kk.go.th/bankham/


พื้นที่ตำบลเพ็กใหญ่  อำเภอพล  จังหวัดขอนแก่น 

           ตำบลเพ็กใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ป่าและป่าชุมชน และหนองน้ำขนาดใหญ่และเล็กกระจายอยู่ทั่วตำบล มีระะบบนิเวศที่หลากหลาย  ทั้งที่ดอน และที่ราบ และที่ลุ่ม ชาวบ้านในตำบลส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด และโคเนื้อ และบางส่วนมีการปลูกพืชผัก ตำบลเพ็กใหญ่มีพื้นที่ 24,650 ไร่ ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน มีประชากร 7,000 คน และ 2,091 ครัวเรือน การทำเกษตรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

           พื้นที่ตำบลเพ็กใหญ่เผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในลักษณะความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้น และเกิดภัยแล้งมาต่อเนื่อง  ทำให้ไม่ได้ผลผลิตข้าวเท่าที่ควร  เกษตรกรมีการรวมตัวกันทำเรื่องข้าวอินทรีย์และการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน  เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองในด้านพันธุ์ข้าว เกษตกรบางกลุ่มมีการรวมกลุ่มปลูกผักและข้าวไปขายในตลาดเขียวที่อำเภอพล แต่ผลผลิตยังมีไม่มากนักเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลเพ็กใหญ่

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลเพ็กใหญ่

https://www.pekyai.org/index.php


พื้นที่ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

           ตำบลทมอมีพื้นที่ประมาณ 40,081 ไร่ แบ่งออกเป็น 13  หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 1,777 ครัวเรือน ประชากร  6,561 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา สภาพพื้นที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มต่ำบางส่วนที่ติดกับลำน้ำธรรมชาติ ระบบนิเวศเป็นที่ราบทุ่งนาข้าวและมีที่ราบลุ่มต่ำในลุ่มน้ำลำห้วยแสนง มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าชุมชนอยู่จำนวนหนึ่ง พืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนได้แก่ ข้าว การปลูกพืชหลังนา การเลี้ยงสัตว์ มีระบบการผลิตแบบอินทรีย์ทั้งพืช สัตว์ และประมง การทำเกษตรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

           ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือ การตกของฝนแปรปรวน ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ฝนตกหนักในระยะเวลาสั้นๆ หลักจากนั้นฝนทิ้งช่วงไม่ตกติดต่อกันหลายวัน จนเกิดความแห้งแล้ง ส่งผลให้พืชที่เกษตรกรเพาะปลูกไว้ขาดน้ำ ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ในอดีตชุมชนเคยมีระบบการจัดการน้ำแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ลำรางสาธารณะ เหมือง ฝาย ที่มีส่วนช่วยทดน้ำ ชะลอน้ำ และส่งน้ำจากลำห้วยหลักเข้าสู่ไร่นาได้เป็นวงกว้าง แต่ในปัจจุบันระบบการจัดการน้ำแบบภูมิปัญญาดังกล่าวสูญหายและถูกละเลย และยังพบว่าลำรางสาธารณะถูกทับถมมีสภาพตื้นเขินและบางแห่งถูกถมเป็นถนน อีกทั้งในบางพื้นที่แหล่งน้ำใต้ดินมีลักษณะเป็นแอ่งลมไม่มีน้ำใต้ดินในแอ่งนั้น

           ปัจจุบันชุมชนมีการรวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์ในหลายหมู่บ้าน มีเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 300 ครอบครัว  ทั้งยังมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กรรมพื้นบ้าน ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในการพึ่งตนเอง

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลทมอ

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลทมอ

http://www.thamo.go.th/


พื้นที่ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

           ตำบลวังดาลมีพื้นที่ 24,006 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงสลับกับที่ลุ่ม และบางส่วนเป็นที่ราบลุ่มสลับสันดอน มีคลองและแม่น้ำไหลผ่าน แบ่งการปกครองเป็น 16 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 2,376 ครัวเรือน ประชากร ประชากร 7,608 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวนผักและสวนผลไม้ เช่น ปลูกทุเรียนและเงาะ 

           ตำบลวังดาลมีแหล่งน้ำที่สำคัญคือลำห้วยและหนองน้ำขนาดใหญ่หลายแหล่ง  แต่มีข้อจำกัดในการส่งและกระจายน้ำให้ไปถึงฟาร์มของเกษตรกรอย่างทั่วถึง มีพื้นที่ชลประทานเพียงบางส่วน ปัจจุบันเกิดปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฝนตกน้อยกว่าปกติ และฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน  ทำให้พืชผลทั้งนาข้าว พืชผักและไม้ผลได้รับผลกระทบ ผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ยังพบปัญหาอุณหภูมิสูงมากในช่วงฤดูร้อน ทำให้ทุเรียนติดผลน้อย และเกิดปัญหาผลอ่อนทุเรียนร่วง เกษตรกรตำบลวังดาลมีการรวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 74 ครอบครัว ทำการปลูกผักและผลไม้อินทรีย์ มีการวางแผนจัดการน้ำในฟาร์มเพื่อรับมือกับสภาพฝนแปรปรวน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลวังดาล

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลวังดาล

http://www.wangdan.go.th/


ตำบลบุพราหมณ์  อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

           ตำบลบุพราหมณ์ มีพื้นที่ 253,750  ไร่  อยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน  ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา  แบ่งการปกครองเป็น 10 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 3,205 ครัวเรือน  มีจำนวนประชากร  8,967 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวนผลไม้  ปลูกผัก และรับจ้างในเขตนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ใกล้เคียงและในเขตอื่นๆ

           สภาพอากาศแปรปรวนที่เกษตรกรเผชิญคือ ปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฝนตกน้อยในฤดูฝน ขณะที่ฤดูร้อนมีปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติน้ำ เช่น ลำน้ำสาธารณะมีน้ำน้อย ขณะที่แหล่งน้ำที่เกษตรกรสร้างขึ้น เช่น สระน้ำและบ่อบาดาลก็มีน้ำน้อยไม่พอกับการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังพบปัญหาลมแรงมากในช่วงฤดูหนาวจนทำให้ไม้ผลล้มเสียหาย และพบการระบาดของโรคแมลงในไม้ผลมากขึ้น เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำเกษตรอินทรีย์และหาทางจัดการน้ำเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลบุพราหมณ์

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลบุพราหมณ์

http://www.bupram.go.th/


พื้นที่ตำบลสระขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

           ตำบลสระขวัญลักษณะภูมิประเทศและนิเวศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มและมีที่ดอนบางส่วน  มีคลองพระสะทึงซึ่งเป็นคลองธรรมชาติไหลผ่าน แบ่งการปกครองออกเป็น 21 หมู่บ้าน ประชากร 17,008 คน มีจำนวนครัวเรือน 5,659 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดและพืชผักสวนครัว พื้นที่เกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก

           ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกษตรกรต้องเผชิญ คือ ปัญหาปริมาณน้ำฝนแปรปรวน ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้เกษตรกรมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งสูง ทั้งความแห้งแล้งเพราะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน  และความแห้งแล้งรุนแรงในฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการรับมือปัญหาภัยแล้ง ปัจจุบันมีการริเริ่มทำเกษตรอินทรีย์และการทำนาแปลงใหญ่โดยการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่วยลดการเผาฟางและใช้พันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง เป็นต้น

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลสระขวัญ

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลสระขวัญ

https://www.sa-kwan.go.th/


พื้นที่ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

           ตำบลนาขามีพื้นที่ประมาณ 50,877 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับเนินเขาเล็กน้อยและภูเขาสูง พื้นที่ตำบลบางส่วนติดกับเขตป่าธรรมชาติ  ตำบลนาขาแบ่งการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน 3,583 ครัวเรือน ประชากร 8,547 คน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกไม้ผล ได้แก่ มังคุด ทุเรียนและเงาะ และมีการทำสวนพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปาล์มน้ำมันและยางพารา

           ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้แก่ ปัญหาการตกของฝนแปรปรวน ไม่สม่ำเสมอตามฤดูกาล เกิดปัญหาฝนตกหนักในระยะเวลาสั้น และฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาน้ำหลากท่วมอย่างรวดเร็วในพื้นที่ราบของบางหมู่บ้าน ขณะที่ปัญหาฝนทิ้งช่วงนานทำให้พืชผลขาดน้ำไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลนาขา

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลนาขา

https://www.nakha.go.th/index.php


พื้นที่ตำบลชุมโค  อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

           ตำบลชุมโคมีพื้นที่ 123,125 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงสลับกับเนินเขา และพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล มีระบบนิเวศที่หลากหลายตั้งแต่ที่ราบ ที่ดอน และชายฝั่ง ตำบลชุมโคประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน  มีประชากร 1,896 ครัวเรือน 9,537 คน  ประชาชนในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำการเพาะปลูกปาล์ม  ยางพารา  ไม้ผล  และมะพร้าว และบางส่วนทำประมงพื้นบ้าน  พื้นที่เกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก

           ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่ คือ สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ทั้งอุณหภูมิที่ร้อนมากขึ้นกว่าปกติ  ลมพายุรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั้งปาล์มน้ำมัน  มะพร้าว ผลไม้ และยางพารา ประกอบกับปัจจุบันมีปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ  ทำให้เกษตรกรสนใจหาทางเลือกในการปรับตัว ภายใต้วิกฤตอันเกิดจากเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 

           เกษตรกรในตำบลชุมโคมีความร่วมมือกับนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์  จังหวัดชุมพร ในการทดลองเพาะปลูกข้าวไร่และการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลชุมโค 

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลชุมโค 

https://www.chumco.go.th/office.php


พื้นที่ตำบลวังใหญ่  อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

           ตำบลวังใหญ่มีพื้นที่ 124, 733 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงเชิงเขา มีระบบนิเวศหลากหลาย ทั้งที่ลุ่ม  ที่ดอน  และพื้นที่ราบเชิงเขา  แบ่งการปกครองเป็น 8 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 2,432 ครัวเรือน ประชากร 7,029 คน  โดยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  เช่น การปลูกข้าวไร่  การทำนา  ยางพารา  และผลไม้ในลักษณะเป็นสวนผสมผสาน ไม้ผลที่สำคัญได้แก่  มังคุด ทุเรียน  ลองกอง  เป็นต้น พื้นที่เกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก

           ชุมชนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในลักษณะของสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งสภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงและฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาดำและข้าวไร่เสียหาย  ไม้ผล เช่น ทุเรียนขาดน้ำจนเกิดปัญหาดอกร่วง ไม่ได้ผลผลิต ส่วนยางพาราให้น้ำยางน้อยและคุณภาพน้ำยางลดลง  นอกจากนี้สภาวะอากาศแปรปรวนยังส่งผลทำให้เกิดโรคแมลงศัตรูพืชระบาดมากขึ้น ทั้งในสวนไม้ผล  นาข้าวและข้าวไร่ ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีการเกษตรมากขึ้น

           ชุมชนมีการรวมกลุ่มที่หลากหลายในตำบลและเขื่อมโยงกับสภาองค์กรชุมชนตำบลวังใหญ่   มีฐานการขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ  การปลูกข้าวไร่  การรักษาเมล็ดพันธุ์  และมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร  และมีความสนใจที่จะเรียนรู้และแก้ไขปัญหาอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กำลังรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น

ตำแหน่งและขอบเขตตำบลวังใหญ่

ลิงค์สู่เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลวังใหญ่

https://www.wangyai.go.th/frontpage