ข้าวไร่พันธุกรรมทางเลือกรับมือกับวิกฤตรศ.ดร.ร่วมจิต นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เขตรอุดมศักดิ์

         จากวิฤกตพื้นที่ทำนาของภาคใต้ลดลงเรื่อยๆ ทำให้คนใต้ต้องซื้อข้าวกิน อย่างจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ทำนาทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ ถ้าคำนวณผลผลิตข้าวและการบริโภค คนชุมพรทั้งจังหวัดมีข้าวบริโภคเพียง 9-10 วันเท่านั้น ที่เหลืออีก 300 กว่าวัน ต้องซื้อข้าวจากที่อื่นมากิน

         หรือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ภาคใต้ที่เคยชื่อว่าฝนแปดแดดสี่ได้เปลี่ยนไปสู่การมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลการเจริญเติบโต มีโรคและแมลงระบาดมากขึ้น ผลผลิตข้าวจึงลดลง

         และจากลักษณะการทำเกษตรของภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนมะพร้าว จึงได้ศึกษาทดลองพันธุ์ข้าวไร่ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นภาคใต้ที่ทนร่มเงา เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนภาคใต้ โดยใช้พื้นที่ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ทดลองเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของข้าวไร่ที่ปลูกในพื้นที่กลางแจ้งติดสปริงเกอร์ป้องกันฝนทิ้งช่วง กับพื้นที่ในสภาพมีร่มเงาใต้ต้นมะพร้าว การศึกษาได้มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิที่พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งวันสูงขึ้นอยู่ในระดับ 35-36 องศาเซลเซียส และเมื่อเก็บอุณหภูมิรายชั่วโมงก็สูงอย่างน่าตกใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อข้าวที่ไม่สามารถออกดอกเพื่อผสมเกสรได้ แต่จะไปกระจุกอยู่ตรงคอรวงหรือใบธง โดยเฉพาะช่วงเวลา 9.00 เป็นต้นไปถึงช่วงบ่ายโมงหรือบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวจะผสมเกสร แต่ข้าวไม่สามารถผสมเกสรได้เลยจากอุณหภูมิที่สูงเกินไป โดยเฉพาะในแปลงกลางแจ้ง นอกจากนั้นบางส่วนใบข้าวยังไหม้และแห้งกรอบ ในขณะที่การเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวในแปลงที่มีพืชเป็นร่มเงายังเป็นปกติ นี่เป็นตัวอย่างคุณสมบัติของพันธุกรรมข้าวไร่ที่สามารถเจริญเติบโตใต้พืชร่มเงา ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้น

         เช่นเดียวกัน การเก็บข้อมูลประชากรของตำบลนาชะอังมีจำนวน 6,953 คน ถ้าคำณวนการบริโภคข้าวต่อปีจะตกอยู่ในปริมาณ 737,818 กิโลกรัมข้าวสาร คิดเป็นมูลค่าเป็นเงินถึงจำนวน 27,023,993 บาทต่อปี ถือเป็นจำนวนที่สูง และเมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า กลุ่มชาวบ้านที่ปลูกข้าวไร่ในเนื้อที่ 0.5-1 ไร่มีข้าวกินได้ทั้งปีโดยไม่ต้องซื้อ และเก็บหาพืชผักธรรมชาติมากิน นั่นหมายถึงหากมีการปิดเมือง ครอบครัวชาวบ้านกลุ่มนี้สามารถอยู่รอดได้ และหากตำบลนาชะอัง หรือคนในจังหวัดชุมพร หันมาปลูกข้าวโดยใช้เนื้อที่ไม่ต้องมากก็สามารถลดค่าใช้จ่าย และทำให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน และนี่อีกคุณสมบัติข้าวไร่ที่สามารถปลูกและเติบโตในพื้นที่เล็กๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชน

ข้าวไร่กับคุณสมบัติและความเหมาะสมต่อการปลูก

         จากการศึกษาทดลองปลูกข้าวไร่ กล่าวได้ว่า พันธุกรรมข้าวไร่มีความสำคัญที่ต้องมีการฟื้นฟูและนำมาปลูกและขยายผล เนื่องจาก ข้าวไร่มีคุณสมบัติสำคัญตัวอย่าง เช่น

         ข้าวไร่ปลูกได้ในดินทุกสภาพ จากที่มีเกษตรกรในตำบลชงโค อำเภอปะทิว ซึ่งมีสภาพพื้นที่ติดชายทะเล ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย นำพันธุ์ข้าวไร่จากตำบลนาชะอัง ที่สภาพพื้นที่เป็นสวนเชิงภูเขา มาปลูก ปรากฏว่าเจริญเติบโตและผลผลิตดี และมีข้อมูลที่ยืนยันว่า ข้าวไร่สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดินที่มีความเป็นกรด-ด่างตั้งแต่ 3 ขึ้นไปจนถึงดินพรุที่มีความเป็นกรดถึง 11 จึงกล่าวได้ว่า ข้าวไร่สามารถเจริญเติบโตได้กับทุกสภาพดิน แต่มีเงื่อนไขคือต้องเป็นลักษณะสายพันธุ์ที่เติบโตได้ในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

         ข้าวไร่ปลูกใต้ร่มเงาพืชอื่นๆ ได้ จากการศึกษาทดลองการปลูกข้าวไร่ใต้ร่มเงายางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไม้ผล ที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างต้นพืชและรองรับปัญหาราคาพืชที่ตกต่ำลง ปรากฏว่าสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี

         ข้าวไร่ทนกับทุกสภาพฤดูกาล ข้าวไร่มีคุณลักษณะพิเศษ เมื่อกระทบแล้งจนทำให้ใบม้วนเหี่ยว แต่เมื่อได้ฝนข้าวไร่สามารถฟื้นตัวเติบโตและออกรวงได้รวดเร็ว นอกจากนี้ข้าวไร่บางสายพันธุ์สามารถเติบโตได้ในสภาพน้ำท่วมขัง ดังนั้นวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้าวไร่จึงมีคุณสมบัติและความเหมาะสม

 ข้อเสนอ/แนวทางขับเคลื่อน

         ถึงแม้ว่า ข้าวไร่จะมีคุณสมบัติความเหมาะสมในหลายด้าน แต่ข้าวไร่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนไม่เต็มที่เท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีข้อเสนอในการขับเคลื่อนข้าวไร่ เพื่อนำไปทางเลือกของเกษตรกรที่นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้ และรับมือกับสถานการณ์วิกฤตต่างๆ  โดย

  • สร้างรูปธรรมและฟื้นฟูพันธุกรรมข้าวไร่ โดยใช้พันธุกรรมประจำท้องถิ่นที่เคยปลูก หรือนำพันธุ์ข้าวจากธนาคารพันธุกรรมข้าว กรมการข้าว หรือพันธุ์ข้าวที่มีการเก็บอยู่ในสถาบันวิชาการต่างๆ หรือการแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ มาปลูกสร้างรูปธรรมในพื้นที่ ซึ่งสามารถเลือกปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่
  • มีกระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาพันธุกรรมข้าวไร่ โดยยกระดับศักยภาพเกษตรกรให้สามารถคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สนับสนุนความรู้และการจัดการดูแลตั้งแต่การผลิตจนการจัดการตลาดและการแปรรูป
  • สร้างความร่วมมือภาคีต่างๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนพันธุกรรมข้าวไร่ โดยมีหน่วยงานรัฐ กรมการข้าว สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชน รวมทั้งมีการวางแผนการเผยแพร่และขยายผล เพื่อให้ข้าวไร่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง

ข้าวไร่พันธุกรรมทางเลือกรับมือวิกฤต

         กล่าวได้ว่า ข้าวไร่เป็นทางเลือกสำหรับการรับมือวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันทั้งมีสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตข้าวลดน้อยลง หรือมีโรคและแมลงระบาดมากขึ้น ฝนแล้งน้ำท่วมข้าวก็ตาย หรือวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด ชุมชนต้องกักตัวออกไปไหนไม่ได้ส่งผลต่อการไม่มีข้าวกิน ดังนั้น เกษตรกรต้องปรับตัวและหาทางเลือก ข้าวไร่จึงเป็นพันธุกรรมทางเลือกที่รับมือวิกฤตทุกด้าน รวมทั้งสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนและชุมชน