การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: ปรากฏการณ์สุดขั้วของสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชีย

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังส่งผลต่อลักษณะการกระจายของฝนในเอเชีย ทั้งในเชิงของปริมาณน้ำฝนและช่วงเวลาของการเกิดฝน แบบจำลองภูมิอากาศ (Climate models) ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนและช่วงเวลาความแล้งแล้งจะยาวนานออกไปในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลปริมาณน้ำในแต่ละฤดูกาล ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและภาวะแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้น จากสถิติจำนวนการเกิดน้ำท่วมในเอเชีย พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 303 ครั้ง ในช่วงปี 2513-2523 เป็น 1,541 ครั้ง ในช่วงปี 2554-2563 โดยสามในสี่ของเมืองหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประสบกับภาวะน้ำท่วมบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น และในช่วงปีเดียวกันเกิดภาวะแห้งแล้งเพิ่มขึ้นจาก 85 ครั้ง เป็น 152 ครั้ง

ความสัมพันธ์ของอุณหภูมิกับปริมาณน้ำฝน

ด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดการระเหยของน้ำจากดิน พืช มหาสมุทร แม่น้ำ ลำคลองต่างๆ กลายเป็นไอน้ำลอยขึ้นไปในอากาศ เมื่อไอน้ำที่มากขึ้นรวมตัวกันเป็นละอองน้ำ หากปริมาณของละอองน้ำยิ่งมากขึ้นก็จะรวมตัวกันเป็นเมฆฝน พอมีปริมาณที่มากขึ้นอากาศไม่สามารถรองรับละอองน้ำเหล่านี้ต่อไปได้ ละอองน้ำก็จะตกลงมาเป็นน้ำฝน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทวีความรุนแรงในชั้นบรรยากาศที่ร้อนและชื้นมากขึ้น เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน ฯลฯ ในขณะที่ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ระบบภูมิอากาศและพื้นผิวมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นเช่นกันนั้น จะส่งผลให้อัตราการระเหยลอยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องตามหลักสมการคลอเซียส-คลาเปย์รอง (Clausius-Clapeyron equation) ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับปริมาณไอน้ำ ที่ระบุว่า “อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะส่งผลให้เกิดไอน้ำในชั้นบรรยายกาศเพิ่มขึ้นประมาณ 7%” นั่นคือ ความเสี่ยงที่ฝนจะตกหนักมีมากขึ้น (ภาพ 1)

ภาพ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับปริมาณไอน้ำที่ส่งผลต่อความเสี่ยงการเกิดฝนตกหนัก

ผลกระทบในภาพรวมจากภาวะน้ำท่วม

ปริมาณการเกิดฝนตกนั้นหากอยู่ภายใต้สถานการณ์ปกติถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามีฝนที่ตกหนักและมีปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ เนื่องจากฝนที่ตกหนักด้วยอัตราเร็ว น้ำฝนจึงไม่มีเวลามากพอที่จะซึมลงสู่พื้นดิน ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า “การไหลนองของน้ำฝน (stormwater runoff)” ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ซึ่งผลจากการเกิดน้ำท่วมนี้ส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งมวลชน สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน การพลัดถิ่น ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจากสถิติ พบว่า มูลค่าความเสียหายผลผลิตทางการเกษตร (ทั้งพืชและสัตว์) ในภูมิภาคเอเชียจากน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันสูงถึง 49 พันล้านบาท และในปี 2562 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกได้บันทึกการพลัดถิ่นภายใน จำนวน 9.6 ล้านคน จากพายุไซโคลน น้ำท่วม และพายุไต้ฝุ่น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของการพลัดถิ่นทั่วโลกในปีนั้น นอกจากนี้ พายุฝนที่ตกหนักขึ้นจะเพิ่มการไหลบ่าของผิว ซึ่งน้ำที่ไหลบ่าผิวดินนี้เป็นแหล่งมลพิษทางน้ำที่สำคัญ ด้วยขณะที่น้ำฝนเคลื่อนตัวไปตามพื้นผิวจะพัดพาขยะ สารเคมี ปุ๋ยเคมี และสารพิษอื่นๆ ไหลลงสู่แม่น้ำ ลำธาร และบ่อน้ำที่อยู่ใกล้เคียงเกิดการปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศทางน้ำ

อ้างอิง :

Climate council. (2017). Extream rainfall: the influence of climate change. https://www.climate council.org.au/uploads/18f6390ffb4a1acea9bda32b7dd661d9.pdf

Kaittisak Kumse, Tetsushi Sonobe, & Dil Rahut. (2021). Climate Change Impact in Asia are Essentially a Water Story. Asian Development Bank Institute. https://blogs.adb.org/blog/climate-change-impacts-in-asia-are-essentially-water-story

Kwan Soo-Chen & David McCoy. (2022). Climate Change in South-East Asia: Where Are We and What Are We Bound For?. https://ourworld.unu.edu/en/climate-change-in-south-east-asia-where-are-we-and-what-are-we-bound-for

Roz Pidcock. (2022). Garbon Brief: Clear on Climate. https://www.carbonbrief.org/mapped-how-climate-change-affects-extreme-weather-around-the-world/

Tiffany Means. (2021). Climate explained: why is it raining so hard? Global warming is delivering heavier downpours. The Yale Center for Environmental Communication, Yale school of the environment. https://yaleclimateconnections.org/2021/04/global-warming-is-delivering-heavier-downpours/

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16. การเกิดฝน. https://reo16.mnre.go.th/reo16/knowledge /detail/86