จากสวนผลไม้ เป็นสวนพืชผักผสมผสาน รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หากใครมีโอกาสได้ไปเยือน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ก็จะพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา แต่หากมุ่งหน้าไปบริเวณที่อยู่ติดกับอ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ก็จะพบว่า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่เขา ซึ่งเกษตรกรที่อยู่บริเวณนั้น ก็มีรูปแบบวิถีการผลิตที่แตกต่างออกไปจากเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ราบที่มีโอกาสได้ไปเยือน
คุณสิดาพร ขอเยี่ยมกลาง เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บุพราหมณ์ ที่ทำเกษตรอินทรีย์มาเกือบ 6 ปี เล่าให้ฟังว่า อันที่จริงตัวเองทำเกษตรมาตั้งแต่รุ่นพ่อแล้ว แต่บริเวณนี้จะทำเป็นสวนผลไม้ คือปลูกลำไย กับมะยงชิด เป็นหลัก แล้วก็มีพื้นที่บางส่วนที่ปลูกหอม กระเทียมไว้กินเอง แต่ระยะหลังอากาศเปลี่ยนไป ตอนช่วงที่ลำไยออกดอก ฝนก็ตกมาก ทำให้ดอกเน่าหมด ส่วนมะยงชิด ก็มีเพลี้ยจักจั่นลงเยอะ ไม่ค่อยได้ผลผลิตดีเหมือนเมื่อก่อน เลยตัดสินใจโค่นทิ้ง แล้วก็หันมาปลูกผักแทน ทั้งได้กิน ได้ใช้ ไม่ต้องไปตลาดไกล แล้วก็ยังขายได้เรื่อยๆด้วย
เมื่อถามว่าตอนนี้คุณสิดาพรปลูกอะไรบ้าง เธอก็บอกว่า ปลูกคะน้า กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ต้นหอม ตั้งโอ๋ มะเขือ พริก พร้อมกับพาเดินลงไปดูแปลง ต้องเดินขึ้นเขาลงเขาหน่อยนะ เธอหันมาบอก
ต้องยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้เห็นแปลงผักของเธอเรียงรายเป็นขั้นบันไดไล่ระดับลงไปตามเนินเขา ก็อดรู้สึกทึ่งไม่ได้ ด้วยความที่ไม่เคยเห็นผักปลูกเป็นขั้นบันไดแบบนี้มาก่อน คุณสิดาพรบอกว่า เดิมทีตรงนี้ก็เป็นแนวเขา พอโค่นต้นลำไยทิ้ง ก็ช่วยกันปรับพื้นที่กับแฟน ทำกันเองทีละเล็กละน้อย ปรุงดินด้วยขี้วัว ขี้ไก่ แกลบดิบ แล้วก็แกลบดำ แล้วก็ปลูกผักเป็นขั้นๆ ปลูกตะไคร้กันเป็นแนวขอบด้วย ช่วยแก้ปัญหาเรื่องหญ้าได้ดี ช่วงหลังต่อระบบน้ำเป็นสปริงเกอร์ สูบน้ำขึ้นมาจากบ่อน้ำด้านล่าง ทำให้รดน้ำได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ต้องเสียค่าไฟในการปั้มน้ำค่อนข้างมาก ทำให้ตอนนี้เธอเริ่มสนใจระบบน้ำแบบโซล่าเซลล์มากขึ้น จะได้ช่วยลดต้นทุนลงได้บ้าง
“ตั้งแต่ทำเกษตรมา ไม่มีคำว่าง่าย ยากตลอด ช่วงที่อากาศเย็น ผลผลิตก็ดีหน่อย พอร้อนก็มีเพลีย มีแมลงเยอะ ก็ต้องตัดใจบางที ไม่ได้ก็กลบลงดินแล้วพักแปลง รอปลูกใหม่ ห้ามคิดว่าคุ้มมั้ย ส่วนใหญ่มันเสมอตัว บางทีก็ขาดทุน แต่เราก็ต้องทำ อย่างเราทำนาด้วย ก็ต้องรอน้ำฝน บางทีฝนไม่ตกก็แล้ง ข้าวไม่โต หรือน้ำท่วมก็แย่ ได้ผลผลิตบางปีก็ได้แค่พอกิน หรือถ้ามีข้าวเหลือพอขายได้ ก็เอาเงินที่ขายข้าวมาหมุนใช้ในแปลงผัก ใช้จ่ายในครอบครัว บางครั้งไม่พอ อย่างช่วงที่ต้องจ่ายค่าเทอมลูก ก็ไปรับจ้างบ้าง เอามาเสริม และเราก็มีทุนเดิมอยู่บ้าง ก็เลยอยู่ได้” คุณสิดาพรเล่าถึงชีวิตการเป็นเกษตรกรให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าถ้าเลือกได้ จะยังเป็นเกษตรกรอยู่มั้ย เธอก็พูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ถึงเลือกได้ก็ยังเลือกเป็นเกษตรกรนะ รู้สึกรักในอาชีพนี้ เธอบอกว่าไม่ชอบไปเป็นลูกจ้าง ไม่ชอบให้ใครมาใช้ เวลารับจ้างรายวันก็พอได้ คือทำตามกำลัง แต่ถ้าไปทำงานรีสอร์ท ก็รับไม่ค่อยได้ ไม่ชอบให้ใครมาจู่จี้ให้ทำอะไร เคยไปลองทำอยู่ 2 วัน ก็เลิกแล้ว ทำไม่ได้
“ ถึงได้เสมอตัวก็ทำ ขาดทุนก็ทำ ส่วนกำไรคือเราได้กินเองด้วย ไม่ต้องไปซื้อตลาด แล้วก็เป็นผักที่ไม่มีเคมี ก็ดีต่อสุขภาพ และรู้สึกดีใจด้วยเวลาได้กินผักที่ปลูกเอง” เธอกล่าว
นอกจากนี้คุณสิดาพรยังพูดพร้อมรอยยิ้มว่า ปลูกผักแล้วมีความสุข มันเงียบ สงบดี บางทีอยู่ในแปลงตั้งแต่ 6-7 โมง จนกระทั่ง 5 โมงเย็นเลยก็มี ทำไปเรื่อยๆ มันเพลิน จนบางทีลูกต้องลงมาตาม
นอกจากพื้นที่ปลูกที่เป็นขั้นบันไดแล้ว บริเวณนี้ก็ยังมีพื้นที่ปลูกผักที่เป็นพื้นราบด้วย ซึ่งคุณสิดาพรก็หมุนเวียนปลูกพืชผักหลากหลายชนิดสลับกันไป โดยส่วนใหญ่จะเน้นที่ผักกินใบ และก็มีพวกกินผลอย่างมะเขือม่วง และพริก ผลผลิตส่วนใหญ่ก็จะส่งขายให้กับโรงครัวโรงพยาบาลอภัยภูเบศร บางส่วนก็นำไปรวมกับสมาชิกคนอื่นส่งให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต และก็ขายให้คนในชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เธอบอกว่าผลผลิตแต่ละรอบไม่สม่ำเสมอ บางรอบก็ไม่มากนัก ทำให้ไม่สามารถส่งได้อย่างสม่ำเสมอ บางรอบก็ได้เยอะมาก เวลาขนผลผลิตขึ้นเขาทีก็เหนื่อยมาก
เรื่องการวางแผนและจัดการกับผลผลิตก็ยังเป็นสิ่งที่เธอกำลังคิดหาวิธีที่เหมาะสมต่อไป และหนึ่งในวิธีที่เธอกำลังทดลองทำ ก็คือการปลูกในโรงเรือน เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชที่มารบกวน ซึ่งหลังจากทดลองปลูกคะน้าไป 1 รอบ ก็พบว่าได้ผลดีมาก ต้นคะน้าเขียว อ้วน สมบูรณ์มาก แต่หลังจากเก็บผลผลิต และปลูกรอบต่อไป ก็เผชิญกับปัญหาที่มีแมลงเข้าไปอยู่ในโรงเรือน และก็ไม่ออกมาแทน สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจย้ายต้นกล้าในโรงเรือนทั้งหมด ไปปลูกในแปลงด้านล่างพื้นที่เขาแทน ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการปลูกที่เธอกำลังเรียนรู้ และทดลองอยู่ เป็นหนึ่งในการเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ที่ส่งผลให้พืชผักอ่อนแอ และถูกแมลงโจมตีได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ เธอยังเริ่มปลูกไม้ยืนต้นพวกผลไม้ต่างๆแซมไว้ หวังจะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสวนผสมผสานมากขึ้นด้วย และหากลูกอยากกลับมาอยู่บ้าน เธอก็ยินดี บอกว่ามาช่วยกันทำเกษตรแล้วก็ทำเป็น Home Stay ได้เลย
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของเกษตรกร ผู้รักและไม่ยอมแพ้ในอาชีพของตนเอง และพยายามคิดวางแผน ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่ต้องเผชิญอยู่เสมอจริง ได้พูดคุย ฟังเรื่องราวการเดินทางของคุณสิดาพรแล้ว ต้องบอกว่ารู้สึกประทับใจ และได้รับพลังจากเธอไปด้วยจริงๆ
Leave a Reply