การสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก”คุณสุชาญ ศีลอำนวย ผู้จัดการโครงการ และเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation)

EP.1 ภาวะโลกร้อนกับภาคเกษตรกรรม

“โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี” บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าโลกร้อน ดังภาพที่ 1 แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้น มีมาจากหลายปัจจัยอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับภาคการเกษตรที่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุทำให้โลกร้อน หลักสำคัญเกิดการเปลี่ยนระบบการทำเกษตรจากพื้นบ้านที่ไม่ใช้สารเคมีมาเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่ส่งผลให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เพิ่มขึ้นดังภาพที่ 2

ภาวะโลกร้อนกับภาคเกษตร

การใส่อินทรียวัตถุลงไปในดิน แล้วมีตัวจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลาย ภายใต้สภาวะที่ไม่มีออกซิเจนทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกันกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไปในดิน ปุ๋ยไนโตรเจนจะเปลี่ยนเป็นไนตรัสออกไซด์ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังภาพที่ 3 หากปุ๋ยไนโตรเจนปนเปื้อนน้ำใต้ดินทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ซึ่งสารไนเตรทเป็นส่วนหนึ่งที่ไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์

ภาพที่ 3 การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร

ภาพที่ 4 แปลงงานศึกษาวิจัยของ MOA เพื่อศึกษาความแตกต่างการปลดปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ โดยแบ่งพื้นที่การปลูกพืชใน 3 ลักษณะ คือ แปลงใช้ปุ๋ยเคมี แปลงใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ และแปลงใช้ปุ๋ยหมักจากใบไม้/ใบหญ้าหรือปุ๋ยหมักธรรมชาติ ผลปรากฏว่า แปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นแปลงที่มีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์มากที่สุด รองลงมาคือแปลงที่ใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ สำหรับแปลงที่ใส่ปุ๋ยหมักจากใบไม้/ใบหญ้า หรือปุ๋ยธรรมชาติ หรือปุ๋ยเกย์ซึ่งเป็นชื่อเรียกปุ๋ยชนิดนี้ของ MOA (เป็นปุ๋ยที่ไม่มีส่วนผสมของมูลสัตว์) ซึ่งปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์น้อย และมีการเก็บก๊าซมีเทนไว้ในดินโดยไม่ปลดปล่อยออกมาในอากาศ

ภาพที่ 4 แปลงงานวิจัยเพื่อศึกษาการปลดปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ โดย MOA

และการเก็บข้อมูลผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน พบว่าน้ำใต้ดินบริเวณที่เพาะปลูกด้วยปุ๋ยเคมีจะมีปริมาณไนเตรทจากไนโตรเจนปนเปื้อนมากกว่าบริเวณเพาะปลูกด้วยปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ และปุ๋ยหมักธรรมชาติ ดังนั้น หากมีการดึงน้ำใต้ดินในบริเวณที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้โดยตรง

จึงกล่าวได้ว่า หากมีการใช้ปุ๋ยเคมีมากเท่าใดก็จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ในปริมาณมากก็มีผลทำให้เกิดแก๊สมีเทนและทำให้เกิดการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์ออกมาเช่นกัน แต่อยู่ในปริมาณที่น้อยกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้น การใส่ปุ๋ยธรรมชาติที่หมักจากเศษใบไม้ ใบหญ้า ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนน้อยมากจากการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์เพียงเล็กน้อย