การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: สถานการณ์ปัญหาและแนวทางการรับมือของเกษตรกรในเอเชีย

         ด้วยภัยธรรมชาติที่รุนแรงเพิ่มขึ้นนั้นทำให้เกิดการคิดค้นถึงแนวทางรับมือที่หลากหลาย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้กลายเป็นวาระนานาชาติเนื่องจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศนั้นมีความสัมพันธ์ตรงกับวิกฤติภูมิอากาศที่กระทบต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังเช่นในปี 2562 พบว่ามูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีมากถึง 232 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (~8.4 ล้านล้านบาท) เฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียและในเขตโอเชียเนีย (Oceania) คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ 107 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (~3.9 ล้านล้านบาท)  จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นพบว่าการรับมือวิกฤติภูมิอากาศบางแนวทางนั้นที่นอกจากรับมือไม่ตรงจุดแล้วยังทำให้ปัญหาอื่นรุนแรงขึ้น ตั้งแต่ปัญหาความยากจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เอื้อประโยชน์ทางการเงินให้กับภาคธุรกิจตลอดเส้นทางของปัญหา

         อย่างไรก็ตามการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่นำเสนอแนวทางการรับมือที่ได้ผลและสามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมและวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมของชุมชน แนวทางการรับมือนี้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จากประสบการณ์ของเกษตรกรกลุ่มนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องมีการสำรวจและรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะการสร้างระบบอาหารจากฐานผลิตเชิงเกษตรนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สภาพอากาศแปรปรวนกับผลกระทบ

         ภาคการเกษตรมีความสัมพันธ์กับภูมิอากาศเป็นอย่างมาก หากภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบตรงต่อระบบนิเวศ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ, ปริมาณน้ำฝน, และระดับความเข้มของแสง จะส่งผลต่อสภาพพื้นที่เพาะปลูก การเลี้ยงปศุสัตว์ และแหล่งน้ำ รวมถึงการส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่ระยะการออกดอกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดจนถึงความชื้นในดินและการเข้าทำลายของศัตรูพืช นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินั้นยังได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดิน, อุณหภูมิของน้ำ, และคุณภาพของน้ำใต้ดิน รวมถึงคุณภาพและปริมาณการผลิตอาหารที่จะกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ดังเช่น การสำรวจภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอินเดียที่ได้ออกมาประกาศเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอาจทำให้รายได้ในภาคการเกษตรลดลงเฉลี่ยที่ 15-18% และอาจเพิ่มสูงถึง 25% ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

         ภูมิภาคเอเชียถือเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลกจากภาวะโลกร้อน โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (the Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ได้ประกาศเตือนว่าความถี่ในการเกิดคลื่นความร้อนในภูมิภาคเอเชียอาจทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยในกลุ่มเปราะบางเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความถี่ในการเกิดภาวะน้ำท่วมและแล้งนั้นจะส่งผลเชิงลบต่อการทำนาและแน่นอนว่าความยากจนในชุมชนจะมีเพิ่มมากขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว

         กรณีประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตอาหารในสัดส่วน 20% ของประชากรโลกจากพื้นที่ทำการเกษตรเพียง 8% นั้นเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของการกระจายของน้ำฝนที่ไม่สม่ำเสมอในพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศอันเนื่องจากผลกระทบจากความถี่และความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หากมองศักยภาพในการผลิตอาหารพบว่า ประเทศจีนมีศักยภาพในการผลิตธัญพืชเป็นสัดส่วนระดับโลกที่ 18% , การผลิตเนื้อ 29%, และเกือบ 50% ในการผลิตพืชผัก แต่ขณะเดียวกันจีนเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่จากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่เพียงจะกระทบอย่างรุนแรงในภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของจีนแล้ว แต่ยังอาจกระทบต่อราคาอาหารในตลาดโลกด้วยเช่นกัน

         ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลประทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ดังเช่น ในปี 2562 ที่ประเทศไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 675-821 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (~24.5 – 29.9 พันล้านบาท) จากภาวะแล้งและน้ำท่วมหนักในพื้นที่ปลูกข้าวภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 100,000 ตัน หรือคิดเป็น 8% ของการส่งออกข้าว กรณีประเทศอินโดนีเชียนั้น การสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนและการเกิดน้ำท่วมในแต่ละปีที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังเช่นในปีช่วงต้นปี 2563 ประเทศอินโดนีเชียเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรถึง 209,884 เฮกตา (~1.3 ล้านไร่) ในพื้นที่ 12 อำเภอที่ได้รับผลกระทบ (ภาพ 1)

         สำหรับประเทศบังคลาเทศนั้น แม้ว่าการเผชิญกับการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของคนในชุมชนจากพายุไซโคลนและน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามในปี 2563 ถือเป็นปีที่บังคลาเทศได้รับความเสียหายหนักสุดจากพายุไซโคลน “Amphan” ที่ภาคเกษตรสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (~2.6 พันล้านบาท) หลังจากนั้นในปีเดียวกันบังคลาเทศเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรสูญเสียถึง 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (~1.5 พันล้านบาท) หากมองในภาพรวมความสูญเสียในอุตสาหกรรมประมง ในปี 2563 พบว่า เกิดความสูญเสียสูงถึง 2.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (~105 ล้านบาท) จากพายุไซโคลน “Amphan” และ 56.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (~2 พันล้านบาท) จากภาวะน้ำท่วม

ภาพ 1 น้ำท่วมในประเทศอินโดนีเชีย. Photo: Serikat Petani Indonesia (SPI)

         ในประเทศอินเดียเช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดังคณะกรรมาธิการของรัฐสภาด้านการเกษตรรายงานว่า ความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรจากวิกฤติภูมิอากาศในแต่ละปีนั้นอยู่ที่ 4-9% ซึ่งคิดเป็นผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross domestic Product – GDP) 1.5% นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นมีความเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในประเทศอินเดีย ดังการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ พบว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจมีส่วนทำให้เกิดการฆ่าตัวตายของเกษตรกรและแรงงานภาคเกษตรในประเทศอินเดียเกือบ 60,000 รายในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรจากความผันผวนของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่ส่งผลต่อผลผลิตและภาวะหนี้สินจากการลงทุนทางการเกษตรนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้เกษตรกรฆ่าตัวตาย ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิในแต่ละวันที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสนั้นเป็นเหตุให้เกษตรกรฆ่าตัวตายเฉลี่ย 70 ราย ส่วนงานศึกษาด้านความสัมพันธ์หว่างภาวะแล้งและการฆ่าตัวตัวตาย พบว่า ในพื้นที่ 5 รัฐของอินเดียที่เผชิญกับความแห้งแล้งมากที่สุดเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรมีการฆ่าตัวตายมากที่สุดเช่นกัน

การรับมือจากวิกฤติภูมิอากาศของเกษตรกร

         จากการศึกษาเปรียบเทียบระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์และระบบการผลิตเกษตรเคมีโดยองค์กร Rodale มากกว่า 27 ปี พบว่าแปลงการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์สามารถเพิ่มคาร์บอนในดินได้ถึง 30% ซึ่งดินที่อุดมไปด้วยคาร์บอนก็จะทำให้ช่วยดูดซับน้ำในดิน ทำให้พืชแข็งแรง ทนต่อความแห้งแล้ง และโรค-แมลง รวมถึงช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ถึง 40%

         นอกจากนี้ยังพบว่าการนำใช้แนวทางเกษตรนิเวศของชุมชนนั้นมีศักยภาพในการช่วยลดความรุนแรงจากผลกระทบและเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกษตรนิเวศใช้ปัจจัยการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่ำและมีปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์-ก๊าซเรือนกระจกที่ดีกว่าระบบการผลิตเกษตรในเชิงอุตสาหกรรม การผลิตที่เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรนิเวศนั้นมีหลากหลายรูปแบบการผลิต เช่น การผลิตแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรพลวัตร  และ เกษตรธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบการผลิตดังกล่าวนั้นช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินและเป็นรูปแบบการผลิตที่ได้ผลในการช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

         เกษตรกรรายย่อยทั่วโลกกำลังมีการปรับตัวในการดำรงชีวิตและการทำการเกษตรเพื่อให้สามารถรับมือกับภูมิอากาศที่แปรปรวนและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเผชิญกับผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยแล้ง ฝนตกน้อยกว่าปกติ พายุลูกเห็บ การลดลงของการเกิดลมมรสุม และการเข้าทำลายศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาแผนการรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศดังนี้

  • ระบบการกักเก็บน้ำ
  • เทคนิคการให้น้ำในแปลงการผลิต เช่น ระบบน้ำหยด
  • การให้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน, การใช้ปุ๋ยชีวภาพ และการใช้สารชีวภาพในการควบคุม/กำจัดแมลงศัตรูพืช
  • การคลุมดิน การปลูกพืชผสมผสาน
  • เท่าทันข้อมูลการรายงานภูมิอากาศ
  • การวางแผนการจัดการในแปลงการผลิตอย่างเหมาะสม
  • การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  • การนำใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในแปลงการผลิตเพิ่มขึ้น

เกษตรนิเวศเอื้อต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร?

         จากข้อมูลข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของธรรมชาติและภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เป็นเหมือนกับภัยคุกคามประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ประชากรจำนวนมากอาจเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารและความหิวโหย รูปแบบการผลิตที่อยู่บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและยั่งยืนนั้นมีอยู่เกือบทุกภูมิภาคของเอเชีย ซึ่งรูปแบบการผลิตนั้นไม่เพียงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ยังช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นนั้น เกษตรกรจำนวนมากได้มีการนำใช้ระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่ไม่เพียงที่จะช่วยให้ฟาร์มมีความยืดหยุ่นในการรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแล้ว แต่ยังลดลดต้นทุนการผลิตโดยเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ และสารเคมีฆ่าแมลง

         การขับเคลื่อนแนวทางยั่งยืนซึ่งเป็นทางเลือกในการรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศในภูมิกาคเอเชียนั้นเป็นการริเริ่มบนพื้นฐานสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองในการสร้างชุมชนและอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่สร้างแรงบันดาลใจบนฐานความมั่นคงทางอาหารในการนำพาระบบอาหารให้ออกจากรูปแบบการผลิตเกษตรเชิงอุตสาหกรรม

อ้างอิง : GRAIN. (2021). Agroecology vs. climate chaos: Farmers leading the battle in Asia. https: //grain.org /en/article/6632-agroecology-vs-climate-chaos-farmers-leading-the-battle-in-asia