การสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก”คุณสุชาญ ศีลอำนวย ผู้จัดการโครงการ และเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation)

EP.2 การปรับตัวของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรณีการปลูกผัก

สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อภาคการเกษตร อุณหภูมิที่สูงทำให้ผลไม้ที่ต้องการอากาศเย็น เช่น ผลแอปเปิ้ลผิวไม่เปลี่ยนเป็นสีแดง กะหล่ำปลีจะไม่ห่อ ข้าวไม่ผสมเกสร เกิดโรคและแมลงระบาดมากขึ้น ดังนั้น หลักปฏิบัติสำคัญในการปรับตัวของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มี 3 ประการ คือ 1) เคารพดินคือให้ความสำคัญกับดิน 2) เรียนรู้โครงสร้างของธรรมชาติ และ 3) การนำวิถีเกษตรที่ยั่งยืน หรือเกษตรธรรมชาติมาใช้ ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 หลักปฏิบัติสำคัญ 3 ประการ

การสร้างนิเวศในแปลงผัก

การวางแผนเพื่อปลูกผักส่วนใหญ่เกษตรกรจะปรับพื้นที่ให้เตียนโล่ง โดยตัดต้นไม้ในแปลงออกหมดจากนั้นจะทำแปลงขนาดใหญ่ วิธีการนี้ทำให้ระบบนิเวศเสียหายโดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการทำลายแมลงตัวห้ำตัวเบียน และอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินถูกย่อยสลายและสูญเสียคุณค่าไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในการสร้างระบบนิเวศ หรือการออกแบบแปลงการปลูกผัก จำเป็นที่ต้องทำควบคู่กับการเลือกปลูกผักที่เหมาะสมกับฤดูกาล การไถพรวนดินที่ดี การคลุมแปลงเพื่อรักษาความชุ่มชื้น และการยกแปลงที่เหมาะสม ซึ่งเหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์กันในพื้นที่ ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 การสร้างระบบนิเวศในแปลงผัก

ดังนั้น การไม่ตัดและคงเหลือไม้ใหญ่ในแปลงจึงถือเป็นการสร้างนิเวศให้แปลงปลูกผัก แต่ต้องคำนึงถึงแสงแดด เพราะผักต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโต สำหรับทางเลือกในการสร้างนิเวศและให้เกิดร่มเงาและเอื้อให้แสงแดดเข้าถึงแปลงผักนั้นสามารถทำได้ เช่น เลือกพืชตระกูลหญ้าที่สามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปีย ดังภาพที่ 3 หรือ ปลูกข้าวฟ่าง ข้าวโพด นอกจากจะเป็นร่มเงาให้กับผักแล้ว ยังสามารถนำมาทำปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงดินได้ รากของข้าวฟ่าง หรือข้าวโพดที่หยั่งลึกลงไปในดิน จะช่วยพรวนดินด้านล่างได้ ดังภาพที่ 4 รวมทั้งเลือกปลูกข้าวสาลีเพื่อปรับปรุงดินเนื่องจากรากของข้าวสาลีมีสารอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ช่วยควบคุมไส้เดือนฝอย ดังภาพที่ 5 รวมทั้งการเลือกพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทือง ดังภาพที่ 6

พืชตระกูลหญ้าถือว่ามีประโยชน์อย่างมากในการสร้างระบบนิเวศในแปลงการผัก ดังภาพที่ 7 แปลงผักของ MOA ตั้งใจปล่อยให้หญ้าขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศ การตัดหรือกำจัดหญ้าออกทั้งหมดทำให้ตัวห้ำตัวเบียนสูญหายจากแปลง ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคและแมลงโดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนหรืออากาศเย็นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

ภาพที่ 7 การปล่อยให้หญ้าขึ้นในแปลงเพื่อสร้างระบบนิเวศ

หลักการไถพรวนดิน

การไถพรวนดินของ MOA จะไม่ไถดินให้ละเอียด แต่จะให้เป็นก้อนเนื้อดินเล็กๆ โดยใช้รถโรตารีไถผ่าพลิกดินขึ้นมา แล้วใช้รถไถเดินตามตีดินและไม่กดใบมีดพรวนลงไปในดินลึกมากนัก เพราะจะทำให้ดินแน่น  ดังภาพที่ 8 ไถเสร็จก็ขึ้นแปลง การไถพรวนดินที่ละเอียดเกินไปจะทำให้ดินเกิดการรัดตัวในช่วงฝนตก แต่เมื่อถูกแสงแดดน้ำบริเวณผิวดินไม่สามารถซึมลงด้านล่าง และน้ำด้านล่างไม่สามารถระเหยขึ้นด้านบน โดยเฉพาะดินภาคกลางที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวอุ้มน้ำทำให้ผักเน่าได้ง่าย การปลูกผักจึงยกแปลงให้สูงเพื่อระบายน้ำในฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลาก และดินสามารถระบายความชื้นได้ หลังการเก็บเกี่ยวผักจะไถพรวนเฉพาะหน้าดินความลึก 5-10 เซนติเมตร เพื่อให้ระบบรากย่อยสลายและดินระบายอากาศสามารถถ่ายเทออกซิเจนและระบายน้ำได้ดี และช่วยลดการงอกของหญ้า เนื่องจากหญ้าที่เกิดในแปลงผักนั้น มาจากการไถดินที่ลึกทำให้เมล็ดหญ้าที่ตกค้างอยู่ใต้ดินถูกไถพรวนขึ้นมา เมื่อได้รับความชื้นและแสงแดดจึงเจริญเติบโต

การไถพรวนไม่ลึกและตีดินเป็นกลุ่มเม็ดดินที่ไม่ละเอียด จะทำให้เกิดรากขนอ่อนที่จะไปดึงธาตุไนโตรเจนให้กับพืช แต่การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไปจะไม่มีรากขนอ่อนเนื่องจากผักไม่จำเป็นต้องหาธาตุไนโตรเจน และการไถพรวนดินที่ละเอียดมากจะทำให้รากขนอ่อนนี้เกิดไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มีโพรงอากาศให้รากขนอ่อนเกิดและซอนไซไปได้ ดังภาพที่ 9 รวมทั้งการไถพรวนดินที่ละเอียดมากไปทำให้เนื้อดินแน่น ส่งผลให้น้ำผิวดินไหลซึมลงด้านล่างได้ยาก ขณะเดียวกันน้ำข้างล่างจะระเหยขึ้นข้างบนได้ยากเช่นกัน ดังนั้นการทำให้ระบบน้ำหมุนเวียนได้ดีเป็นเรื่องสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้น และวิธีการไถพรวนดินที่ไม่ละเอียดมาก ทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียนได้ดี ดังภาพที่ 10

การไถพรวนดินมีความสำคัญควบคู่ไปกับการยกแปลงผัก โดยเฉพาะเนื้อดินภาคกลางที่เป็นดินเหนียว การยกแปลงที่สูงจะทำให้ความชื้นที่อยู่ด้านล่างลอยตัวขึ้นสูงพืชสามารถรับน้ำจากการระเหยนั้น แต่หากดินแห้งแต่มีความนุ่มรากก็สามารถซอนไซลึกลงไปเพื่อหาความชื้น แต่หากดินแข็งรากไม่สามารถซอนไซลงไปได้

 การคลุมดิน

วัสดุที่นำมาคลุมดินในแปลงผักสามารถเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ปอเทือง ใบขิง ต้นข้าวโพด ฟางข้าว หรือ อื่นๆ โดยใช้ต้นมาคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้นและทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น รากพืชสามารถซอนไซไปด้านล่างได้ลึก ดังนั้น แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ร้อน หนาว หากรากพืชอยู่ใต้ดินและมีความชื้นที่เหมาะสม พืชผักนั้นก็เจริญเติบโตได้ดี ดังภาพที่ 11 และ 12

ประสบการณ์การปลูกผักด้วยระบบเกษตรธรรมชาติ

จากประสบการณ์ของ MOA ทำให้เห็นลักษณะจุดแข็งของการปลูกผักในระบบเกษตรธรรมชาติ เช่น แปลงกะหล่ำในภาพที่ 13 อายุ 40 วันหลังจากย้ายกล้าในช่วงต้นเดือนมกราคมซึ่งปกติจะไม่มีฝนตกและอากาศจะเย็น แต่ปรากฏว่าช่วงย้ายกล้ามีฝนตกติดต่อนาน 3 วัน หลังฝนหยุดมีอากาศร้อนทันทีทำให้กะหล่ำปลีเหี่ยวเฉาตามภาพที่ 14 ซึ่งส่วนใหญ่หากพบแปลงในลักษณะนี้มักคิดว่าผักไม่รอดหรือตายในที่สุด แต่ปรากฏว่ากะหล่ำปลีเหี่ยวเฉาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นแล้วกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ทั้งนี้อันเนื่องจากรากของกะหล่ำสามารถลงลึกดูดความชื้นใต้ดิน และมีอุณหภูมิที่พอเหมาะทำให้กะหล่ำกลับมาแข็งแรงได้

เช่นเดียวกับแปลงทดลองในจังหวัดลพบุรี ภาพที่ 15 เป็นแปลงกะหล่ำปลีที่ปลูกสลับกับผักชนิดอื่น ซึ่งไม่มีแมลงมารบกวน เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างของดินจากปุ๋ยพืชสดโดยเฉพาะปอเทือง หรือใช้ปุ๋ยหมักธรรมชาติ ถึงแม้ในช่วงการเจริญเติบโตของกะหล่ำเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงแต่พบว่ากะหล่ำเข้าหัวได้แต่จะใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิม

ภาพ 15 แปลงผลผลิตเกษตรธรรมชาติของ MOA ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี