บทเรียนและประสบการณ์การจัดการและพัฒนาพันธุ์พืชผักโดยชุมชน

ตอน 2 การจัดการเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศในระบบเกษตรอินทรีย์ โดย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

มะเขือเทศเป็นหนึ่งในพันธุ์พืชของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานที่มีการจัดการพันธุ์โดยชุมชน จากข้อมูลในงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่จากจังหวัดยโสธร, อุบลราชธานี และมหาสารคาม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์ในการจัดการเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศที่น่าสนใจในการจัดการแปลงการผลิตเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ดังนี้

คุณไฉน นารมณ์ เกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดยโสธร

            พันธุ์มะเขือเทศที่ปลูกส่วนใหญ่มีลักษณะผลสีแดง ไม่มีรสฝาด ให้ผลผลิตดี โดยพันธุ์ดังกล่าวได้มาจากญาติ ซึ่งในการปลูกปีแรกนั้นให้ผลผลิตดีแต่การปลูกในปีที่สองพบว่าผลผลิตไม่มากเท่ากับปีแรก แม้ผลผลิตไม่มากแต่ก็ยังคงเก็บพันธุ์ไว้ในตู้เย็นและทยอยปลูกอย่างต่อเนื่องทำให้พบว่าพันธุ์ดังกล่าวทนทานกับสภาพอากาศร้อนได้ดี สำหรับการจัดการแปลงการผลิตนั้นปลูกในกระถางโดยใช้แกลบดำผสมกับขุยมะพร้าว จากนั้นนำเมล็ดมาโรย รดน้ำ และคลุมทับด้วยกระสอบป่านขนาดเล็กประมาณ 2-3 วัน เมล็ดก็จะงอก หากระยะต้นกล้าเริ่มออกใบประมาณ 2 ใบ ให้ย้ายไปปลูกในกระบะพร้อมกับเติมแกลบดำและขุยมะพร้าว โดยฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกมะเขือเทศนั้นอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ที่สามารถเริ่มทยอยเก็บผลผลิตจนถึงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 

คุณบุญมี ชาลีเครือ กลุ่มเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ จังหวัดอุบลราชธานี

            พันธุ์มะเขือเทศที่เก็บอยู่มี 5 สายพันธุ์โดยปลูกในลักษณะแปลงเปิด พันธุ์มะเขือเทศที่เก็บนั้นมาจากหลายแหล่ง หนึ่งในสายพันธุ์ที่เก็บนั้นเป็นพันธุ์จากประเทศเกาหลี ในปีแรกที่ทดลองปลูกพบว่าผลผลิตยังมีลักษณะพันธุ์เดิม แต่หลังจากปลูกต่อในปีที่ 2 พบว่าลักษณะผลมีความหลากหลายของรูปทรงโดยที่ยังคงรสชาดเดิม หากเทียบอีกสายพันธุ์ที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามพบว่าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอกับโรคเหี่ยวเขียว/เหี่ยวเหลือง แต่ระดับความหวานนั้นใกล้เคียงกัน ส่วนพันธุ์มะเขือเทศที่เป็นพันธุ์จากเกาหลีนั้นพันธุ์ยังไม่นิ่งจึงยังไม่ได้ตั้งชื่อพันธุ์ ส่วนมะเขือเทศอีกสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ท้องถิ่นเป็นมะเขือเทศลูกสีเหลืองมีชื่อว่า “พวงทอง” พันธุ์นี้มีรสชาติดีและทนโรคเหี่ยวเขียว ที่ผ่านมาทดลองผสมพันธุ์ท้องถิ่นกับพันธุ์ต่างประเทศโดยวิธีการผสมพันธุ์คือเลือกพันธุ์ที่เป็นพันธุ์แท้ จากนั้นเลือกดอกที่มีความสมบูรณ์ โดยเอาความต้องการของผลิตเป็นหลักอย่างเช่นต้องการพันธุ์หวานอมเปรี้ยว มีสีแดง และทนโรคเหี่ยวเขียว จากนั้นก็เจาะจงพันธุ์ว่าพันธุ์พ่อและแม่มีข้อเด่นในเรื่องใดก็จะเอามาผสมดอก

คุณไชยสิทธิ์ เกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดมหาสารคาม

            จากประสบการณ์การทดลองปลูกมะเขือเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า

  • ถ้าต้องการให้มะเขือเทศได้รสชาติหวานนั้นอย่าดูแลมากนัก แต่ไม่ใช่ไม่ดูแล/ใส่ใจ คือ ในช่วงระยะกล้านั้นต้องดูแล หากเริ่มมีพวงมะเขือเทศที่เริ่มสุกคือช่วงที่ต้องลดและงดการให้น้ำ พอสุกถึงลูกสุดท้ายของพวงก่อนที่จะเก็บผลผลิตต้องงดน้ำอย่างน้อย 3 วัน
  • เวลาปลูกมะเขือเทศส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ปลูก (ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม) ทำให้ผลผลิตออกมามากราคาไม่ค่อยดี ดังนั้นหากขยับเวลาเพาะกล้าในช่วงเวลาที่ฝนตกชุก โดยหาพลาสติกมาคลุมทำโรงเรือน ช่วงปลายฝนที่ชุกช่วงนั้นก็เตรียมแปลงโดยทำเป็นยกร่องและเตรียมลงปลูกก่อนช่วงปกติ 1 เดือน เพื่อให้ได้ผลผลิตก่อนในฤดูกาลปกติ
  • การให้น้ำในระบบเทปน้ำหยดแบบรูเดี่ยว ไม่ต้องให้น้ำพุ่งมาก และเปิดโดยการคุมวาลล์ให้กระจายทั่วแปลง ถือเป็นระบบที่ช่วยประหยัดการใช้น้ำได้มาก

ส่วนใหญ่การปลูกมะเขือเทศในช่วงหน้าฝนมักจะเป็นโรคโคนเน่า แต่ถ้าหากมีเทคนิคในการดูแลต้นก็จะช่วยลดความเสี่ยง เช่นการปลูกในโรงเรือนหรือปลูกบนโต๊ะ เป็นต้น

อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ  บ้านสวนซุมแซง  ตำบลท่าขอนยาง  อำเภอกันทรวิชัย  จังหวัดมหาสารคาม