การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก คุณสุชาญ ศีลอำนวย ผู้จัดการโครงการ และเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation)

EP.3 หลักการปลูกและจัดการเมล็ดพันธุ์ผัก

หลักการปลูกและจัดการเมล็ดพันธุ์ผัก
ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หลักการปลูกพืชผักของมูลนิธิเอ็มโอเอไทย หรือศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ MOA เน้นให้เกษตรกรมีการปลูกผักที่เกื้อกูลหรือผสมผสานไปในแปลง ปลูกไม้ดอกรอบๆ แปลงเพื่อล่อแมลง การปลูกไม้ใหญ่ให้เป็นแนวขอบรอบพื้นที่เพื่อเป็นแนวกันชน รวมถึงการปลูกพืชตระกูลหญ้าเพื่อให้ร่มเงาแก่แปลงผัก ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบนิเวศที่หลากหลายและมีเกื้อกูลกันอันเป็นทางรอดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

การปลูกผักที่ผสมผสานลงไปในแปลง เช่น การปลูกพืชตระกูลสลัดผสมผสานเข้าในแปลงกะหล่ำปลี หรือปลูกพืชตระกูลมะเขือหรือเมล่อนคู่กับต้นหอมหรือกุยช่าย ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยควบคุมการระบาดของโรคและแมลงที่เกิดได้ง่ายและมีมากขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแปลงที่เริ่มมีการปรับปรุงดินใหม่ซึ่งอาจมีสารพิษหรือสารเคมีตกค้างอยู่ในดินที่โรคและแมลงระบาดได้ง่าย การปลูกสลัดผสมผสานในแปลงกะหล่ำปลีจะช่วยไม่ให้แมลงเข้าทำลายเนื่องจากผักสลัดสามารถผลิตยางออกมาทำให้มีความขม เกษตรกรจึงได้ทั้งสลัดและกะหล่ำปลีเป็นผลผลิต

การเลือกปลูกไม้ดอกรอบๆ แปลงปลูกผัก เพื่อล่อแมลงไม่ให้เข้าทำลายพืชผัก หรือช่วยให้แมลงเข้ามาผสมเกสรให้แก่พืชผักบางชนิด อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศของแปลงผักที่ขาดความหลากหลายชนิดพืช ทำให้ไม่มีแมลงมาช่วยผสมเกสรโดยเฉพาะการปลูกพืชผักบางชนิด เช่น แตงโม ฟักทองส่งผลให้แตงโมและฟักทองไม่ติดลูก

ดังนั้น การปลูกไม้ดอก หรือปลูกพืชผสมผสานบริเวณรอบๆ แปลงผัก หรือปลูกพืชเป็นแนวกันชนบริเวณขอบรอบพื้นที่ทำเกษตรจะสามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับแปลงผักได้ ที่สำคัญยังช่วยรักษาความชื้น ป้องกันพายุลมแรงให้กับแปลงผักภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

 การจัดการเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกผัก การเก็บและรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับปลูกต่อเป็นเรื่องจำเป็น เกษตรกรส่วนใหญ่มักคิดว่าต้องเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีโดยเลือกบำรุงต้นพันธุ์นั้นด้วยการใส่ปุ๋ยและธาตุอาหารในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามเมล็ดพันธุ์ที่จัดเก็บมานั้นพ่อแม่พันธุ์เป็นอย่างไร ลูกที่เก็บมาก็จะเป็นแบบเดียวกัน นั่นหมายความว่า หากมีการเพาะปลูกแม่พันธุ์ที่ใส่ธาตุอาหารในปริมาณมาก เมล็ดพันธุ์ที่เก็บมาย่อมต้องการธาตุอาหารในปริมาณมากเช่นกัน ในกรณีเดียวกันหากพ่อแม่พันธุ์อยู่ในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารน้อย เมล็ดพันธุ์ที่เก็บมาสามารถนำไปปลูกในพื้นที่ใดก็ได้

การเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ของ MOA จะยกตัวอย่างอธิบายให้เกษตรกรว่า เมล็ดพันธุ์ก็เหมือนกับคนรวยกับคนจน หากลูกคนรวยไปอยู่ที่ใดก็อดตาย แต่ถ้าเป็นลูกคนจนอยู่ที่ใดก็อยู่ได้ เพราะว่ามีความอดทนและสามารถปรับสภาพได้ เช่นเดียวกับการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า หากต้องการให้พืชต้นใหญ่จะต้องมีการใส่ธาตุอาหารทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ฮอร์โมน หรือน้ำหมักชีวภาพหลากหลายชนิดลงไปในปริมาณ ซึ่งนั้นเท่ากับว่าได้ส่งผลต่อเมล็ดพันธุ์ที่เก็บมาจะไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น การนำเมล็ดพันธุ์พืชจากภาคอีสานมาปลูกในเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงแรกพืชผักชนิดนั้นเจริญเติบโตไม่ดี แต่เมื่อมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อเนื่องราว 5-7 ปี พืชผักชนิดนั้นสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเห็นว่าเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกให้ผลผลิตหรือเจริญเติบโตไม่ดี ก็จะนำพันธุ์อื่นมาปลูกแทนโดยไม่รอให้เกิดการปรับตัว เพราะฉะนั้น การนำเมล็ดพันธุ์ที่อื่นมาปลูก ต้องมีการเก็บเมล็ดและปลูกโดยวิธีแบบเดิมติดต่อกัน 5-7 ปี เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ปรับสภาพเข้ากับดินในพื้นที่นั้นได้

ดังนั้น การเก็บเมล็ดพันธุ์ต้องทำให้ดินที่ปลูกนั้นอยู่ในลักษณะที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ MOA ได้พยายามทำอยู่ การจัดการเมล็ดพันธุ์ในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับภาวะแล้งแต่เมล็ดพันธุ์ที่เก็บมา สามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยอาศัยเพียงความชื้นที่มีอยู่ในดิน แนวคิดการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ในลักษณะนี้ได้มีการแนะนำเกษตรกรไปใช้เพื่อการปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น  ดังภาพที่ 1 แนวคิดการเก็บเมล็ดพันธุ์กับวิถีเกษตรธรรมชาติของ MOA

ภาพที่ 1 แนวคิดการเก็บเมล็ดพันธุ์กับวิถีเกษตรธรรมชาติของ MOA

การจัดการตลาดของ MOA

จากประสบการณ์การทำงานที่ส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ ผ่านการทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ของกระทรวงศึกษาธิการในการเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกรทั้งด้านการผลิตที่เชื่อมกับด้านการตลาด และบทเรียนสำคัญที่ MOA ส่งเสริมด้านการผลิตเพียงอย่างเดียวในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมีผลผลิตในปริมาณมาก และไม่รู้ว่าจะไปจำหน่ายที่ใดอีกทั้งผู้บริโภคไม่เข้าใจในกระบวนการผลิต ทาง MOA จึงต้องซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อนำไปบริจาควัด ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่ตลาดกว้างขึ้นและผู้บริโภคเองตระหนักให้ความใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งมีการสนับสนุนของหน่วยงานที่หลากหลาย เช่น การมีตลาดเขียวที่โรงพยาบาลทำให้เกษตรกรนำผลผลิตมาเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้ ในส่วนของ MOA ก็จะพิจารณาเป็นเฉพาะพื้นที่ไป หากพื้นที่ไหนมีศักยภาพด้านตลาดก็ให้มีการจัดการบริหารได้โดยตรง แต่พื้นที่ไหนไม่มีตลาด ทาง MOA จะเข้าไปวางแผนในการผลิตร่วมกันกับพื้นที่นั้น พร้อมทั้งรับผลผลิตที่ได้เชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรง