การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคเหนือ

ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน เชียงใหม่
สวนชวนธรรมชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน

“สวนชวนธรรมชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน” ตั้งอยู่ในนิเวศที่ราบลุ่ม บ้านทุ่งยาว ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย พื้นที่สวนทั้งหมด 12 ไร่ (ภาพ 1: ฝั่งซ้าย 8 ไร่ ฝั่งขวา 4 ไร่) สวนห่างจากบ้าน 400 เมตร เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมทุกปี สภาพเดิมจึงเป็นท้องทุ่งนา ถึงช่วงถอนกล้าน้ำจะท่วมจึงมีแนวคิด การเลี้ยงปลาในนาข้าว และนั่นเป็นช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากนั้นปรับเป็นการเลี้ยงไก่บนบ่อปลา แต่หลังการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก จึงหันมาเลี้ยงไก่บนคันบ่อแทน สำหรับแนวคิดในการจัดการแปลงนั้นเน้นสร้างความหลากหลายทั้งการปลูกพืช ทำนา และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบแปลง แต่ได้มีการปรับระบบหลายครั้งจนนำมาสู่ความสมบูรณ์ในแปลง ที่มีทั้งผัก ข้าว ไม้ผล มีรายได้ทุกเดือน มีอาหารกินตลอด มีเพื่อนใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้รู้จักเครือข่ายนักตกปลาหลากหลายคน และมีเวลาทำงานร่วมกับชุมชน อย่างเช่นมาเป็นประธานสหกรณ์เครดิตฯ ที่เริ่มก่อตั้งมาช่วงปี 29 และช่วยจัดการตลอด 20 ปีแรก จนกระทั่งจดทะเบียนสหกรณ์ในปี 2547 หลังจากนั้นให้คนในชุมชนจัดการเป็นหลัก

 

ภาพ 1 โครงสร้างการจัดการฟาร์มพื้นที่ 12 ไร่ ในนิเวศราบลุ่ม

การจัดการพื้นที่นา
พันธุ์ข้าวที่เลือกปลูกมีหลากหลายพันธุ์  มีข้าวพื้นเมือง 37 สายพันธุ์  กข.43 และข้าวมะลิดำ การทำนาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ช่วงหน้าฝนพื้นที่ปลูกข้าวน้ำจะท่วมปลาก็จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่นา ตอนกลางคืนปลาไปกินตอซังข้าวที่เกี่ยวแล้ว ตอนกลางวันร้อนปลาเข้าไปอยู่ในระดับน้ำที่ลึกกว่า ผลผลิตข้าวมะลิดำให้ผลผลิตดี ส่วน กข.43 ให้ผลผลิตน้อยมาก

การจัดการอาหารสัตว์
อาหารที่เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่หรือเลี้ยงสัตว์ โดยทั่วไปจะมีการผสมสารกันรา สารเร่งโต สารปฏิชีวนะ ฯลฯ จึงเลือกที่จะทำอาหารเลี้ยงสัตว์เอง เคยใช้ซุปข้าวโพดส่งออกที่ไม่ได้มาตรฐานมาผสมกับรำ ข้าวโพด แต่ปัจจุบันได้ปรับเอาเศษอาหาร 1 ถัง รำเลี้ยงหมู 1 กระสอบ ข้าวโพด 13-15 กิโลกรัมมาผสมกัน จากนั้นนำไปรีดโดยใช้เครื่องรีดกคล้ายกับที่บดเนื้อหมูในตลาด แล้วนำมาผึ่งให้แห้ง โดยอาหารที่ผสมนี้สามารถนำไปให้ไก่ ห่าน ปลา กินในแต่ละวัน

การเลี้ยงไก่-ห่าน
การเลี้ยงไก่มี 2 รูปแบบ คือ 1) แยกเลี้ยงลูกไก่ไว้ในกรงที่มีช่องขนาดเล็กเพื่อป้องกันหนูหรือแมว และถึงฤดูหนาวเอากระสอบมาพันกรงสูงเกินครึ่ง เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ลูกไก่ 2) แยกเลี้ยงไก่รุ่น โดยแบ่งช่องเลี้ยง แต่ละสายพันธุ์ เช่น ไก่ไข่ ไก่กระดูกดำ ไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่สวยงาม ฯลฯ โดยเลี้ยงบริเวณข้างๆ ขอบบ่อปลา

โรงเรือนเพาะกล้า
มีโรงเพาะชำขนาดเล็กสำหรับเพาะกล้าผัก และกล้าไม้ผล เช่น ทุเรียน มังคุด เพื่อนำไปปลูกบนคันสระให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น

แปลงปลูกผัก
เน้นการปลูกพืชผักที่หลากหลาย เพื่อบริโภคในครอบครัวเป็นหลัก และแบ่งปันญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน

บ่อตกปลา
แต่เดิมพื้นที่บ่อปลาเคยเป็นที่นา แล้วปรับมาเป็นบ่อปลาผสมผสาน โดยมีการเลี้ยงปลาในบ่อ ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกผักรอบๆ บ่อปลา และเคยเลี้ยงปลาโดยเฉพาะปลานิล เพื่อขายแต่พบว่ากำไรน้อย ไม่คุ้มกับค่าอาหารที่ราคา 500-600 บาทต่อกระสอบ อีกทั้งปลายโตไวทำให้ล้นตลาด จึงมาเปิดบ่อตกปลาซึ่งกลายเป็นรายได้หลักของแปลงในปัจจุบัน

หลักคิด การจัดการแปลงการผลิต
“สวนชวนธรรมชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน” เป็นการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีกระบวนการจัดการแปลงผลิต ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายสูงสุด คนในครอบครัวและชุมชนมีสุขภาพดี แข็งแรง อายุยืน มีมรดกให้ลูกหลาน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
  2. กำหนดเป้าหมายรอง มีอาหารปลอดภัยบริโภคเพียงพอและหลากหลายต่อเนื่อง มีสถาบันการเงินในชุมชนที่เข้มแข็งและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีรายรับมากกว่ารายจ่าย มีเงินฝาก
  3. ต้องรู้ทุนของตัวเองและทุนในชุมชน เพื่อนำมากำหนดการผลิต เช่น มีความรู้ มีองค์กรชุมชน มีตลาดในชุมชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย
  4. วางแผนรูปแบบการผลิต หลังจากได้วิเคราะห์ในส่วนต่างๆ แล้ว ให้พิจารณาลักษณะสภาพพื้นที่แล้ววางแผนการผลิตที่สอดคล้องเหมาะสม เช่น พื้นที่ลุ่ม ควรมีการเลี้ยงปลา ทำนา ปลูกไม้ผล ไม้ใช้สอย ผลผลิตที่ได้เน้นตลาดในท้องถิ่น ไม่เน้นตลาดที่ไกลชุมชน

5.วิเคราะห์รู้เขารู้เราโดยใช้ SWOT ว่ามีต้นทุนอะไรที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส เช่น จุดแข็งมีเงินทุน มีองค์ความรู้ พื้นที่เดิมที่เป็นบ่อปลา ฯลฯ จุดอ่อน คืออายุเพิ่มขึ้นแรงจัดการไม่ทั่วถึง โอกาส เรื่องเศษอาหาร ราคาวัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์จากสหกรณ์ต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรม รู้ว่าคนในชุมชนชอบบริโภคอะไร บริโภคอย่างไร ส่วนอุปสรรค อาจเป็นเรื่องวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น