การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผลกระทบกับการเกษตรในภาคใต้
ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
คำถามต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ….
- เราไม่สามารถทำงานองค์กรใด หน่วยงานใด คนใดคนหนึ่ง เพื่อเข้ามาจัดการรับมือหรือปรับตัวต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น แต่ต้องมีการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเกษตรกร เพื่อหนุนเสริมกันและกัน ตัวอย่างเช่น การกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้น ถึงแม้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกระทำของมนุษย์ ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เราควรทำอะไร อย่างไรร่วมกัน ?
- ในด้านนโยบาย ถึงแม้จะมีการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงในปี 2564 สมัยที่ 26 (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ เราจะเรียนรู้และจัดการอย่างไร หรือเราควรจัดการในระดับย่อย หรือระดับพื้นที่ก่อน ?
ปรากฏการณ์ที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศ
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญ ลานีญา และนอร์มอล (normal) หรือสภาพปกติ จำเป็นต้องเข้าใจและเรียนรู้ เพราะเกี่ยวข้องต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโดยภาวะปกติหรือนอร์มอล ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่กั้นระหว่างทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกา จะมีกระแสลมที่พัดจากด้านตะวันออกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกามายังประเทศอินโดนีเซียในทวีปเอเซีย ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญาจะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่กล่าวนั้น เกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งหรือฝนตกหนัก
ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซฟิกไปด้านตะวันตก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไหลไปยังทวีปอเมิรกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยจะขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ฝนจะตกในบริเวณทวีปอเมริกาใต้
ปรากฏการณ์ลานีญา เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตก แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และฝนตกหนักมากกว่าปกติ
ดังนั้น การเรียนรู้ว่าช่วงปีไหนจะเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้น เพื่อที่จะนำมาวางแผนในการรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นล่วงหน้า
ปรากฏการณ์ ก๊าซเรือนกระจก ในระบบธรรมชาติเมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงมาให้โลก แล้วสะท้อนกลับออกไปสู่ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจก จะทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนโลกดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม น้ำที่ระเหยขึ้นไปก็จับตัวเป็นก้อนเมฆเมื่อมีความชื้นที่เหมาะสมก็จะตกลงมาเป็นฝน แต่การทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หรือการขนส่ง หรือกิจกรรมครัวเรือน การเกิดก๊าซมีเทนจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ หรืออินทรียวัตถุต่างๆ รวมถึงก๊าซอื่นๆ เมื่อก๊าซเหล่านี้เมื่อลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศไปกระทบบริเวณที่มีความร้อนก็จะไล่เมฆบริเวณนั้นออกไปที่อื่น หรือดันให้เมฆอยู่สูงเหนือจากความร้อนขึ้นไป ซึ่งทำให้โอกาสเกิดฝนตกน้อยลง และหากมีปริมาณก๊าซที่สะสมมากเกินไปจะทำให้อุณหภูมิบนโลกสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ช่วงหลังจากปี 2523 หรือ 40 ปีที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส นั่นคือโลกจะค่อยๆ มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น และมีการทำนายกันว่าถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสทะเลอาจจะหายไป พันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์เปลี่ยนแปลง พืชออกผลไม่ตรงตามฤดูกาล และหากโลกยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการอย่างเป็นอยู่ โครงการด้านอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ป่าไม้ที่ถูกทำลายและลดลง ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ถึงแม้อุณหภูมิเปลี่ยนเล็กน้อยก็ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตก น้ำท่วม พายุ หรือความแห้งแล้ง หรือผลผลิตทางการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างภาคใต้ในอนาคตฝนจะหมดไปเลยหรือไม่ ปัจจุบันสังเกตได้ว่าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ตกกระจุกเป็นช่วงๆ อย่างในปีนี้ (2564) ฝนเริ่มตกในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปกติต้องตกในเดือนตุลาคม แต่ตกมาในปริมาณมาก รวมทั้งการก่อสร้างถนนหนทางที่ขวางกันทางไหลของน้ำ หรือการสร้างสะพานที่วางท่อน้ำขนาดเล็ก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างกรณีที่จังหวัดชุมพร
ข้อเสนอแนะ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ไม่ว่าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนตกในปริมาณมากในระยะสั้นๆ เกิดความแห้งแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรจึงได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แล้วจะรับมือ อยู่ร่วม และปรับตัวอย่างไร ?
สร้างความร่วมมือภาคีต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ เท่าทันและทำความเข้าใจสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เช่น รู้ว่าปีไหนเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือลานีญา เรียนรู้และเข้าใจการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น นโยบายที่เกี่ยวข้อง สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ ฝนตกปริมาณมาก แห้งแล้ง ผลผลิตเสียหาย มีโรคระบาด พื้นที่มีสิ่งก่อสร้างถนนหนทาง มีการถางป่าทำลายต้นไม้ เกิดการกัดเซาะของชายฝั่ง ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือหน่วยงาน องค์กร ภาคประชาสังคม เกษตรกรในพื้นที่ตามความรู้ ประสบการณ์และบทบาทที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาวิชาการหนุนเสริมชุมชนในการแก้ปัญหาที่ไปสู่ความยั่งยืน นำข้อมูลทั้งระดับพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การจัดการแหล่งน้ำสถานการณ์ระดับประเทศหรือโลก นโยบายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ผ่านงานศึกษาวิจัย เพื่อให้เห็นภาพรวมแล้วนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตั้งรับ ปรับตัว รวมทั้งการเริ่มต้นจากทุกๆ คนในครัวเรือนอย่างง่ายๆ เช่น การปลูกต้นไม้รอบๆ บ้าน การคัดแยกขยะ การทำก๊าซชีวภาพ ซึ่งเหล่านี้ต้องจัดการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้าจับโอกาสได้ทุกอย่างจะเกิดและเป็นสิ่งที่ทำได้
Leave a Reply