ความหลากหลายคือความมั่นคงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

จุฬา สายแก้ว แห่งบ้านเปี่ยม หมู่ที่ 5 คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ จ.สุรินทร์  เพียงช่วงเวลาสั้นๆที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมแปลง และพูดคุยสนทนา ก็สัมผัสได้ว่า พี่จุฬา เป็นผู้หญิงเก่ง หัวใจแกร่ง ที่มีทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจ มีทั้งความขยันอดทน และมีทั้งหัวใจที่รักการเรียนรู้ ที่สำคัญคือพร้อมที่จะพัฒนา ทดลอง ลงมือทำอยู่เสมอ

      ภาพแปลงผักขนาดไม่ใหญ่นักข้างบ้าน ที่ปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด กับโรงเรือนใหม่ 2 โรงเรือน ที่ออกแบบทำเป็นแปลงยกปลูกสูงจากพื้นดิน มีแสลน และแผนพลาสติกคลุมด้านบน เพื่อรับมือกับปัญหาเรื่องฝนที่มักจะทำให้ผักบางชนิด อย่างผักชี ได้รับความเสียหาย เป็นภาพปรากฏแรกที่มองเห็นเมื่อได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณบ้านของพี่จุฬา  “ช่วงนี้อยู่ในช่วงที่กำลังทดลอง หาวิธีปรุงดิน ปลูกผักบนแปลงในโรงเรือนที่ทำขึ้นมาใหม่  ตั้งใจจะใช้ปลูกผักที่มีปัญหาเวลาฝนตกหนัก อย่างผักชี คือนอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องดินแฉะ น้ำขังแล้ว ผักชีก็ไม่ค่อยชอบแดดมากนัก สแลนที่ใช้ก็น่าจะช่วยได้ แต่ตอนนี้ หลังจากที่ทดลองทำ ก็ยังได้ผลไม่ค่อยดีนัก คือพบว่าผักชีที่ปลูก ต้นไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้ลำบากเวลาต้องไปมัดขายรวมกับต้นหอม” พี่จุฬาอธิบาย พร้อมกับพาดูแปลง

            เมื่อมีโอกาสได้เดินดูรอบๆ พร้อมกับพูดคุยไปด้วย ก็เริ่มค่อยๆเห็นว่า พี่จุฬามีวิถีการผลิตที่มีความหลากหลายและเรียกได้ว่าค่อนข้างจะครบวงจรอย่างมาก คือถัดจากบริเวณบ้านไป ก็มีแปลงนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์ มีแปลงที่ปลูกถั่วสำหรับปรับปรุงดิน และเก็บผลผลิตไปขาย นอกจากนี้ก็ยังมีแปลงที่ปลูกหญ้า เพื่อเป็นอาหารให้กับวัวที่เลี้ยงไว้ นอกจากนี้ก็ยังเลี้ยงแพะด้วย แล้วก็นำมูลวัว มูลแพะ มาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปรับปรุงดินสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งสามารถเก็บไปขายที่ตลาดสีเขียว รวมถึงตลาดในชุมชนได้ทุกอาทิตย์ นอกจากนี้ก็ยังพื้นที่ทำสวน ที่ปลูกมะพร้าว มะม่วง ส้มโอ รวมถึงแก้วมังกรด้วย

            ไม่เพียงเท่านั้น บริเวณรอบๆบ้าน ยังเห็นถาด รวมถึง ถุงดำที่ใช้เพาะกล้าอีกจำนวนมากเรียงรายอยู่ โดยนอกจากพี่จุฬาจะปลูกพืชผัก พวกมะเขือ มะเขือเทศ พริก ผักชี ต้นหอม และพืชสวนครัวต่างๆไปขายแล้ว ก็ยังเพาะกล้าใส่ถุงดำไปขายด้วย เรียกว่าใครอยากซื้อไปปลูกก็มีต้นกล้าพร้อมปลูกให้ซื้อไปปลูกได้เลย ล่าสุดยังทดลองปลูกต้นหอมใส่กระถางดำขนาดกลางไปขายได้ พบว่าขายดีมาก เพราะคนซื้อไปค่อยๆตัดกิน แล้วก็ดูแลต่อได้เลย ก็เลยได้ไอเดียว่าจะทำไปขายเพิ่มอีก

            นอกจากพืชผักที่ขายแบบผักสด แล้วก็แบบต้นกล้าแล้ว บางครั้งพี่จุฬาก็ยังแปรรูปผลผลิตไปขายด้วย เช่น ดองหน่อไม้ ไปขายในหน้าหน่อไม้ หรือบางครั้งก็เพาะถั่วงอกไปขายที่ตลาดด้วย

            เรียกว่าสามารถทำอะไรได้ พี่จุฬาก็ทำหมด บางครั้งก็หาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากที่ทางชุมชนพาไปอบรม แล้วก็นำมาทดลองทำ หรือบางครั้งก็ดูจากยูทูป และหาทางนำมาประยุกต์ปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของตัวเอง ล่าสุด พี่จุฬาชี้ให้ดูว่ากำลังทดลองขุดร่องน้ำ ทำเป็นคันนาขึ้นมา แล้วเลี้ยงปลานิลในร่องน้ำ ส่วนที่คันนาที่ทำขึ้นมา ตั้งใจจะทดลองปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น ทดลองสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้เหมือนกับพื้นที่ร่องสวนที่เห็นในยูทูป ส่วนจะได้ผลแค่ไหน พี่จุฬาบอกว่าต้องรอดู เพราะเพิ่งเริ่มทดลองปล่อยปลาลงไป โดยใช้วิธีสูบน้ำเข้ามาที่ร่องน้ำเพื่อให้ปลาได้อยู่อาศัย

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ พี่จุฬา คือแรงงานหลักคนเดียวที่ทำ จะมีแม่ กับลูกช่วยบ้าง ในงานเล็กๆน้อยๆเท่านั้น พี่จุฬาบอกว่าตัวเองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็เลยต้องทำคนเดียวเป็นหลัก “เหนื่อย แต่ก็มีความสุขดี เป็นเกษตรกร อยากพักเมื่อไหร่ก็ได้พัก ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้พัก มีงานให้ทำตลอด” พี่จุฬาพูดติดตลก เมื่อถามถึงชีวิตคนเป็นเกษตรกร

            เมื่อถามย้อนกลับไป กว่าจะมีความหลากหลายในการผลิตมากขนาดนี้ ก็พบว่า เมื่อก่อนครอบครัวพี่จุฬาก็ทำเกษตรเคมีมาก่อน แต่พ่อล้มป่วยหนัก เนื่องจากโดนยาฆ่าหอยเชอร์รี่ ก็เลยตระหนักถึงอันตรายมากขึ้น พอมีโอกาสได้ไปเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์จากกลุ่มศีรษะอโศก ก็เลยกลับมาค่อยๆปรับ ลองปลูกข้าวแบบไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และใช้ปุ๋ยหมักแทน แล้วก็ค่อยๆปรับวิถีการผลิต จากที่เคยปลูกแต่ข้าว แล้วก็ปลูกข้าวโพด ก็เพิ่มความหลากหลายในการผลิตมากขึ้น ค่อยๆเพิ่มที่ละเล็กละน้อย จนถึงทุกวันนี้ พี่จุฬาก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ทดลอง และพัฒนาการผลิตของตัวเองอยู่เสมอ

            นับเป็นความขยัน อดทน มุ่งมั่น และเปี่ยมด้วยพลังของผู้หญิงซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจริงๆ ที่สามารถผ่าฟันปัญหาอุปสรรคในชีวิต ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตให้มีความหลากหลาย ดีต่อทั้งครอบครัว และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีผลผลิตดีๆขายให้กับผู้บริโภคด้วย ที่สำคัญคือ ความหลากหลายนี้ก็มีส่วนช่วยทำให้สามารถรับมือกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนของฟ้าฝนได้ ส่วนเรื่องความมั่นคงทางอาหารในครอบครัวนั้น พี่จุฬาบอกว่าแทบไม่ได้ซื้ออะไรกิน นอกจากปลาทู หรือบางครั้งก็อุดหนุนหมูหลุม ที่เป็นทำให้วิถีเกษตรอินทรีย์ ของเพื่อนสมาชิกในชุมชน

              อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ด้วยเช่นกันว่า การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำเกษตรอินทรีย์ มีวิถีการผลิตที่หลากหลาย เพื่อเลี้ยงครอบครัวอย่างที่พี่จุฬาทำได้นั้น การมีกลุ่ม มีเพื่อน ในชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็มีความสำคัญ ที่ช่วยกันสร้างแรงบันดาล ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมความรู้ ที่สำคัญคือ การมีพื้นที่อย่างตลาดสีเขียว รวมถึงตลาดชุมชนที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ ก็มีความสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเติบโต และมีชีวิตอยู่ได้อย่างความสุข ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นมากมายเช่นกัน