วิถีชีวิต ความเปลี่ยนแปลง และการปรับตัว บนเส้นทางความเป็นเกษตรกร (ตอนที่ 1)

ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่การต่อสู้ครั้งสำคัญของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับสมัชชาคนจน จนกระทั่งเกิดโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ที่รับงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบที่เป็นนโยบายที่ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับการนำมาปฏิบัติจริง ตั้งแต่เมื่อปี 2543 – 2547 นั้น ก็นับว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนานร่วม 20 กว่าปี ที่พ่อภาคภูมิ อินทร์แป้น แห่งบ้านโดนแลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ได้เป็นหนึ่งในแกนนำเกษตรกรคนสำคัญ ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ และมีการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน ทั้งวิธีคิด เทคนิค และวิถีการผลิต ให้สอดคล้องกับทั้งวิถีชีวิต สภาพพื้นที่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
            พ่อภาคภูมิ เล่าภาพรวมย้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนเปลี่ยนของวิถีชีวิต และวิถีการผลิตของพื้นที่แห่งนี้ให้ฟังว่า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนำดำ ตอนนั้นพอฝนมา ก็มีน้ำขังไว้ในนา พวกปลา กบ เขียด อาหารในนาก็มากมาย พอฤดูฝนมา ชาวบ้านก็จะออกไปเจอกันในนา ไปดำนากัน แต่ช่วงต่อมา พอฟ้าฝนเริ่มไม่ตกตามฤดูกาล เวลาในการดำนาก็น้อยลง ปกติกว่าจะดำนากันกว่าจะเสร็จก็ร่วม 2 เดือน แต่พอฝนตกช้า บางคนก็ทิ้งนา ไปทำงานอย่างอื่นแทน บางคนก็ทดลองเปลี่ยนวิธีปลูก เช่นถ้าในแปลงเป็นทรายหยาบ มีความชื้นหน่อย ก็ลองเอาต้นข้าวไปปัก รอน้ำฝนมาเลี้ยงให้ข้าวโต หรือบางคนก็ตักน้ำมารด ก็ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง  จนเกิดมีการคิดทำนาหว่านขึ้นมา เป็นการหว่านแห้งแทน ไม่ต้องรอฝน พอเห็นว่าได้ผล ชาวบ้านก็เริ่มหันมาใช้วิธีนี้กันมากขึ้น พอชาวบ้านหันมาทำนาหว่านมากขึ้น จากที่เคยเก็บน้ำไว้ในคันนา ก็ปล่อยน้ำทิ้ง เตรียมไว้ทำนาหว่านแทน เพราะหว่านมันสบายกว่า และทำเสร็จเร็วกว่าดำนา แต่การไม่ขังน้ำไว้ในนาเหมือนเก่า ก็ส่งผลให้พวกอาหารในนาก็ลดน้อยลง ทั้งปลา กบ เขียด ไม่มีที่วางไข่ พอไม่มีอาหารในนา ก็ต้องซื้ออาหารกินมากขึ้น เงินก็จำเป็นขึ้นมา ก็เลยต้องดิ้นรนออกไปหางานอื่นทำ 

            ที่สำคัญคือ พอทำนาหว่าน ส่วนใหญ่ก็จะเจอกับปัญหาวัชพืช หญ้าขึ้นเยอะ ก็เลยต้องฉีดยา ต้องใส่ปุ๋ย ทำให้ยิ่งต้องใช้เงินเป็นต้นทุนในการผลิตมากขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปหมด ทั้งวิถีชีวิต ทั้งเรื่องอาหาร ความสามารถในการพึ่งตนเองลดลง จากที่เคยทำนาอย่างเดียว ก็ต้องไปรับจ้าง พอออกไปทำงาน ก็เหนื่อยมากขึ้น กลับมาก็ไม่อยากทำอาหารกินเองแล้ว เมื่อก่อนคนจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ พอจับปลาได้ก็ทำกินด้วยกันได้หลายคน ตอนนี้ถึงจับปลาได้ก็ต้องไปซื้อเครื่องครัวมาทำ คนก็เลยซื้อกินสะดวกกว่า  ต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงขึ้น ยิ่งใช้ยา ใช้ปุ๋ย ต้นทุนในการผลิตก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ยังไม่นับผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
            อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆตามมามากมาย หลายคนอาจติดอยู่ในวงจรหนี้สิน บางคนอาจล้มป่วยจากสารเคมี รวมถึงต้องเผชิญกับความเครียดจากปัญหาต่างๆ แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่พยายามปรับตัว รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพบกับความพึงพอใจในชีวิตความเป็นเกษตรกรตราบจนทุกวันนี้
            พ่อภาคภูมิ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างเกษตรกรที่พูดได้อย่างเต็มปากว่า มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ จากอายุ 12 ปี ตราบจนอายุ 57 ปีในวันนี้ พ่อภาคภูมิก็ยังคงใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรอย่างภาคภูมิ แม้จะไม่เคยหันเหไปทำอาชีพอื่น แต่พ่อภาคภูมิก็เล่าให้ฟังว่า เดิมทีก็เคยทำเกษตรเคมีแบบสุดๆเหมือนกัน ที่เรียกว่าทำสุด หมายถึงใช้ยา ใส่ปุ๋ยเคมีแบบเต็มที่ ไม่ใช่แค่ใส่รอบเดียว แต่ใส่ 3 รอบ ยาฆ่าแมลงนี่ก็ฉีดเต็มที่ ตอนนั้นแทบไม่ได้คิดถึงอันตรายทั้งกับตัวเอง และกับคนที่จะซื้อไปกินเลย จนกระทั่งเห็นเพื่อนเกษตรกรเสียสติเพราะสารเคมี ประกอบกับอาการทางกายตัวเองเริ่มไม่ค่อยดี ก็เลยเริ่มตระหนักถึงอันตราย พ่อภาคภูมิบอกว่า ยอมรับว่าตอนนั้นกลัวตาย ก็เลยเริ่มปรับเปลี่ยน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่เรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี ก็ใช้เวลาพอสมควรในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะกับวิธีคิดและความเชื่อเดิมที่เคยฝังใจมา

            พ่อภาคภูมิ เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนเกษตรนำร่อง ก็มีโครงการจาก คสป. ที่ส่งเสริมการทำเกษตรธรรมชาติเข้ามา ตอนนั้นก็ได้ไปอบรมการทำเกษตรธรรมชาติ แต่กลับมาก็ยังทำเคมีอยู่นะ ตอนนั้นมีความเชื่อว่า ข้าวสีเขียวเท่านั้นที่จะให้ผลผลิตดี ไม่ใช่ข้าวสีเขียวเหลือง ด้วยความเชื่อมั่นที่ฝังใจแบบนี้ ก็ทำให้ยิ่งใส่ปุ๋ยมากขึ้นๆ เพื่อให้ข้าวเขียว แต่เวลานั้น ก็มีเพื่อนเกษตรกรแปลงข้างๆ หันมาทำนาอินทรีย์ เราก็แอบมองเขาตลอด พอเห็นว่าเขาได้ผลผลิตดี ไม่ได้ขี้เหร่อย่างที่คิด ก็เลยตัดสินใจลองทำดูบ้าง

            “ตอนปีแรกที่ทำ ลองใช้โสนเป็นปุ๋ยพืชสด แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ตอนนั้นปลูกโสน 30 ไร่ ทำเป็นปุ๋ยพืชสด แล้วปลูกข้าว คนก็ปรามาส เราก็กลัวนะ ปีนั้นใช้วิธีไม่ไปนาบ่อย ปล่อยให้ข้าวได้มีเวลาในการเจริญเติบโต ถ้าไปนากลัวอดใจไม่ได้ สุดท้าย ก็พบว่า ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตก็ไม่ได้หายไปไหน ข้าวสีเขียวเหลือง ความจริงมันก็ออกรวงดี  ก็เลยเชื่อมั่นมาโดยตลอดในเส้นทางนี้” พ่อภาคภูมิเล่าให้ฟัง อีกทั้งยังเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่เกิดขึ้นให้ฟังว่าด้วยว่า “ตอนที่เกษตรเคมี มันรู้สึกอยากเอาชนะคนอื่นตลอด มันอยากจะทำให้ผลผลิตงาม และงามกว่าคนอื่นด้วย มันรุ่มร้อนไปหมด แต่พอทำเกษตรอินทรีย์ มันทำให้รู้จักการรอคอย เข้าใจการเจริญเติบโตของพืช ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร มันเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับพืชที่เราปลูกอย่างเข้าใจ ก็เลยทำให้รู้สึกสงบสุขมากขึ้น”
            “รู้สึกขอบคุณที่คิดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงในตอนนั้น และคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มันถูกในความรู้สึกตัวเอง คือมันทำให้มีความสุขกับตัวเอง” พ่อภาคภูมิกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ที่สัมผัสได้ถึงความอิ่มสุขภายใน

            ฟังเรื่องราวของพ่อภาคภูมิแค่นี้ บางคนก็อาจคิดว่าเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงาม แต่ก็การจะดำเนินชีวิตเช่นนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และก็มีความท้าทายให้เผชิญระหว่างทางมากมาย ความท้าทายที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง และเขารับมือกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งมีอะไรบ้างที่เราควรจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้าร่วมกัน รอติดตามอ่านตอนต่อไปนะคะ