จากคุณหมอสู่วิถีเกษตรกรแห่งตำบลบุพราหมณ์ ปราจีนบุรี
หากนึกถึงการปลูกผักในพื้นที่จังหวัด ภาพที่เห็นได้ทั่วไปก็คงเป็นภาพแปลงผักที่ยกแปลงปลูกตามผืนดิน แต่ภาพแปลงผักที่เห็นที่บ้านคุณหมอชัยกุล ฤทธิ์มังกร แห่งตำบลบุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นภาพที่แปลกตาออกไป ทั้งภาพการยกแคร่ทำที่ปลูกผัก การใช้ล้อยาง วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาทำแปลงปลูกผัก อีกทั้งยังมีโรงเรือนเพาะกล้าเล็กๆ ด้านหน้า มีที่หมักปุ๋ยด้านหลัง มีบ่อน้ำ และระบบน้ำที่หมุนเวียนน้ำมาใช้ในแปลง อีกทั้งยังเป็นมีโรงเลี้ยงไก่ เอาไว้เก็บไข่กินด้วย อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาพต้นแบบการจัดการพื้นที่และออกแบบการปลูกผักบริเวณข้างบ้านได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกับคนวัยเกษียณที่กลับมาอยู่บ้าน และมีปัญหาเรื่องการก้ม หรือนั่งทำแปลงเป็นเวลานานๆ
คุณหมอชัยกุลเล่าให้ฟังว่า เดิมทีตัวเองเป็นหมออยู่ที่อนามัยขุนศรี ทับลาน พอมาปลูกบ้านอยู่ที่ตรงนี้ ก็เริ่มคิดว่าควรปลูกพืชผักเอาไว้กิน เอาไว้ใช้สอยบ้าง แต่ตอนแรกก็ปลูกพวกมะนาว กระทอน สะเดา ไม้ไผ่ เป็นหลัก ส่วนป้าเนตร ผู้เป็นภรรยา ทำเกษตรอยู่แล้ว ทั้งทำนา มีสวนปลูกมะพร้าว ฝรั่ง มะยงชิด พอเมื่อปี 2560 ตัวเองเกษียณอายุออกมา ก็เริ่มสนใจเรื่องการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี เพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น ก็ค่อยๆเรียนรู้ ทดลอง และปลูกผักมาเรื่อยๆ จนปี 2562 ก็มีการรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ขึ้น โดยตอนนั้นมีผอ.สมศักดิ์ มงคลธนวัฒน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี มาสนับสนุนส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชผักสมุนไพร จากนั้นก็มีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยทั้งเรื่องการฝึกอบรม ให้ความรู้ในการปลูกผักต่างๆแบบอินทรีย์ ให้กับสมาชิก มีการสร้างเครือข่ายด้านการตลาด การรับซื้อสมุนไพร และผลผลิตต่างๆ ส่งให้โรงครัวโรงพยาบาลอภัยภูเบศรบ้าง ส่งให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ฉะเชิงเทราบ้าง
หลังจากที่ทดลองปลูกผักบริเวณข้างบ้านมาสักระยะหนึ่ง ก็เริ่มพบว่าปลูกผักลงดินธรรมดาจะมีปัญหาเรื่องวัชพืชค่อนข้างมาก ประกอบกับอายุที่เพิ่มขึ้น ทำกันหลักๆ 2 คนก็เลยคิดออกแบบแปลงปลูกผักแบบยกแคร่ขึ้นมาใช้ โดยหลักๆก็เอาวัสดุเหลือใช้ที่มาอยู่มาประกอบทำขึ้นมา นอกจากนี้ระยะหลัง สภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะหน้าแล้ง จะแล้งนาน และแสงแดดมีความแรง และมีความร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อพืชผักที่ปลูก ทำให้พืชขาดน้ำง่าย อ่อนแอ และเป็นโรคง่ายขึ้น จึงได้พัฒนาระบบการจัดการน้ำขึ้น โดยได้ต่อระบบน้ำจากบ่อที่ขุดเป็นน้ำสำรองไว้ ขึ้นมาใช้ และมีถังต่อกระจายน้ำเข้าแปลงผักอย่างสม่ำเสมอ ส่วนด้านบนของแปลง ก็มีการทำแสลนช่วยพรางแสง
หลังจากทดลองปลูกมาหลายรอบ ก็พบว่าได้ผลดี สามารถเก็บผลผลิตส่งขายให้ทั้งที่ตลาดหน้าเวโรนารีสอร์ท รีสอร์ทชื่อดังแห่งทับลาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านคุณหมอมากนัก บางส่วนก็ขายให้โรงครัวโรงพยาบาลอภัยภูเบศรบ้าง รวมกับสมาชิกส่งให้กลุ่มเกษตรกรสนามชัยเขตบ้าง บางส่วนก็มีชาวบ้านละแวกนั้นมาขอซื้อ คุณหมอบอกว่าบางเดือน รวมๆแล้ว ก็ได้เงินประมาณ 7-8 พันเหมือนกัน แม้จะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับทำงานอื่น แต่ก็รู้สึกภูมิใจไม่น้อย เพราะพืชผักเหล่านี้ปลูกจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง
หากเดินชมรอบๆสวนผักแห่งนี้ ก็จะเห็นความตั้งใจ ความละเอียด และความใส่ใจของผู้ปลูกอย่างมาก ทั้งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพืชผักในแปลง การค่อยๆบรรจงเพาะต้นกล้า การเฝ้ารอเวลาในการหมักปุ๋ย หลังจากรวบรวมใบไม้แห้ง กองสลับกับขี้วัว หมั่นรดน้ำ เป็นเวลานานจนได้ที่ และนำมาผสมกับอินทรียวัตถุอื่นๆ และหมักดินไว้ใช้ในแปลง นอกจากนี้ยังเห็นวัสดุเหลือใช้อย่างขวดน้ำ ล้อยาง และอื่นๆอีกมากมาย ที่นำมาประยุกต์ ปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในแปลง ทั้งหมดนี้ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงของสามีภรรยาผู้สูงวัย ซึ่งเห็นแล้วก็อดรู้สึกชื่นชมไม่ได้จริงๆ
ป้าเนตรบอกว่า เราก็ค่อยๆทำไป เหนื่อยก็พัก ตอนทำแปลงคุณหมอก็มาช่วย ส่วนเพาะกล้า ดูแลรดน้ำ ป้าเนตรจะทำเป็นหลัก หลังจากได้ปลูกผัก สุขภาพก็ดีขึ้น อาหารการกินก็ได้กินผักเยอะมากขึ้น เดิมทีคุณหมอเป็นโรคความดันสูง พอมาปลูกผัก ได้กินผักมากขึ้น ก็ไม่มีปัญหาเรื่องความดันเหมือนเมื่อก่อน
เมื่อถามคุณหมอชัยกุลว่า เป็นคุณหมอกับเป็นเกษตรกร รู้สึกต่างกันยังไงบ้าง คุณหมอบอกว่า ตอนเป็นหมอ ก็มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีคนรู้จัก มีคนนับถือมากมาย และก็มีระบบการงานให้รับผิดชอบ พอมาเป็นเกษตรกร ได้ปลูกพืชผัก ก็รู้สึกสบายใจ มีความสุข ได้อยู่กับธรรมชาติ แต่ก็รู้สึกว่าจะตัวเล็กลง ไม่ค่อยได้เจอผู้คน ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อยากจะขับเคลื่อนอะไรก็ยากขึ้นกว่าเดิม
มีโอกาสได้สนทนากับคุณหมอชัยกุลไปตลอดเกือบทั้งวันที่คุณหมอพาลงพื้นที่ เยี่ยมชมสมาชิกในกลุ่ม ก็พบว่า คุณหมอเป็นหนึ่งในกรรมการวิสาหกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์ ชุมชนบุพราหมณ์ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะช่วยขับเคลื่อนกลุ่มให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมาก แต่ก็มีหลายเรื่องที่กลุ่มเผชิญ เป็นความท้าทายที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผนต่อ
คุณหมอเล่าถึงปัญหาอุปสรรคที่พบให้ฟังว่า ตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องการจัดการค่าขนส่ง เนื่องจากตอนแรกสมาชิกจะนัดเอาผลผลิตมารวมกันทุกอาทิตย์ และนำไปส่งให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต แต่หลังจากทำไปสักระยะ ก็พบว่าผลผลิตที่รวบรวมมาได้จากสมาชิกไม่ค่อยสม่ำเสมอ ทำให้มูลค่าโดยรวมที่ส่งผลผลิตแต่ละครั้งได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับค่าขนส่งแล้ว ก็ไม่ค่อยคุ้มกัน งบประมาณเดิมที่ได้เป็นต้นทุนในการขนส่งตอนนี้ก็หมดลง ก็เลยต้องพยายามคิดวางแผนกันใหม่ว่าควรจะบริหารจัดการอย่างไร
เมื่อถามถึงภาพที่คุณหมออยากเห็น คุณหมอก็บอกว่าอยากจะให้กลุ่มขับเคลื่อนไปด้วยกัน ช่วยกันออกแบบวางแผนการผลิตให้ต่อเนื่องมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะพยายามหาเครือข่าย สร้างตลาดในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงให้มากขึ้น จะได้ไม่เสียค่าขนส่งไกล หรือหากมีผลผลิตปริมาณมากในบางช่วง ก็อาจจะรวมกันเฉพาะกิจเพื่อไปส่งผลิตด้วยกัน และช่วยกันเฉลี่ยสมทบค่าขนส่งกัน นอกจากนี้ยังมีการคิดถึงเรื่องการจัดการการขนส่งให้ผลผลิตเสียหายน้อยลงด้วย เพื่อให้รายได้ที่ได้ไม่ต้องถูกหักไป จากผลผลิตที่เสียหายด้วย
เรื่องราวของคุณหมอชัยกุลกับป้าเนตร อาจเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้สูงวัยที่เกษียณอายุออกมา และหันมาทำเกษตร เป็นการทำเกษตรรูปแบบใหม่ ที่ปรับวิธีในสอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิต สอดคล้องกับข้อจำกัดทางด้านร่างกายของตัวเอง และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ร้อนและแล้งยาวมากขึ้นได้อย่างดี อีกทั้งยังเป็นวิถีการผลิตที่เป็นมิตรกับทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนแล้ว การที่เกษตรกรจะมีรายได้ที่เกื้อกูลต่อครอบครัวได้ด้วยนั้น การรวมกลุ่ม ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน ช่วยกันลงมือทำ ก็มีความสำคัญอย่างมาก และบางทีการหาเครือข่าย หาตลาดที่ผู้ผลิต พบผู้บริโภคได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไกล ก็อาจจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่งได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานในการเดินทาง ซึ่งก็มีส่วนในการส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
เชื่อว่าหากทั้งครอบครัวคุณหมอ สมาชิกกลุ่มเกษตรกร รวมถึงหน่วยงาน และผู้คนในแห่งตำบลบุพราหมณ์ อ.นาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีโอกาสได้พบปะ พูดคุย ร่วมไม้ร่วมมือกัน พวกเขาก็จะค่อยๆหาหนทาง ปรับเปลี่ยนทั้งการผลิต และการตลาด ให้สอดคล้องกับวิถี และบริบทต่างๆของตัวเอง เกิดเป็นระบบที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงชุมชน สิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป
Leave a Reply