ป่าร่วมยางสร้างนิเวศ

ระบบการผลิตป่าร่วมยาง

โดย นางสาวจุฑาธิป ชูสง ตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือกจังหวัดพัทลุง
พื้นที่ภาคใต้เผชิญกับความแปรปรวนภูมิอากาศทั้งภัยแล้งที่มีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และน้ำท่วมจากปริมาณฝนที่ตกมากกว่าปกติ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบกับจำนวนวันการกรีดยางที่ลดลงจากกรีดยางได้ 6 เดือน เหลือเพียงครึ่งเดือนถึงเดือนครึ่งทำให้ปลูกยางเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ทำให้คนในพื้นที่มีการปรับตัวที่หลากหลายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะรูปแบบการผลิตป่าร่วมยางที่ถือเป็นระบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ดี เนื่องด้วยระบบนี้เป็นระบบการปลูกหลากหลายชนิด เช่น พืชผักท้องถิ่น (เช่น ผักเหลียง ผักกูด ที่สามารถเติบโตได้ดีในสวนยาง) พืชผักสวนครัว ไม้ใช้สอย (เช่น ไม้หลุมพอ ไม้ตะเคียน ฯลฯ) พืชสมุนไพร ดอกไม้ (เช่น ดาหลา) รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องพันธุกรรมที่เป็นส่วนสำคัญของนิเวศสวนยาง

ป่าร่วมยางกับความสมดุลของนิเวศเกษตร

ระบบการผลิตป่าร่วมยางสร้างความสมดุลของนิเวศเกษตร นั่นคือ
1) การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีทางการเกษตร แต่ผลิตสารชีวภาพจากปัจจัยการผลิตในสวนยาง
2) การสร้างพื้นที่อาหารด้วยการปลูกพืชผสมผสานถือเป็นหลักคิดสำคัญในการจัดการระบบป่าร่วมยาง, และ 3) การอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงการผลิต และเอื้อต่อการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการจำหน่ายผลผลิตในสวนยาง ดังเช่น สมาชิกเครือข่ายนำผลผลิตในสวนยางเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ มาแปรรูปเป็นเครื่องพริกแกง ที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี นอกจากการสร้างสมดุลของนิเวศเกษตรแล้ว ระบบป่าร่วมยางยังช่วยลดอุณหภูมิในแปลงการผลิตเนื่องจากความหลากหลายของพืชพันธุ์และความชุ่มชื้นในสวนยางทำให้ปริมาณน้ำยางเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเอื้อในมิติสังคมที่ชุมชนเกิดการแบ่งปันและช่วยเหลือกันและกันผ่านการแลกเปลี่ยนในการจัดการแปลงการผลิต

วัฒนธรรมการผลิตเชิงนิเวศเกษตรของพื้นที่ภาคใต้

นอกจากระบบป่าร่วมยางดังข้างต้น พื้นที่ภาคใต้ยังมีวัฒนธรรมการผลิตเชิงนิเวศเกษตรที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น
1) ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น การเกษตรที่ปลูกพืชร่วมกับเลี้ยงสัตว์เป็นลำดับชั้น เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางการเกษตรให้มากขึ้นที่มีการปลูกพืช 9 ชั้นตั้งแต่พืชใช้หัวไปจนถึงไม้ผลและไม้ใช้สอย ด้วยการผลิตแบบนี้สามารถสร้างรายได้วัน รายได้สัปดาห์ รายได้เดือน และรายได้ปีให้กับเกษตรกร มีทั้งหมด 4 รูปแบบคือ

1) รายได้แบบรายวัน จากพืชขั้นที่ 1 – 4
2) รายได้แบบรายสัปดาห์ จากพืชชั้นที่ 5
3) รายได้แบบรายปี จากพืชชั้นที่ 6 – 7
4) รายได้ในรูปเงินออมระยะยาว จากพืชชั้นที่ 8 – 9

ซึ่งภูมิปัญญาเกษตรทั้ง 9 ชั้นมีดังนี้
ชั้นที่ 1 การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชน้ำในสระ เช่น ผักกระเฉด, ผักบุ้ง และบัว เป็นต้น
ชั้นที่ 2 พืชประเภทพืชกลอย เช่น มันหอม เป็นต้น กับพืชประเภทพืชหัว เช่น ขมิ้น และกระชาย เป็นต้น
ชั้นที่ 3 พืชไร่ที่ปลูกตามความต้องการของตลาดทั่วไป เช่น พริก, มะเขือ และผักเหรียง เป็นต้น
ชั้นที่ 4 ปลูก ส้มจี๊ด
ชั้นที่ 5 ปลูก กล้วยเล็บมือนาง
ชั้นที่ 6 ปลูก ทุเรียน พันธุ์หมอนทอง
ชั้นที่ 7 ปลูก สะตอ, มังคุด และลองกอง (โดยจะปลูกพริกไทยดำให้เลื้อยขึ้นไปบนต้นดังกล่าว เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย)
ชั้นที่ 8 คือพืชประเภทไม้ยืนต้น หรือไม้ใหญ่ที่มีมูลค่ามาก ซึ่งจะมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต เปรียบเสมือนการออมเงินระยะยาว เช่น มะฮอกกานี และสัก เป็นต้น
ชั้นที่ 9 ปลูก ไม้ยางนา

2) สวนสมรม หรือสวนดูซง ซึ่งเป็นระบบการผลิตไม้ผลแบบผสมผสานในพื้นที่สวนขนาดเล็ก ไม่มีการแยกแปลงแยกชนิด ไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันตามธรรมชาติเป็นระบบการผลิตของภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะผลไม้แต่ละชนิดออกผลผลิตไม่พร้อมกัน ทำให้มีผลผลิตได้ทั้งปี

ที่มาข้อมูลภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น : www.kasetsomboon.com/เกษตรผสมผสาน-เกษตรกรรม/
ภาพภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น จาก : www.portal.dnp.go.th