พัฒนาแปลงรวมสู่พื้นที่ต้นแบบในการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ วังดาล จ.ปราจีนบุรี

       พื้นที่ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ถือหนึ่งในพื้นที่ที่หากย้อนกลับไปในอดีต ชาวบ้านที่เคยทำเกษตรตามธรรมชาติ ก็ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่พวกเขาต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผันผวนทางราคา ความไม่แน่นอนในผลผลิต ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เรื่องต้นทุนการผลิต ตลอดจนผลกระทบของการใช้สารเคมี  ทำให้ชาวบ้านที่นั้นเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง พวกเขาจึงรวมตัวกันหันมาปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เริ่มเรียนรู้และลงมือทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน มาตั้งแต่ปี 2560 

       พี่แดง หรือคุณเพ็ญจันทร์ งามอุโฆษ เลขาธิการกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า เดิมทีนั้นกลุ่มนี้ได้รับงบประมาณจากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อเพื่อเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยใช้พื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ของราชพัสดุ อยู่บริเวณด้านหลังที่ทำการกำนัน มาจัดสรรแบ่งเป็นแปลง แปลงละ 1-2 งาน ให้ชาวบ้านได้มาทำเกษตรอินทรีย์กัน ใครสนใจก็สามารถมาสมัครเป็นสมาชิก และใช้พื้นที่ทำแปลงของตัวเองได้ ใครใคร่ปลูกอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ เพียงแต่ไม่ใช้สารเคมี โดยมีหน่วยงานมาช่วยสนับสนุน วางระบบน้ำ ทำปั๊มน้ำ และวางระบบไฟให้อย่างดี จนกระทั่งปี 2560 พวกเขาก็ได้จัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลวังดาล และก็ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเทคนิคความรู้ การวางแผนการผลิต ตลอดจนการทำการตลาด จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต พี่แดงบอกว่า ตอนนี้มีสมาชิกที่ลงทะเบียนร่วมส่งผลผลิตให้กับทางกลุ่มสนามชัยเขตรวม 30 คน และมีประมาณ 10 คนที่มาทำเกษตรที่แปลงรวมแห่งนี้  ที่สำคัญคือ พวกเขามีผลผลิตหลากหลายมาก ทั้งผักใบ ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน สมุนไพร  ผลไม้ รวมแล้วประมาณ 105 ชนิดเลยทีเดียว

       ความน่าสนใจของกลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งตำบลวังดาลนี้ คือ นอกจากพวกเขาจะมีพื้นที่รวม ที่แบ่งกันทำแล้ว มีระบบน้ำพร้อมแล้ว พวกเขายังมีโรงทำปุ๋ยหมักที่เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง มีสมาชิกมาช่วยกันผสมปุ๋ย และบรรจุใส่กระสอบ ไว้จำหน่ายให้สมาชิกได้ใช้กัน นอกจากนี้ก็ยังน้ำหมัก และมีต้นกล้า ที่ทำโดยสมาชิกมาวางขาย และก็หักเปอร์เซ็นต์ 3 เปอร์เซ็นต์ให้กับกลุ่มด้วย เรียกว่าปัจจัยการผลิตก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้สมาชิกลงมือปลูกกันมากๆ

       มีโอกาสได้เดินเยี่ยมชมแปลง และพูดคุยกับสมาชิกบางคนที่มาทำเกษตรในแปลงรวมแห่งนี้ ก็พบว่า มีหลายคนเคยทำงานในเมือง และก็กลับบ้านมา เลยมาทำเกษตร บางคนก็ไม่มีพื้นที่ที่บ้าน คือดินที่บ้านแฉะเกิน ไม่สามารถทำเกษตรได้ ก็เลยมาใช้พื้นที่ตรงนี้ บางคนมีแปลงที่บ้านด้วย และก็มาทำเกษตรตรงนี้ด้วย เพิ่มทั้งพื้นที่และความหลากหลายให้กับสิ่งที่ตัวเองปลูก และก็อยากแบ่งปันความรู้ และวิธีการปลูกให้กับคนอื่นได้เรียนรู้ไปด้วย

       พี่ประยงค์ อินทรพิทักษ์ เป็นหนึ่งสมาชิกคนสำคัญที่ใช้พื้นที่แปลงรวมแห่งนี้ในการทดลองปลูกพืชผักนานาชนิดเพื่อเป็นเหมือนต้นแบบ และที่เรียนรู้ให้กับผู้อื่น  โดยในแปลงของพี่ประยงค์ จะมีการปรับปรุงดินอย่างดี ด้วยการไปขนใบไม้แห้งมาจากป่า โดยเฉพาะใบก้ามปู ใบไผ่ พี่ประยงค์ก็เก็บใส่กระสอบ แล้วเอามาคลุมดินที่ยกเป็นแปลงขึ้นมา บางแปลงใช้หญ้าที่ตัดมา ใส่พ.ด. 3 หรือปูนขาว กันรากเน่า แล้วใช้ถุงดำคลุมไว้จนหญ้าเน่า และก็นำกล้ามาปลูก อีกทั้งเมื่อตัดผลผลิตแล้ว ก็ยังใช้เศษพืชผักทิ้งไว้ในแปลงให้ย่อยสลาย โรยปุ๋ยหมัก แล้วปลูกต่อได้เลย

       นอกจากนี้พี่ประยงค์ยังหมักน้ำหมักหลากหลายสูตรเอาไว้ใช้ด้วย ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก  มีโอกาสได้เดินชมแปลงของพี่ประยงค์ ก็ต้องยอมรับว่ารู้สึกประทับใจในความงอกงามของผลผลิต และความมุ่งมั่นตั้งใจ ความประณีต พิถีพิถันของคนทำมากๆ  ที่สำคัญคือเมื่อเดินเข้าไปบริเวณแปลงของพี่ประยงค์ก็สัมผัสได้ถึงความเย็น ซึ่งแตกต่างไปจากบริเวณอื่นๆมาก ชาวบ้านหลายคนก็เข้ามาเรียนรู้ ถามไถ่ ได้แรงบันดาลใจกลับไปทำ

       อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ชาวบ้านที่นี่ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย แม้ว่าน้ำในบ่อที่ขุดไว้จะพอเพียงต่อการใช้ แต่ดูแลแปลงก็มีความท้าทายไม่น้อย พี่แดงเล่าให้ฟัง ช่วงหน้าร้อนจัดๆ ผักบางชนิดอย่างคะน้า กวางตุ้ง จะปลูกไม่ได้เลย มีตัวหมัดมากวน  ที่ผ่านมาพยายามที่จะลองใช้โรงเรือน และวางระบบน้ำ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่หลังจากหน้าร้อนมากๆที่ผ่านมา ก็พบว่าโรงเรือนแบบปิดเลย อาจจะไม่ได้ผลดีนัก เพราะระบายอากาศได้ไม่ดี ต้องใช้สแลนช่วย และก็วางระบบน้ำเพื่อช่วยลดความร้อนแทน  ที่สำคัญ คือจะเน้นการปลูกพืชที่หลากหลายเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นหลัก พืชตัวไหนปลูกหน้าร้อนจัดไม่ได้ หรือปลูกช่วงฝนชุกไม่ได้ ก็ไม่ปลูก หันไปปลูกอย่างอื่นที่เหมาะกับฤดูกาลแทน ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเรื่องผลผลิตมากนัก 

       ส่วนโรงเรือนก็วางแผนไว้ว่าจะใช้สำหรับเพาะกล้าโดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกชุก ต้นกล้าจะได้ไม่ถูกน้ำฝนกระทบกระเทือน โดยมีแผนในระยะต่อไปว่า จะไปร่วมมือกับทางโรงเรียน สอนให้นักเรียนเพาะกล้าในโรงเรือน และนำมาจำหน่ายให้กับกลุ่ม เป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเด็กๆอีกทาง แต่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนการจัดการร่วมกันอยู่

       เมื่อถามถึงภาพในฝันที่อยากให้เป็น พี่แดงบอกว่า คุยกันว่าอยากจะให้สมาชิกมีรายได้เดือนละประมาณ 15,000 บาท ให้เท่ากับคนทำงานทั่วไป จะได้เป็นแรงจูงใจให้คนอยากทำเกษตร เพราะปัญหาและความท้าทายทุกวันนี้คือ คนทำเกษตรส่วนใหญ่จะอายุมากราว 50-60 ปี แรงงานบางอย่างก็ทำไม่ค่อยไหว ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก  ซึ่งการจะทำรายได้ให้ได้ตามที่ฝันนั้น พี่แดงก็บอกว่า ก็ต้องช่วยกันวางแผนการจัดการการผลิตร่วมกันให้ดี ส่วนด้านตลาด ตอนนี้มีตลาดรองรับหลายที่ ทั้งสนามชัยเขต โรงพยาบาลอภัยภูเบศ ตลาดสีเขียว โรงพยาบาลกบินทร์บุรี หรือหากเหลือก็ขายให้ตลาดในชุมชนได้ เรียกได้ว่า ตลาดไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่พวกเขาต้องวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ ฤดูกาล ตลอดจนวิถีชีวิตของแต่ละคนให้ได้มากขึ้นนั่นเอง