วิถีชีวิต ความเปลี่ยนแปลง และการปรับตัว บนเส้นทางความเป็นเกษตรกร (ตอนที่ 2)
ใครที่มีโอกาสได้อ่านวิถีชีวิต ความเปลี่ยนแปลง และการปรับตัว บนเส้นทางความเป็นเกษตรกร ตอนที่ 1 มาแล้ว ก็คงจะได้เข้าใจ และมองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตความเป็นเกษตรกรมากขึ้น และได้เห็นภาพชีวิตของพ่อภาคภูมิ ผู้ที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองจากการทำเกษตรเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ และยังคงยืนหยัดในวิถีเกษตรอินทรีย์มาอย่างยาวนาน ดังที่กล่าวไปแล้วว่าบางคนเมื่อได้อ่านเรื่องราวก็อาจคิดว่าเป็นชีวิตของพ่อภาคภูมิช่างดูเรียบง่ายและงดงาม แต่ก็การจะดำเนินชีวิตเช่นนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และก็มีความท้าทายให้เผชิญระหว่างทางมากมาย
พ่อภาคภูมิบอกว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้อยู่ได้คือ ตัวเองไม่ใช้เงินอนาคต ทำให้ไม่มีภาระ เวลาจะทำอะไรก็จะประเมินความเสี่ยง และดูความสามารถของตัวเองว่าทำได้แค่ไหน ต้องวางแผน ไม่ได้คิดเรื่องเงินที่จะต้องได้รับเป็นตัวตั้ง ทำให้ไม่มีหนี้สิ้นให้ต้องกังวล นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการการใช้เงินของตัวเองด้วย คือจะไม่อยากได้อะไรจนเกินตัว หรือหากอยากได้บางอย่างที่ต้องใช้เงินเยอะ ก็รู้จักอดทนรอคอย ที่สำคัญคือ พยายามเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆให้สามารถพึ่งตนเองได้ อาจกล่าวได้ว่า ถึงจะได้เงินไม่มากนัก แต่ก็มีความมั่นคงระดับหนึ่ง และถึงฟ้าฝนจะเปลี่ยนแปลงมาก ก็ไม่ถึงกับอดตาย คืออย่างน้อยก็มีข้าวเก็บไว้กินได้ร่วม 2 ปีเลยทีเดียว
สำหรับวิถีการผลิตที่พ่อภาคภูมิทำตอนนี้ คือ มีการออกแบบจัดการแปลง ให้มีทั้งบริเวณที่เป็นที่นา ซึ่งปัจจุบันทำนาหว่านเป็นหลัก คือใช้วิถีเกี่ยวแล้วไถกลบต่อซัง หว่านพืชตระกูลถั่ว พวกถั่วเขียว ถั่วดำ พอเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ไถกลบอีกรอบ แล้วก็หว่านข้าว บางครั้งก็มีการปลูกปอเทืองด้วย คือเน้นใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นหลัก แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนว่าจะปลูกอะไร ตามปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น บางครั้งหากใช้การหว่านถั่ว ถ้าเจอฝนจนน้ำขัง ก็มีปัญหาเรื่องถั่วเน่าเสีย หรือบางครั้งก็เจอปัญหาเรื่องนก ส่วนปอเทือง บางครั้งก็เจอปัญหาเรื่องบุ้งระบาด หรืออย่างปีนี้ เปลี่ยนเวลาปลูก เป็นช่วงกลางพฤษภาคม ทำไม่มีปัญหาเรื่องบุ้ง แต่เจอปัญหาเรื่องไม่มีรถมาช่วยเกี่ยว เพราะเศษของต้นปอเทืองจะติดอยู่ในเครื่องจำนวนมาก ทำให้ลำบากในการล้าง ก็ต้องวางแผนการปลูกใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ปีนี้พ่อยังบอกว่ามีปัญหาเรื่องฝน คือพอหว่านแล้วเจอฝน น้ำขัง ทำให้ข้าวไม่งอก ต้องหว่านใหม่ ปีหน้าก็อาจจะลองปรับเป็นทำนาดำมากขึ้น ซึ่งก็ต้องประเมินทั้งเรื่องน้ำ และแรงงานควบคู่ไปด้วย
นอกจากพื้นที่ทำนาแล้ว บริเวณพื้นที่การผลิต พ่อภาคภูมิก็ยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นเกษตรนิเวศน์ คือมีการทำสวน ปลูกผักพื้นบ้าน อย่างพวกผักอีนูน และผักสลิด รวมถึงพวกกล้วย แตงโม แตงไทยร่วมด้วย เพื่อให้มีผลผลิตไปขายได้บ้าง หลักคิดสำคัญในการเลือกพืชผักที่เอามาปลูกของที่นี่คือ เลือกผักที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นาน และก็ปลูกพืชผักพื้นบ้านที่คนอื่นไม่ค่อยสนใจปลูก คือถึงตลาดความต้องการไม่มาก แต่ก็มีของขายน้อย ทำให้ขายได้ราคา อย่างผักอีนูน เป็นผักพื้นบ้านที่พ่อภาคภูมิปลูกมา 20 ปีแล้ว เรียกได้ว่าปลูกครั้งเดียว หมั่นดูแล รดน้ำอย่างดี ก็เก็บขายได้ทั้งปี และก็ขายดีเป็นที่นิยมของคนในตลาดด้วย นอกจากบรรดาผักพื้นบ้าน และผลไม้บางส่วนแล้ว ตอนนี้พ่อภาคภูมิก็วางแผนว่าจะหาพืชชนิดอื่นมาปลูกให้หลากหลายมากขึ้น โดยจะเน้นให้เป็นพืชที่อยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องดูแลมาก และสามารถเก็บขาย หมุนเวียนกันได้ทั้งปี
เมื่อถามถึงความท้าทาย รวมถึงปัญหาอุปสรรคใหญ่ที่กำลังเผชิญ พ่อภาคภูมิก็บอกว่าเรื่องการจัดการน้ำเป็นความท้าทายที่สำคัญ ที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันแก้ไข ปัญหาหลักที่พบก็คือ ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มมีปั๊มน้ำโซลาเซลล์ ที่สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จำนวนมาก บางคนมีปั๊มขนาดใหญ่ ก็มีกำลังในการสูบมาก แน่นอนมาปั๊มน้ำนี้ส่วนช่วยทำให้เกษตรกรหลายคนที่เผชิญกับปัญหาเรื่องน้ำ หมดปัญหาที่ต้องกังวลไป คือมีน้ำใช้ในแปลงอย่างเพียงพอ โดยที่ไม่ต้องมีบ่อเก็บน้ำมากก็ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อสามารถสูบน้ำได้เยอะ ก็พบว่ามีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่สูบน้ำขึ้นมาทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ ส่งผลทำให้น้ำใต้ดินลดปริมาณลงอย่างมาก เรียกได้ว่าบางแห่งก็ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในครัวเรือน หรือคนที่มีปั๊มที่กำลังสูบไม่มากนัก ก็ไม่สามารถปั๊มน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างพอเพียง
พ่อภาคภูมิสะท้อนว่า ปัญหานี้อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการออกกฎระเบียบการใช้น้ำ และสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำใต้ดิน เข้ามาช่วยให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินซึ่งมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆด้วย ที่สำคัญคือ ควรมีงานศึกษาวิจัยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเติมน้ำใต้ดินว่า จะมีความเสี่ยงต่อการตกค้างจากสารเคมีหรือไม่ อย่างไร และหากมี ควรจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร พ่อภาคภูมิมีความเห็นว่า อันที่จริงปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้ เพียงแต่เราต้องรู้วิธีการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการกักเก็บน้ำ การใช้น้ำ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า คนที่ใช้น้ำใต้ดิน ก็ควรมีส่วนร่วมในการช่วยเติมน้ำใต้ดินด้วยเช่นกัน ซึ่งการเติมน้ำใต้ดินนี้ ก็อาจจะต้องการงบประมาณในการขุดบ่อ ดังนั้นการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ก็ควรคิดถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นความท้าทาย ที่ต้องการการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนด้วยเช่นกัน หาใช่เป็นเรื่องของปัจเจก ที่เน้นเพียงการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต การหาเทคนิควิธีในการปลูกแบบใหม่ หรือการจัดการน้ำที่เกษตรกรแต่ละคนต้องทำเท่านั้น
Leave a Reply