การปรับตัวของเกษตรกรในนิเวศภูเขา
กรณีชุมชนบ้านหนองจาน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
คุณถนัด แสงทอง เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดขอนแก่น
ชุมชนบ้านหนองจาน ตั้งอยู่เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเลยติดกับภูกระดึง บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 530 เมตร มีลักษณะเป็นเขาหินปูน คนในชุมชนทำการเกษตรในพื้นที่ระดับความสูงที่ 400-500 เมตร โดยปลูกพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ในพื้นที่ลาดชัน ส่วนบริเวณที่ “ฮ่อม หรือ ร่องน้ำ” ที่พอจะกักน้ำได้ใช้ทำนา
ระบบนิเวศของชุมชนบ้านหนองจาน
ชุมชนหนองจานมีระบบนิเวศย่อยในหลายลักษณะ หากเป็นพื้นที่สูงสุดซึ่งเป็นที่โนน มีลักษณะดินเป็นดินดำ ดินหินปูนขนาดเล็กบางแห่งมีหินก้อนใหญ่โผล่ ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ชุมชนจึงใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าวไร่ และปลูกมันสำปะหลัง หากเป็นพื้นที่ลาดเอียง จะมีลักษณะดินเป็นดินทรายผสมดินลูกรัง ด้านล่างลึกไปเป็นหินสีดำ เวลาไถจะเห็นลูกรังโผล่ชัดเจน การใช้ประโยชน์พื้นที่จะปลูกพืชไร่ที่ไม่ต้องให้น้ำ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ผล เช่น ลิ้นจี่ ลำไย มะขามหวาน กาแฟ เป็นต้น สำหรับพื้นที่ราบขนาดเล็ก หรือเป็นร่องน้ำ (ฮ่อง) ลักษณะดินเป็นดินทรายออกขาว เป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูฝน สามารถเก็บน้ำได้ ใช้ประโยชน์ในการทำนา ซึ่งมีทั้ง ข้าวดอ เช่น กข.12 กข. 9 ข้าวกลาง เช่น สันป่าตอง และข้าวนาปี เช่น กข. 6
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
การเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชนจากทั้งหมด 1,810 ไร่ สามารถแบ่งพื้นที่ได้เป็น 5 ส่วน คือ ที่ตั้งบ้านและพื้นที่ทำสวน 100 ไร่ ป่าชุมชน 300 ไร่ ที่นา 300 ไร่ สวนผลไม้ ประมาณ 300-400 ไร่ และพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลังประมาณ 1,000 ไร่ ดังภาพที่ 1 แสดงภาพตัดขวาง การใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
บ้านหนองจานเคยเป็นชุมชนที่ปลูกข้าวไร่ แต่หลังจากเผชิญกับภาวะภัยแล้งโดยเฉพาะปี 2561-2562 ที่ถือเป็นช่วงปีที่แล้งมาก โดยเทียบระดับปริมาณน้ำฝนในภาพรวมของอำเภอชุมแพที่ปกติอยู่ในระดับ 1,200 มม. พบว่าระดับน้ำฝนลดลงเหลือกว่า 600 มม. จากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตของปลูกข้าวไร่ไม่ได้ผล จนเกษตรกรลดการปลูกข้าวไร่ลง ซึ่งทำให้พันธุ์ข้าวไร่เกิดการสูญหายอีกครั้ง จากที่ชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานเกษตรทำวิจัยการปลูกข้าวไร่มา 10 ปีจนมีพันธุ์ข้าวไร่ในชุมชนกว่า 40 กว่าสายพันธุ์ เหลือเพียง 5-6 สายพันธุ์ นอกจากนี้ ภัยแล้งได้ทำให้ไม้ผลมีผลผลิตลดลง
อย่างไรก็ตาม จากที่ชุมชนได้มีการร่วมกันแบ่งแนวเขตพื้นที่ป่าชัดเจน หรือมีการปลูกไม้ผลหลกหลายชนิด ทำให้ผลกระทบจากไฟป่าในฤดูแล้ง และน้ำไหลหลากในฤดูฝนน้อยมาก อย่างเห็นได้ชัดในปี 2564 ที่พื้นที่ใกล้บ้านหนองจาน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ทำไร่อ้อยเกิดปัญหาดินถล่ม ในขณะที่บ้านหนองจานไม่เจอปัญหาดังกล่าว
การปรับตัวของชุมชน
หลังจากการเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คนในชุมชนบ้านหนองจาน มีการปรับตัวในหลากหลายมิติ คือ
- ลดพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจลง แล้วหันมาปลูกไม้ผลที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กล้วย มะละกอ มะขามหวาน กาแฟ ลิ้นจี่ โกโก้ อโวคาโด ฯลฯ จากบทเรียนที่ว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูง จากใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น ดังภาพที่ 2 เป็นภาพแปลงกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ในพื้นที่ลาดชัน และภาพ 3 แปลงสวนผลไม้ที่มีความหลากหลายของผลผลิต
- รักษาทรัพยากรป่าไม้ จากที่ตั้งของชุมชนและพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ จึงมีแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยลดการไถ และเผาพื้นที่ หันมาปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด
- ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ที่ผ่านมาชุมชนมีปัญหาเรื่องข้าวไม่พอกิน เนื่องจากภัยแล้งและการปลูกพันธุ์ข้าวที่ไม่หลากหลาย ชุมชนจึงได้ปรับตัว โดยหันมาปลูกข้าวหลายสายพันธุ์และหลากประเภทมากขึ้น คือ ข้าวดอหรือข้าวอายุสั้น ได้แก่ กข.10 กข.12 ข้าวกลาง เช่น พันธุ์สันป่าตอง และข้าวนาปี เช่น กข.ข้าวอีเตี้ย และเลือกปลูกข้าวไร่ เช่น พันธุ์แก่นดู่ เพื่อที่จะให้มีความมั่นคงทางอาหารเรื่องข้าวได้
Leave a Reply