เวทีเสวนา “วิกฤติโลกร้อน ภาวะเศรษฐกิจ”: โลกร้อน กับเศรษฐกิจ สงคราม และความมั่นคงทางอาหาร
โดย ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ประเด็นที่ยังคงทำให้คลุมเครือในเรื่อง“สาเหตุของโลกร้อนหรือการเกิดขึ้นของก๊าซเรือนกระจกของโลกมาจากไหน” หรือผลจากการวิจัยที่กล่าวว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ทำให้โลกร้อนยิ่งกว่าเกษตรเคมี” ในกรณีการเกิดโลกร้อนนั้นในทางวิทยาศาสตร์ที่มีการเก็บข้อมูลโดยคณะกรรมการระดับโลกได้มีการระบุชัดเจนว่า ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนั้นเป็นความร้อนที่มนุษย์ทำ คำว่า “มนุษย์ทำ” ในที่นี้หมายถึงอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมที่ใช้พลังงานซึ่งถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 70 อุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ บริษัทก๊าซธรรมชาติ บริษัทถ่านหินขนาดใหญ่ ฯลฯ ดังนั้นเพื่อสร้างความชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนนั้นไม่ใช่เกษตรกรแต่เป็นนายทุนขนาดใหญ่ที่มาจากอุตสาหกรรมพลังงาน
ในส่วนภาคการเกษตรที่ถูกมองว่าเป็นภาคที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น หากคิดเป็นสัดส่วนของโลกเทียบกับภาคอื่นอยู่ที่ประมาณ 14% โดยในประเทศไทยเฉพาะกรณีข้าวพบว่าปล่อยก๊าซมีเทนเป็นอันดับ 4 ของโลก (อันดับหนึ่งคือจีน รองลงมาอินเดีย อินโดนีเซีย ตามลำดับ) จึงทำให้ภาคเกษตรถูกมองเป็นภาคส่วนที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อน คำถามคือทำไมภาคเกษตรถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากนั้น เนื่องจากประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมา ได้มีการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเกือบ 800% ปุ๋ยเคมีทำมาจากปิโตรเคมีที่เป็นฟอสซิลที่นำมาผลิตเป็นปุ๋ยไนโตรเจนที่นำไปเติมในดิน ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยของสถาบันเกษตรในต่างประเทศหลายแห่งระบุตรงกันว่า ถ้าภาคเกษตรจะลดภาวะโลกร้อนได้นั้นต้องเลิกการทำเกษตรเคมี โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมีที่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ฟาร์มคาร์บอน
ด้วยภาคเกษตรถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงเริ่มเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ในพื้นที่ทางการเกษตร ดังเช่นในอดีตที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้อที่ดินเพื่อมาผลิตตอาหาร แต่ปัจจุบันเกิดรูปแบบการลงทุนใหม่ที่เรียกว่า “ฟาร์มคาร์บอน” เช่น บริษัทคาร์กิว ซึ่งเป็นบริษัทเคมีขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับเกษตร เช่น บริษัทไมโครซอฟต์ ได้พยายามหาพื้นที่ในประเทศต่างๆ เช่น บราซิล อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย ฯลฯ เพื่อหาพื้นที่เกษตรในการลงทุนเชิงเชิงเกษตรพันธสัญญาร่วมกับเกษตรกร คำถาม “นักลงทุนกลุ่มนี้จะได้อะไรจากฟาร์มคาร์บอน” นั้น สิ่งที่ได้คือนักลงทุนจะนำไปอ้างเป็นคาร์บอนเครดิตของการดำเนินธุรกิจได้ เพื่อนำไปชดเชยในการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่บริษัทหรือนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าเดิม ซึ่งในไทยยังอาจเห็นภาพไม่ชัดแต่ในต่างประเทศธุรกิจฟาร์มคาร์บอนกำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่เกิดการขยายตัวมาก
นอกจากนี้นวัตกรรมการทำฟาร์มคาร์บอนยังมีความเชื่อมโยงกับมาตรการทางภาษีและการค้า กล่าวคือในอนาคตหากมีการส่งออกสินค้าชนิดใดก็ตามโดยเฉพาะส่งออกไปในประเทศยุโรป ที่แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่เพียงในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก/ปูน แต่ถ้าขยายมาถึงภาคเกษตรก็หมายความว่าสินค้าทุกอย่างต้องผ่านการพิสูจน์ว่าไม่ได้สร้างภาระให้กับโลกร้อน ซึ่งถ้าหากพิสูจน์ไม่ได้ก็จะเผชิญกับมาตรการกำแพงภาษี การกีดกันทางการค้า ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายกับภาคเกษตร แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสกับกลุ่มที่สามารถปรับตัวได้ที่ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงเกษตรกรรายใหญ่ที่มีการนำใช้เรื่องเกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ เช่น การใช้เลเซอร์ในการปรับระดับผิวดิน การมีระบบแอปริเคชั่นเชื่อมกับดาวเทียมในการคำนวณซึ่งเป็นการจัดการในแปลงขนาดใหญ่ที่มีการคำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งรูปแบบต่างๆ นี้กำลังจะถูกมานำเสนอและนำไปสู่การขยายผล กล่าวคือหากเกิดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นนั่นหมายความว่าเกษตรทั่วไปที่ไม่สามารถพิสูจน์ว่าลดโลกร้อนก็จะทำให้ขายในตลาดต่างประเทศได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งการพิสูจน์ดังกล่าวต้องได้รับการพิสูจน์จากองค์กรลดก๊าซเรือนกระจกมาประเมิน/ตรวจแปลงการผลิต
การลดคาร์บอนที่ไม่ใช่มีเพียงเรื่องเกษตรอินทรีย์
การที่จะลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตรนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องเกษตรอินทรีย์ แต่มีหลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศกลุ่มทุนต่างๆ พยายามเสนอสินค้าใหม่ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร การปรับปรุงบำรุงดิน และปุ๋ยเคมีก็ไม่ได้หมดไปก็ยังคงใช้กันอยู่ อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของโอกาสในการทำเกษตรอินทรีย์ กล่าวคือ เป็นระบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยังมีบทบาทอยู่ในการปลูกพืชหลากหลาย การไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นการบำรุงดินอย่างดี ซึ่งหากมีงานศึกษาเพื่อรองรับการผลิตระบบนี้มากขึ้นก็จะทำให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนทิศทางนโยบายเกษตรในการขยายตัวและเติบโตในเชิงพื้นที่และการตลาด และสร้างมูลค่าของสินค้าเพิ่มมากขึ้น
การปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ผลกระทบการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศถือเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันไม่มากนัก ด้วยผลกระทบและการปรับตัวหมายถึงการปรับตัวในสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ คำถามคือเกษตรกรจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไรจากการจัดการแปลงการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากแมลงศัตรูพืช โรคแมลงระบาด การจัดการหญ้ามากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์นั้นต้องมีการปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ ต้องมีการสำรวจความเปราะบางที่มีอยู่ เช่น พันธุ์พืชสามารถทนร้อน/แล้ง หรือทนกับภาวะน้ำท่วมได้หรือไม่ มีพันธุ์พืชสำรองหรือไม่อย่างไร ดินเป็นอย่างไร ปลูกพืชหลากหลายหรือไม่ บางส่วนเสียหายบางส่วนยังคงสร้างรายได้อยู่หรือไม่ ยังคงเป็นความมั่นคงอาหารของเราอยู่หรือไม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีแบบแผนตายตัวเนื่องจากบริบทในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นกับศักยภาพของเกษตรกรที่จะเข้าใจสถานการณ์และออกแบบจัดการความเสี่ยงที่กำลังจะเผชิญในอนาคตให้ได้ ด้วยอนาคตนั้นไม่สามารถคาดเดาได้ จึงทำให้เกษตรกรต้องมีการคิดวางแผน และมีการนำใช้ข้อมูลหรือต้องหาวิธีที่จะนำมาประเมินสถานการณ์ให้ได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
สงครามกับความมั่นคงทางอาหาร
สถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียนั้น ได้ส่งผลผลกระทบต่อราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาหารที่มีราคาสูงขึ้นนั้นก็เป็นความท้าทายและโอกาสของหลายกลุ่ม จากภาวะการเกิดสงครามในสถานการณ์โลกร้อนที่กระทบต่อผลผลิตการเกษตร ก็จะยิ่งส่งผลให้ราคาอาหารและช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจต้องตรึงพื้นที่ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่แม้ว่าราคาพืชเศรษฐกิจหลายประเภท เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ฯลฯ มีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ราคาเพิ่มนี้อาจมีการใช้ที่ดินแบบฉาบโฉยในการเพิ่มการผลิต ทำให้เป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรวมในภาคเกษตร
อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ บ้านสวนซุมแซง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
Leave a Reply