บทเรียนและประสบการณ์การจัดการและพัฒนาพันธุ์พืชผักโดยชุมชน
ตอน 3 การจัดการเมล็ดพันธุ์สลัดในระบบเกษตรอินทรีย์ โดย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
บทเรียนและประสบการณ์การจัดการเมล็ดพันธุ์สลัดของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ คุณจงกล พารา เครือข่ายตลาดสีเขียวจังหวัดขอนแก่น และคุณบุญมี ชาลีเครือ กลุ่มเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ จังหวัดอุบลราชธานี ในงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้น ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการฟาร์ม วิธีการจัดการแปลงการผลิต และข้อจำกัดในการเก็บเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ ดังนี้
แนวคิดในการจัดการฟาร์ม
ในการทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์สลัดนั้น ควรคำนึงถึงความหลากหลายที่ไม่ใช่เฉพาะพืชผักแต่ต้องมองการเกื้อกูลทั้งระบบอย่างเช่นการปลูกดอกไม้ในแปลงเพื่อดึงดูดแมลงมาช่วยผสมเกสรในแปลงการผลิต และลดการจัดการไม่ต้องดูแลมาก
วิธีการจัดการแปลงการผลิต
- แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์จะต้องมีระยะห่างต้น และระยะเวลาที่เหลื่อมกันเพราะสลัดสามารถผสมพันธุ์กันได้หากปลูกใกล้กัน โดยให้แยกปลูกตามพันธุ์และควรแยกจากแปลงสลัดกินสดให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้รบกวนการเติบโต
- ในการเก็บเมล็ดพันธุ์สลัดต้องมีการสำรวจแปลงทุกเช้าเพื่อสำรวจโรคใบจุดที่เป็นโรคประจำของสลัด ถ้ากรณีเจอต้นที่น่าจะเป็นโรคให้เด็ดใบล่างเพื่อทำความสะอาด
- การปรับระบบการให้น้ำในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต เช่น ระยะก่อนสลัดแทงช่อดอกควรให้น้ำโดยใช้สายยางฉีด แต่หลังจากสลัดแทงช่อดอกแล้วควรให้น้ำในระบบที่สัมผัสใบน้อยที่สุดโดยให้น้ำตามพื้นดินเพื่อลดการเกิดโรค
- ในแปลงเก็บพันธุ์ต้องสังเกตว่ามีพันธุ์อื่นปนหรือไม่ ซึ่งการเลือก/คัดพันธุ์จะทำในช่วงเพาะกล้าจนถึงช่วงย้ายปลูกโดยมีการคัดทุกระยะการเติบโต อย่างเช่นปลูก 100 ต้น หากพบต้นที่ไม่ตรงตามพันธุ์ใบผิดเพี้ยน/รูปทรงต้นต่างไปจากพันธุ์ที่เลือกก็จะถอนทิ้ง หากไม่มีการจัดการแยกแปลงที่ชัดเจนก็จะเกิดการปน/ข้าม/กลายพันธุ์ได้
ข้อจำกัดและแนวทางแก้ไขในการเก็บเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ
- ฤดูฝนถือเป็นปัญหาในการจัดการแปลงเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นควรมีการจัดการแปลงในระบบแปลงย่อยไม่ทำแปลงยาว หากเลยอายุเก็บเกี่ยวสำหรับเก็บสดประมาณ 60 วันควรเริ่มปักไม้ค้ำให้ต้นและปรับการจัดการจากคลุมแปลงด้วยพลาสติกเปลี่ยนเป็นการทำเป็นมุ้งตาข่ายไนล่อนแล้วนำไปสวมที่ดอกเพื่อให้ทันเก็บก่อนที่พายุจะเข้ามา ข้อดีการจัดการวิธีนี้คือสามารถเก็บดอกที่บานก่อนประมาณ 30-40% แต่ต้องเลือกเวลาเก็บ โดยเวลาที่เหมาะสมในการเก็บคือช่วงเที่ยงวันถึงบ่ายสองโมงเพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่สลัดคายน้ำลำต้นสลัดจะอ่อนทำให้ต้นไม่กรอบหักง่าย ส่วนดอกที่ตูมยังไม่บานก็สามารถรอดอกให้บานแล้วเก็บต่อได้ กรณีบางต้นเก็บดอกไม่ทันต้นเปียกก็ต้องรีบเก็บโดยเอาไม้เคาะเอาดอกเหมือนเดิม และหากไม่มีเครื่องมือช่วยลดความชื้น เบื้องต้นสามารถจัดการโดยใช้ไดร์เป่าผมแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยนำมาเป่าประมาณครึ่งชั่วโมงจากนั้นนำมาห้อยในร่ม
- ช่วงฤดูหนาวในภาคอีสานมักจะมาเป็นช่วง หากช่วงไหนที่ลมหนาวไม่มาวันนั้นจะมีหมอกหนัก ด้วยแปลงเมล็ดพันธุ์อยู่ในระบบเปิดก็ต้องเตรียมไม้เพื่อทำเป็นโรงเรือนชั่วคราวคือเตรียมไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนปักทั่วแปลงแล้วนำพลาสติกยาวประมาณ 2 เมตร คลุมทั่วแปลงเพื่อป้องกันดอกสลัดจากความชื้นจากหมอกซึ่งช่วยได้มาก หากดอกสลัดที่บานสัมผัสความชื้นจากหมอกสลับกับการรับแสงก็จะทำให้มีเชื้อรา
อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ บ้านสวนซุมแซง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
Leave a Reply