การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวเชิงระบบ
คุณพูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ฝนตกไม่ตกต้องตามฤดูกาล การมีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น มีแสงแดดที่จัด เกิดลมพายุที่มีมากกว่าเดิม ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกษตรกรต้องทำความเข้าใจลักษณะนิเวศในแปลงเกษตรของตน ต้องวิเคราะห์แรงงาน และต้นทุนที่มี เพื่อนำมาวางแผนในการตั้งรับปรับตัว
ตัวอย่างการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่สนามชัยเขต เริ่มต้นเกษตรกรต้องตระหนักและศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนในการสร้างทางเลือกการผลิตที่มีความยืดหยุ่น หรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ภายใต้การมีความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร ทั้งนี้ภายในแปลงเกษตรต้องมีพืชผักหลายพื้นบ้านหลากหลายชนิด มีการจัดการแหล่งน้ำที่เพียงพอ รวมไปถึงการปรับเวลาทำงานในแปลงเป็นช่วงเช้าและเย็น แทนการทำงานกลางวันที่มีอุณหภูมิที่สูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบการทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นอยู่ของพื้นที่สนามชัยเขต โดยภาพรวมแล้วเป็นแนวทางที่สอดคล้องต่อการปรับตัวของเกษตรกร เนื่องด้วยระบบได้คำนึงถึงการฟื้นฟูและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ถึงแม้ภายใต้ระบบจะมีกิจกรรมหลักของการทำเกษตรก็ตาม
1) ระบบนาข้าว เป็นระบบที่เพิ่มการใช้กลไกธรรมชาติในการควบคุมระบบนิเวศ เช่น การขุดร่องน้ำรอบๆ แปลงเพื่อกักเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำออกจากแปลง ปลูกหญ้าแฝกหรือต้นไม้โดยรอบ เพื่อสร้างระบบนิเวศในแปลงนา สร้างอาหาร เพิ่มรายได้และช่วยกักเก็บคาร์บอนในดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วหลังเกี่ยวข้าวเพื่อบำรุงดิน หรือปลูกข้าวโพด ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์เพื่อลดความเสี่ยง หรือการเลือกพันธุ์ข้าวไม่ไวแสงมาปลูกเนื่องจากการตกของฝนที่ขยับออกไปจากเดิม ดังภาพที่ 1 รอบแปลงนาปลูกที่หลากหลายชนิดและชั้นเรือนยอด เช่น สะเดา ไผ่ กล้วย แต้ว มะพร้าว ขนุน ลำไย มะเฟือง กระเจียว หญ้าคา หญ้าแฝก ฯลฯ วิธีการนี้ สามารถกระจายผลผลิตในแปลงนาให้หลากหลายลดความเสียงที่เกิดขึ้นได้
2) ระบบพืชยืนต้น เป็นระบบเน้นการปลูกพืชที่เป็นไม้ยืนต้นที่ผสมผสานตามลักษณะเรือนยอด เช่น ปลูกกล้วยหอมผสมผสานพืชสวนครัวทั้งบริโภคและจำหน่าย ปลูกไผ่กิมซุง หรือไผ่ตงในแปลง แล้วปลูกไม้ใช้ประโยชน์เป็นรั้งเขตแดน เช่น กระถินเทพา มะรุม มะไฟ กล้วย ขนุน ผสมผสานกันไป รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ขนาดเล็กปลูกพืชล้มลุก เช่น พืชตระกูลหัว พืชผัก ที่สร้างรายได้รายวันให้ครอบครัว ระบบการปลูกและการจัดการเช่นนี้ สามารถใช้แรงงานเพียงคนเดียวในการดูแลหลัก แต่มีรายได้เกือบตลอดปี และมีการพักดินเพื่อรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม ดังภาพที่ 2 เป็นตัวอย่างของการปลูกกล้วยและไม้ยืนต้น โดยมีการปลูกผักเพียงเล็กน้อย
3) ระบบสวนผสมผสาน และระบบสวนพืชหลายชั้นเรือนยอด เป็นระบบสวนผสมแบบดั้งเดิมของชุมชนชนบท เมื่อตั้งบ้านเรือนแล้วก็มักปลูกพืชที่ใช้บริโภคหรือใช้สอยในครัวเรือนไว้รอบบริเวณบ้าน โดยมีทั้งไม้ผล ไม้ล้มลุก และพืชผัก โดยเฉพาะเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น ปลูกมะม่วง กระท้อน สะเดาเป็นชั้นบน มีมะพร้าว เพกา ที่มีเรือนยอดโปร่งเป็นไม้ชั้นรองเพื่อให้ไม้ผลต้นเล็กได้รับแสงแดดที่พอเหมาะ เช่น ส้มโอ มะนาว ลำไย หรือไม้พุ่มในชั้นต่ำลงมา เช่น มะนาว แต้ว หม่อน ชะอม ส่วนพืชชั้นล่างเป็นพืชทนร่ม มีอีกสองระดับ ระดับแรกเป็นพวกหวาย กระพ้อ กล้วย และพืชหัว เช่น กระเจียว ข่า เป็นต้น สำหรับระบบหลายชั้นเรือนยอด เป็นการปลูกไม้ยืนต้น หรือการรักษาไม้ยืนต้นเดิมในท้องถิ่นไว้ แล้วปลูกไม้อื่นๆ รวมทั้งพืชล้มลุกเข้าไปในลักษณะเลียนแบบป่า
ในงานวิชาการได้มีการยืนยันว่า ระบบสวนผสมและพืชหลายชั้นเรือนยอด มีคุณค่าในทางนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มาก แต่การวางแผนปลูกและจัดการมีความเข้มข้นซับซ้อน และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจขึ้นกับความถี่ในการเก็บเกี่ยว จึงนับว่าเป็นระบบที่สร้างทั้งแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และสร้างความเกื้อกูลและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ในมิติของภูมิอากาศระดับย่อยในแปลงการผลิตนั้น สามารถลดความแรงลม เพิ่มความชื้นในดินและอากาศ สร้างอินทรียวัตถุในการปรับปรุงดินจากเศษใบไม้ที่ร่วงลงผุเปื่อย ที่ลดการนำเข้าปุ๋ยต่างๆ ได้ คือช่วยลดการนำเข้าในการใช้ปุ๋ยต่างๆ ภาพที่ 3 แสดงระบบสวนผสม หรือระบบสวนพืชหลายชั้นเรือนยอด
4) ระบบสวนรอบบ้านไม้ยืนต้นผสมพืชผัก เป็นรูปแบบหนึ่งมีคุณค่าในการรักษาความยั่งยืนของระบบนิเวศซึ่งถือเป็นระบบวนเกษตรอีกรูปแบบหนึ่ง และช่วยสร้างความหลากหลายของวิถีชีวิตชุมชน มีศักยภาพต่อการลดทอนความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสวนรอบบ้าน ไม่ว่าแปลงจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็มีคุณค่าทางระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ-สังคม ในระบบสวนรอบบ้านมีซากพืชที่มาจากทั้งวัชพืช และใบไม้ที่ร่วงหล่นเป็นปุ๋ยบำรุงดินและช่วยรักษาความชื้นในดิน การหมุนเวียนธาตุอาหาร ทั้งนี้ เกษตรกรต้องมีการจัดการดูแล โดยเฉพาะ การตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต เช่น ปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เน้นการบริโภคในครัวเรือน มีเหลือถึงขายหรือแบ่งปัน นอกจากนั้นอาจปลูกผักระยะสั้นตามฤดูกาลเสริม ดังภาพที่ 4 เป็นการปลูกสวนไม้ผลและพืชผักรอบบ้านที่สามารถสร้างอาหารและรายได้
Leave a Reply