สถานการณ์ข้าวกับชาวนาและการรับมือภาวะวิกฤติ(นโยบายที่(ไม่)ช่วยแก้ปัญหา)

         วิกฤตอาหารและวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญขณะนี้ ยังคงอยู่ระหว่างการรับมือและยังคงไม่มีแนวทางการตั้งรับหรือแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ความเจ็บช้ำที่ยังคงอยู่กับเกษตรกรและชาวนาแม้ราคาของสินค้าหลายอย่างจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำและมีข่าวผลผลิตล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

         งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน ที่บ้านสวนซุมแซง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดร. ประภาส  ปิ่นตบแต่ง
ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าวในประเทศ และคาดการณ์การรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้

[นโยบายที่(ไม่)ช่วยแก้ปัญหา]

         นโยบายที่เข้ามาสนับสนุนราคาข้าวที่ต่ำ เช่น นาอินทรีย์ล้านไร่ กลุ่มนาแปลงใหญ่ (มีเงื่อนไขให้ผลิตแบบ GAP) แต่งบประมาณที่จัดสรรมาเน้นแต่การอบรม เห็นว่าควรเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการใช้ทรัพยากรไปกับโครงการเหล่านี้ ว่าแก้ไขปัญหาราคาข้าวต่ำได้จริงหรือไม่ นโยบายที่ออกมาช่วยเหลือเกษตรกร ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้ เช่น นโยบายประกันราคาข้าว ที่ไม่ได้ประกันราคาต้นทุนการผลิต

[ทิศทางของชาวนา]

         การปรับตัวของชาวนาจึงสิ่งสำคัญ ควรปลูกพืชให้หลากหลาย ไม่ควรปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว การตลาดของข้าวควรเน้นการบริโภคภายในประเทศ คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าวถุง (ข้าวที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ/ซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป) สัดส่วนทางการตลาดประมาณ 6-7 ล้านตัน สะท้อนให้เห็นว่ามีความต้องการปริมาณมาก

         สถานการณ์ข้าวถุงก็ไม่ต่างกับทิศทางการส่งออกข้าว เพราะเป็นข้าวที่คุณภาพไม่สูงและราคาไม่แพงมาก (ประมาณ 33 บาทต่อกิโลกรัมข้าวสาร) เพื่อให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึงได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวนามีกำไรมากขึ้น เพราะชาวนาต้องแบกรับต้นทุนการผลิต และหากไม่สามารถสะสมไว้ขายในช่วงที่ราคาดีได้ ชาวนาก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้

         ตลาดข้าวอินทรีย์ก็ถือว่าแคบลงเพราะต้องแข่งขันกันเอง (มีผู้ผลิตมากขึ้น) แม้ตลาดของข้าวอินทรีย์จะเติบโตขึ้น แต่การแข่งขันก็ถือว่าสูงขึ้นมากด้วย ช่องทางที่จะทำให้แข่งขันได้คือ ต้องเป็นเจ้าของพันธุ์ ใช้พันธุ์ของตัวเอง สร้างเศรษฐกิจตัวเอง นำผลผลิตไปหาตลาด (ตลาดเฉพาะ) รวมตัวกันนำเอานวัตกรรมเข้ามาทุนแรง ชาวนาไม่ควรยืนอยู่บนเศรษฐกิจขาเดียว ต้องผลิตหลากหลาย (เศรษฐกิจหลายขา)