เวทีเสวนา “วิกฤติโลกร้อน ภาวะเศรษฐกิจ”: ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับภาคเกษตร และแผนปรับตัวภาคเกษตรของประเทศไทย (ปัญหา ข้อจำกัดและโอกาส)
โดย ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน คือ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุณหภูมิโลก แต่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นไม่ใช่เรื่องของอุณหภูมิเพียงอย่างเดียวแต่มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น/ลดลง รวมถึงการเกิดลม พายุ ฯลฯ โดยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะมีภาพที่กว้างกว่าทั้งการเพิ่มขึ้นและลดลงของอุณหภูมิ รวมทั้งการขยับฤดูกาลของการทำเกษตรที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนแต่ละปี และปรากฎการณ์สุดขั้วที่เกิดขึ้น
สาเหตุการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
หากมองย้อนไปยังกิจกรรมที่ในภาคพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังชั้นบรรยากาศ และในภาคการเกษตรมีการปล่อยมีเทนในนาข้าวนั้น ก๊าซกลุ่มนี้มีความสามารถพิเศษในการเก็บกักความร้อนและทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในปริมาณน้ำฝนหรือการละลายของหิมะหรือธารน้ำแข็ง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1) เหตุการณ์สุดขั้วของสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อนหรือภัยแล้ง ซึ่งภาวะสุดขั้วนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างเช่นน้ำท่วมที่ท่วมไม่กี่วันก็จะหายไปที่พอเกิดขึ้นแล้วสามารถประเมินผลกระทบว่าเป็นอย่างไร และ 2) ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างเช่นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด หรือการเพิ่มขึ้นของการละลายธารน้ำแข็ง/หิมะที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยสองเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้เกิดผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวสะสมที่สุดท้ายจะส่งผลให้เกิดความเสียหาย ความสูญเสีย ที่ไม่สามารถกลับมาเหมือนแบบเดิมได้
ระบบการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาคการเกษตรมีความสัมพันธ์ใน 3 มิติ กล่าวคือ 1) ภาคเกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภาคการเกษตรในไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 14.72%, 2) ในขณะเดียวกันภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน, และ 3) หากมีการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ภาคการเกษตรจะมีศักยภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บคาร์บอน ส่วนสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อความเสียหายด้านการเกษตรของไทยนั้นคือเรื่องภัยน้ำท่วม ที่ในแต่ละภาคได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมค่อนข้างมากและเห็นผลกระทบทุกปี ดังเช่นในปี 2560 มีพื้นที่เกษตรประมาณ 5 ล้านไร่ที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก กรณีน้ำท่วมในภาคใต้ก็มีผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจอย่างเช่นยางพารา ซึ่งจากการศึกษาที่นอกจากต้นยางพาราที่โค่นล้มยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นของยางพารา เช่น การผลัดใบของยางพาราที่ผิดปกติ การเกิดโรคระบาดทางใบ คุณภาพน้ำยางต่ำลง และประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงของต้นยางพาราลดลง อีกส่วนที่สร้างความเสียหายในภาคเกษตรคือภัยแล้งดังเช่นในปี 2563 จะเห็นผลกระทบจากภัยแล้งมีค่อนข้างมาก
ผลผลิตทางการเกษตรกับปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ
จากการศึกษาที่ผ่านมาจะพบว่าข้าวมีผลกับปริมาณน้ำฝนรายปีซึ่งอยู่ในแง่ที่เป็นบวก กล่าวคือ ปริมาณน้ำฝนที่มากจะทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวดี แต่ในขณะเดียวกันถ้าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นผลผลิตข้าวก็จะลดลง จากการศึกษาผลกระทบต่อภาคเกษตรในอนาคต ช่วงปี พ.ศ.2589-2598 หากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นมีความรุนแรงหรือมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับกลางและสูงนั้น กรณีผลผลิตข้าวพบว่าจะมีผลผลิตลดลง 10-13% ซึ่งระดับการลดลงนี้จะแตกต่างกันในแต่ละภาค อย่างเช่นในพื้นที่ตะวันออกและอีสานนั้นผลผลิตจะลดลงค่อนข้างมาก กรณีผลผลิตอ้อยอาจลดลงประมาณ 24-35% โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่มีผลผลิตลดลงมากกว่าภาคอื่น ส่วนผลผลิตมันสำปะหลังอาจลดลงประมาณ 15-21% ซึ่งพื้นที่มีการปลูกมันสำปะหลังในภาคกลางและภาคตะวันออกบางส่วนจะมีระดับปริมาณผลผลิตลดลงมากกว่าภาคอื่น ส่วนยางพาราจะลดลงประมาณ 3-5% ซึ่งมีสัดส่วนการลดลงที่น้อยหากเทียบกับปริมาณผลผลิตอื่น
เป้าหมายหลักของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายหลักของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นมี 3 ประการ คือ 1) การเพิ่มความสามารถในการปรับตัว 2) การลดความเปราะบางคือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และ 3) การสร้างความเข้มแข็งภูมิคุ้มกัน โดยการปรับตัวนั้นต้องมีการป้องกันควบคู่กับการสร้างความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร การดำรงชีวิตและการพัฒนา รวมถึงการเพิ่มความคุ้มกันในแง่โครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ โดยเฉพาะเรื่องการนำใช้ภูมิปัญญา ซึ่งคนในชุมชนมีความเข้าใจดีกว่านักวิชาการที่อยู่ในส่วนกลางในเรื่องวิธีการปรับตัวเพราะคนในพื้นที่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดังนั้นการนำใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ บ้านสวนซุมแซง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
Leave a Reply