การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคตะวันออก

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวเชิงระบบ

คุณระตะนะ ศรีวรกุล ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

       กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลนนทรี ตำบลกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นผู้ชายและสูงอายุ ดังนั้น ก่อนปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ทุกคนมีประสบการณ์ทั้งการทำเกษตรเคมี เกษตรธรรมชาติ การปลูกพืชผักแบบรั้วกินได้ กระบวนการเปลี่ยนมาสู่การทำเกษตรอินทรีย์จึงไม่ยากนัก โดยเฉพาะในวัยสูงอายุจึงเลือกปลูกพืชที่มีอายุยาว เพราะไม่ต้องไปทำแปลงบ่อยแต่สามารถเก็บกินได้นาน อย่างบริเวณพื้นที่ของกลุ่มสมาชิกเลือกทยอยปลูกจิงจูฉ่ายในเนื้อที่ 1 ไร่ ผันตามความต้องการของตลาด สำหรับแปลงเกษตรในครอบครัวสมาชิกเลือกปลูกพืชผักผสมผสาน มีการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล เช่น ส้มโอ ไม้ผลระดับกลางเช่น มะละกอ รองลงมาพริก มะเขือ ส่วนระดับเรี่ยดิน เช่น จิงจูฉ่าย วอร์เทอร์เครส ฯลฯ โดยสมาชิกมีการเรียนรู้ลักษณะของพืชว่า ชอบอยู่ในภูมินิเวศใดก็จะปลูกตามที่พืชต้องการในบริเวณนั้น

 การปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

       พื้นที่มีการปรับตัวด้วยการปลูกพืชต่างระดับในแปลง เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ใช้แรงงานน้อย มีปุ๋ยที่เกิดจากการย่อยเศษใบไม้ในแปลง และให้ผลผลิตที่หลากหลาย เช่น ส้มโอ มะละกอ กล้วยหอม กล้วยไข่ จิงจูฉ่าย วอร์เทอร์เครส ฯลฯ มีสมาชิกเพียงร้อยละ 20 ที่เลือกปลูกผักจีน โดยผลผลิตที่เกิดขึ้นสามารถนำไปจำหน่ายได้ทั้งหมด ระบบการผลิตพืชแบบนี้มีความสอดคล้องกับความเป็นอยู่ และบริบทในพื้นที่ จึงทำให้เกิดการขยายสมาชิกเพิ่มขึ้น ด้วยเห็นว่า เป็นระบบที่มีความยั่งยืน และเป็นแนวทางหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มได้ยึดหลักในการทำงาน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ดังต่อไปนี้

       1) ต้องมีกระบวนการกลุ่ม หากไม่มีกระบวนการรวมกลุ่ม สมาชิกแต่ละรายจะไม่นำระบบดังกล่าวไปทำที่บ้าน โดยอ้างถึงข้อจำกัดต่างๆ แต่กระบวนการกลุ่มจะช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตามผล ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญการรวมกลุ่มทำให้สมาชิกแต่ละรายมีความสุข ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในวัยสูงอายุ แต่เดิมที่รอคอบความช่วยเหลือจากรัฐ ลูกหลานช่วยส่งเงินมาให้ แต่หลังจากทำเกษตรอินทรีย์ทำให้มีรายได้ที่พอพึ่งตนเองได้ 3,000 – 10,000 บาททุกเดือน

       2) การทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่าย นอกจากการรวมตัวสมาชิกในกลุ่มกันเองแล้ว ต้องมีการประสานความร่วมมือกลุ่มอื่นๆ เพื่อรวมกันเป็นเครือข่ายทั้งในและต่างจังหวัด เช่นการประสานกับ กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว กลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงบัง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในวงกว้าง ทั้งลักษณะการปลูกพืชที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่เขาไม้แก้ว หรือกลุ่มดงบัง ที่ส่วนใหญ่สมาชิกเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้วิถีชีวิตหรือวิธีคิดการจัดการรูปแบบการผลิตที่ต่างกัน มีการปลูกพืชผักที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ มีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่เหมาะกับพื้นที่ ซึ่งทำให้กลุ่มได้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

       3) การจัดการด้านตลาด สมาชิกมีการวางแผนร่วมกันในการผลิตพืชผัก ตัวอย่างการปลูกจิงจูฉ่ายที่กลุ่มเริ่มต้นซึ่งทุกวันนี้ได้ขยายไปทั้งจังหวัด มีการปลูกทุกลุ่มโดยผลผลิตจะส่งให้กับร้านเลม่อนฟาร์มในราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม และขายให้กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่มาซื้อในพื้นที่ หรือผ่านทางออนไลน์ในราคา 40-100 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการกระจายผลผลิตให้กับทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ไม่ว่าพืชผัก และสมุนไพรต่างๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน บอระเพ็ด มะระ ฯลฯ โดยในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้สมาชิกกลุ่มได้ปลูกฟ้าทะลายโจรเพิ่มมากขึ้นทั้งเป็นใบสดหรือตากแห้ง   

       4) การทำงานสื่อสารกับคนภายนอก ซึ่งกลุ่มได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการเผยแพร่สื่อสารงานของกลุ่มจนได้รับการยอมรับ และร่วมกันผลักดันงานเชิงนโยบายสาธารณะ เช่น ธรรมนูญอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับหน่วยงานราชการระดับจังหวัดทำ MOU เพื่อร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เช่น การรับซื้อผลผลิตเข้าโรงอาหารโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อขยายผลเกษตรอินทรีย์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาที่ดิน กองทุนฟืนฟูและพัฒนาเกษตรกร สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ

 การฟื้นฟูระบบนิเวศ

       จากกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้น ถือเป็นการจัดการแบบองค์รวมที่ส่งผลให้ระบบนิเวศในพื้นที่ดีขึ้น จากระบบการจัดการแปลงที่มีการผสมผสานของไม้ใหญ่มีต้นสูง ต้นกลาง ต้นเตี้ย ต้นเรี่ยดิน หากเปรียบเทียบในช่วงทำนาที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีส่งผลให้ปลา กบ เขียด ในนาหาไปซึ่งในปัจจุบัน พบว่าในนามีปลามากขึ้น ระบบนิเวศมีการฟื้นฟูสมดุลขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตในการหาอาหารจากธรรมชาติเริ่มกลับมา ทำให้เกษตรกรมีอาหารและสร้างรายได้จากการจับหาปลาในนาและแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการเข้าไปหาอาหารในป่าก็มีความสมบูรณ์ของพืชผักธรรมชาติ เช่น เห็ด ผักหวานป่า หรือผักป่าที่หลากหลาย

 การจัดการน้ำ

       กลุ่มได้ร่วมกันประเมินว่า พื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากนัก แต่ที่อาจกระทบบ้าง คือการมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการทำเกษตร ดังนั้น ในช่วงปี 2558-2562 จึงได้มีการขุดบ่อน้ำตื้น เพื่อปั๊มน้ำขึ้นมารดผัก หากเป็นฤดูแล้งต้องวางแผนการรดน้ำสลับกันในแต่ละโซนของแปลง เช่น แบ่งรดน้ำช่วงเช้า/เย็น จากภาวะขาดแคลนน้ำทำเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ทางกลุ่มได้ทำเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่ม ในช่วงปี 2563-2564 ผ่าน 2 ระบบ คือ 1) การกักเก็บน้ำจากหลังคาช่วงฝนตกไปเก็บไว้ในบ่อ และ 2) การขุดสระใหญ่ประมาณ 2 ไร่ ที่ระดับความลึกประมาณ 6 เมตร เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำหลักของกลุ่มที่สามารถมาใช้ในช่วงบ่อน้ำในแปลงเกษตรขาดแคลน