บทเรียนและประสบการณ์การจัดการและพัฒนาพันธุ์พืชผักโดยชุมชน
ตอน 1 การจัดการเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวในระบบเกษตรอินทรีย์ โดย คุณประสาน พาโคกทม กลุ่มวิสาหกิจปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ จังหวัดร้อยเอ็ด
การเก็บเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มวิสาหกิจปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ได้ทำควบคู่กับการจำหน่ายผักสดมาตั้งแต่ปี 2550-2556 ซึ่งการเก็บเมล็ดพันธุ์ ณ ขณะนั้นยังไม่มีความรู้ตามหลักวิชาการในการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ในปี 2557 กลุ่มได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ให้เข้าร่วมอบรมเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ต่อมาในปี 2560 กลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาการเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จากนั้นยกระดับกลุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเมล็ดพันธุ์อินทรีย์อีสาน การเก็บเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มเน้นการเก็บพันธุ์พืชผักโดยเฉพาะถั่วฝักยาวร่วมกับพันธุ์พืชอื่นประมาณ 45 สายพันธุ์ รวมถึงพันธ์ข้าวที่กลุ่มที่สามารถเก็บและจำหน่ายพันธุ์ได้จำนวน 15 สายพันธุ์ โดยแปลงที่ผลิตพันธุ์ข้าวนั้นได้รับการรับรองมาตรฐาน (IFOAM, USDA, EU, Organic Thailand และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์-มกท.) และปฏิบัติตามระบบมาตรฐานของพันธุ์ข้าว ซึ่งกลุ่มมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟสบุ๊คชื่อเพจวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ และเพจข้าวโจ้โก้ ผลผลิตข้าวของกลุ่มเน้นการส่งออกเป็นหลัก
สายพันธุ์ถั่วฝักยาว
สายพันธุ์ถั่วฝักยาวของกลุ่มมีจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ลายเสือจักรพรรณ ม่วงสิรินธรเบอร์ 1 ถั่วฝักยาวสีแดง และถั่วฝักยาวที่ได้พันธุ์จากประเทศไต้หวัน ถั่วฝักยาวพันธุ์ลายเสือจักรพรรณ และม่วงสิรินธรเบอร์ 1 เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่วนถั่วฝักยาวสีแดงเป็นพันธุ์แรกที่เริ่มเก็บซึ่งได้พันธุ์จากศูนย์เรียนรู้อำเภอกุดร่อง (ศูนย์เรียนรู้เดิมของบ้านสวนซุมแซงในปัจจุบัน) เป็นพันธุ์เนื้อ มีรสชาดหวานกรอบ โดยกลุ่มมีแผนนำถั่วฝักยาวสายพันธุ์นี้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ในชื่อ “มณีนาง” ซึ่งเป็นชื่อที่คล้องกับชื่อคนที่เก็บพันธุ์ ส่วนอีกสายพันธุ์เป็นถั่วฝักยาวที่ได้พันธุ์จากประเทศไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมาได้นำมาพัฒนาพันธุ์โดยมีลักษณะเด่นคือมีลักษณะฝักเป็นสีเขียวนวล มีรสชาดกรอบอร่อย เดิมมีขนาดฝักยาว 60 เซนติเมตรแต่หลังจากนำมาพัฒนาพันธุ์ทำให้มีขนาดฝักยาวเพิ่มขึ้นเป็น 84 เซนติเมตร โดยกลุ่มต้องการนำพันธุ์นี้ขึ้นทะเบียนพันธุ์เช่นกันในชื่อ “นวลนาง”
วิธีการจัดการแปลงเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาว
หลังจากได้ความรู้ในการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี 2557 และได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เมล็ดพันธุ์ต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี 2559 กลุ่มจึงเริ่มทำเมล็ดพันธุ์เป็นพื้นที่รูปธรรมมากขึ้น ซึ่งมีการจัดการแปลงดังนี้
- เตรียมดินโดยใช้ไดโลไมท์หว่านทั่วแปลง จากนั้นใช้รถไถปั่นทั่วแปลง หากทำแปลงช่วงฤดูฝนให้ยกร่องแปลงการผลิต
- เว้นระยะห่างระหว่างต้น 50 เมตร เพื่อแยกให้เห็นต้นชัดเจนในการคำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ได้แต่ละรอบการผลิต และช่วยลดการเกิดโรคระบาดกรณีที่ต้นอยู่ระยะชิด/ปลูกแน่นในแปลงเกินไป
- การจดบันทึกข้อมูลพืชที่ปลูกสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ เช่น 1 ต้นสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้กี่กิโลกรัม อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์เพื่อนำข้อมูลไปทำการตลาด, การบันทึกลักษณะสายพันธุ์ที่ปลูกว่ามีลักษณะพันธุ์แท้ที่ต้องการหรือไม่ เช่น ความยาว ลักษณะฝักตรงหรือไม่ รสชาติกรอบอร่อยหรือไม่ เป็นต้น
- การฉีดพ่นเชื้อราเขียวเพื่อป้องกันการเกิดโรคพืชอย่างน้อยเดือนละครั้ง
- กรณีแปลงที่เกิดปัญหาเพลี้ยให้จัดการฉีดพ่นเชื้อบิวเวอร์เรียซึ่งเป็นเชื้อราที่ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชแต่แมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติก็จะถูกกำจัดเช่นกัน โดยเบื้องต้นกลุ่มมักแนะนำให้สมาชิกปลูกดาวเรืองสลับในแปลงเพื่อช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากกว่าการฉีดพ่นเชื้อดังกล่าว
- ควรมีการตัดแต่งกิ่งตรงโคนต้นเพื่อไม่ให้มีกิ่งเลี้ยงโดยเฉพาะ 2-3 ข้อแรกเพื่อไม่ให้เกิดการออกดอกตรงโคนต้นก่อน และควรทำควบคู่กับการทำค้างให้ลำต้นโปร่งโดยทยอยตัดใบแก่ทิ้งจากล่างขึ้นบนเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลง
- สำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์ให้เริ่มเก็บฝักที่เริ่มฝ่อเหี่ยว/ถั่วบวมเปลี่ยนสี และนำมาแขวนในพื้นที่กึ่งแดดกึ่งร่มเพื่อผึ่งลม จากนั้นนำมาแกะเมล็ดเพื่อนำมาผึ่งในกระด้งและตากแดดประมาณ 1-2 ครั้ง และนำเก็บในตู้เย็น
อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ บ้านสวนซุมแซง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
Leave a Reply