ฝนทิ้งช่วงทำให้เกิดความแห้งแล้ง
วิถีเกษตรกรกับการรับมืออากาศที่ร้อนแล้ง
เมื่อพูดถึงวิถีเกษตรกร นอกจากปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต การขาดทุนต่างๆที่เกษตรกรต้องเผชิญแล้ว อีกหนึ่งปัญหาหลักที่เกษตรกรต้องเผชิญก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสำหรับเกษตรกร ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ปัญหาหลักที่พบก็คือ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการตกของฝน จากเดิมที่เคยฝนตกกระจายตลอดปี มาปัจจุบัน ฝนมักจะตกหนักเป็นระยะเวลาสั้นๆ และทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความแห้งแล้ง และมีสภาพอากาศที่ร้อน แสงแดดแรง ส่งผลให้เกษตรกรต้องปรับวิถีชีวิต เปลี่ยนวิถีการผลิต เพื่อรับมือกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นมากขึ้น
คุณลุงถนัด เนระสุระ ผู้ทำเกษตรกับพ่อแม่มาตั้งแต่ยังเด็ก และยังคงสืบทอดอาชีพเกษตรกรมาจนถึงวัย 66 ปีในปัจจุบัน เล่าย้อนหลังถึงชีวิตเกษตรกรของตัวเองให้ฟังว่า แต่เดิมครอบครัวตัวเองยากจนมาก อยู่กระท่อมหลังเล็กๆ ไม่ค่อยมีกิน นอกจากทำนาแล้ว ก็ต้องออกไปทำงานรับจ้างด้วย คุณลุงบอกว่า ตัวเองรับจ้างทำทุกอย่าง บางทีก็ไปทำงานช่าง ไปสร้างบ้าน ทำงานทั่วสารทิศ เหนือ ใต้ อีสาน ก็ไปหมด เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว จนกระทั่งลูกโต เรียนจบ จึงเริ่มสบายมากขึ้น
ตอนนี้ กระท่อมหลังเล็ก ก็กลายเป็นบ้านที่มั่นคง มีประตูไม้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่คุณลุงทำเองกับมือ จากที่เคยต้องออกไปรับจ้าง ก็มาเป็นเกษตรกรทำนา ทำสวนผสมผสาน เลี้ยงไก่ ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมากขึ้น คือเน้นปลูกไว้กิน เหลือก็แบ่งพี่น้อง บางส่วนก็นำไปขาย
เมื่อถามถึงวิถีการผลิตกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น คุณลุงถนัดก็เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ตัวเองทำนาปี ปลูกข้าวหอมมะลิ 9 ไร่ จากเดิมเคยรอฝน แล้วก็ตกกล้าดำนา ตอนนี้ฝนแล้งนาน ก็เลยต้องเปลี่ยนรูปแบบการปลูก เป็นใช้การไถหว่านแบบแห้ง คือไถหว่านทิ้งไว้ รอฝน พอฝนตกข้าวก็จะขึ้นมาเอง เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาเก็บไว้ เวลาจะกิน หรือมีคนสั่งซื้อ ก็จะสีแบบสดๆใหม่ๆ ข้าวจะได้หอม แถมแกลบที่เหลือจากการสีข้าว ก็ยังนำมาทำปุ๋ยหมักต่อได้ด้วย
ส่วนพื้นที่ทำไร่ประมาณ 2 ไร่กว่า เดิมเคยทำไร่มันสำปะหลัง แต่มีปัญหาเรื่องต้องใช้ต้นทุนเยอะ ใช้แรงงานเยอะ ประกอบกับบางทีมันสัมปะหลังก็เป็นโรค ทำให้ขาดทุนอยู่บ่อยๆ ปัจจุบันเลยเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน คือปลูกไม้ยืนต้นไว้กิน ไว้ใช้ และก็ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กิน เลี้ยงไก่ แล้วก็เอาขี้ไก่มาหมักปุ๋ยได้ด้วย นอกจากนี้ ในบ่อน้ำที่ขุดไว้ ก็เลี้ยงปลา เป็นวิถีเกษตรกร ที่คุณลุงบอกว่า “มันไม่ร่ำรวย แต่พออยู่ได้ มีกินอย่างพอเพียง”
มีโอกาสได้ไปเยือนสวนผสมผสานของคุณลุง ก็พบว่าบนพื้นที่ 2 ไร่กว่านั้นอุดมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ทั้งกระถิน สะเดา ชะอม มะนาว มะพร้าว มะม่วง มะปราง ขนุน ไม้ไผ่ อีกทั้งยังมีพืชผักพื้นบ้าน เช่นผักกุ่ม จมูกปลาหลด และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าชี้ไปทางไหน ก็มีแต่พืชผักที่นำไปกินได้ บางต้นก็นำไปทำฟืน นำไปใช้สอยได้
ที่น่าสนใจคือ สวนของคุณลุงมีบ่อน้ำที่ขุดไว้รองรับน้ำสำรอง และก็มีคูคลองเล็กๆอยู่ด้วย ซึ่งคุณลุงบอกว่า ช่วงที่ฝนน้อย ก็ได้ลอกคลองใหม่ ให้มีน้ำมาเก็บไว้ในสวนมากขึ้น นอกจากนี้ ตามแนวใต้ต้นไม้ คุณลุงก็เพาะต้นกล้าพวกพริก มะเขือ มาปลูกไว้ด้วย เรียกว่ารดน้ำต้นไม้ครั้งเดียว พวกพืชผักสวนครัวเหล่านี้ ก็ได้น้ำและเติบโตไปด้วยพร้อมๆกัน โดยตอนนี้ คุณลุงก็ได้ทดลองวางระบบน้ำใหม่ โดยสูบน้ำขึ้นมาไว้ในถัง แล้วก็เปิดระบบน้ำรดไปไปตามจุดต่างๆในสวน เพื่อช่วยประทังชีวิตต้นไม้ในยามที่ขาดฝน
คุณลุงยังพูดถึงการเลือกชนิดก็พืชผักที่ปลูกด้วย เช่นพืชผักที่ต้องใช้น้ำเยอะ เวลาจะปลูกก็จะรอฝนก่อน จะยังไม่ลงตอนช่วงแล้ง ถือเป็นการออกแบบ วางแผน และบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างน่าสนใจ ทำให้คุณลุงมีพืชผักหมุนเวียนไว้กิน ไว้แบ่งปัน และไว้ขายได้ตลอด
คุยกับคุณลุงถนัดแล้ว ก็เหมือนได้เห็นภาพการเดินทางของผู้เป็นเกษตรกรมายาวนาน ผ่านความยากลำบาก ผ่านปัญหาอุปสรรค ที่ต้องรับมือ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงมากมาย กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ แม้ชีวิตความเป็นอยู่จะไม่ได้ดูหรูหรา แต่คุณลุงก็พูดแบบยิ้มๆว่า มันก็มีความสุขดีนะ อยู่กับต้นไม้ มันก็เย็นๆดี เห็นต้นไม้ที่ปลูกโต ก็ดีใจ
ทุกวันนี้ลูกๆของคุณลุงเรียนจบ มีอาชีพที่มั่นคง แถมยังมีเพื่อนลูกๆที่เป็นลูกค้า สั่งข้าวจากนาของคุณลุงไปกินด้วย
Leave a Reply