ธุรกิจเพื่อชุมชน แนวคิด บทเรียน และความท้าทายที่ต้องเผชิญ

หากพูดถึงการทำธุรกิจเพื่อชุมชน หรือธุรกิจเพื่อการพัฒนา ซึ่งทำขึ้นโดยมุ่งหวังจะช่วยสร้างทั้งแรงจูงใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรในชุมชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด คือสามารถผลิต และมาส่งขายให้กับทางกลุ่ม โดยทางกลุ่มจะรับซื้อโดยประกันราคาข้าวให้ในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปข้าวบ้านโนนยาง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งนำทีมโดย พ่อบุญส่ง มาตขาว นั้นถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พยายามทำงานสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจเพื่อการพัฒนาในชุมชนในรูปแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2551  นับเป็นการเดินทางที่ยาวนาน และมีบทเรียน รวมถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญมากมายทีเดียว
       พ่อบุญส่ง มาตขาว เป็นเกษตรกรผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ ผ่านชีวิตและการทำงานเพื่อทำให้เกิดการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงชุมชนมากมาย นับตั้งแต่การเข้าป่าในยุค 6 ตุลา ไปจนถึงการร่วมประท้วงหน้าทำเนียบ กับเครือข่ายเกษตรทางเลือก จนเกิดโครงการนำร่องฯ  และร่วมทำงานกับกลุ่มองค์กรเครือข่ายในพื้นที่เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด
       ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่พ่อบุญส่งและชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่เรื่องการผลิตเท่านั้น แต่ยังให้ความสนใจกับเรื่องการตลาด รวมถึงระบบเศรษฐกิจในชุมชน ที่ทำให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนด้วย  หากมองย้อนกลับไปในชุมชนแห่งนี้ ก็เคยมีการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดเบี้ยกุดชุม ซึ่งเป็นเงินที่ชุมชนทำขึ้น รณรงค์ให้ชาวบ้านทำการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง เมื่อเหลือก็นำมาผลผลิตมาขายแลกเปลี่ยนกันที่ตลาดสีเขียวในชุมชน ซึ่งเป็นการซื้อขายโดยใช้เงินของชุมชน ที่เรียกว่าเบี้ยกุดชุม นี่เอง จนเกิดเป็นตัวอย่างระบบเศรษฐกิจในชุมชนที่น่าสนใจในยุคสมัยที่เกิดฟองสบู่แตก น่าเสียดายที่ทำอยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกภาครัฐสั่งให้ยกเลิกไป

 

       อย่างไรก็ตาม ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการทำการตลาด ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเพื่อชุมชนนั้นก็ยังคงอยู่ จนกระทั่งเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปข้าวบ้านโนนยางขึ้นนั่นเอง พ่อบุญส่ง เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเรามีกลุ่มชุมชนบ้านนาโส่ ที่ชาวบ้านผู้ผลิตข้าวอินทรีย์จะนำผลผลิตไปขายให้ได้ แต่เมื่อปี 2551 มีการรณรงค์ส่งเสริม และขยายกลุ่มสมาชิกที่ผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ทางกลุ่มบ้านนาโส่รับซื้อไม่ไหว จึงตัดสินใจแยกกลุ่มออกมาบริหารจัดการเอง จนถึงวันนี้ มีสมาชิกรวมทั้งหมด 120 คน ผลิตข้าวอินทรีย์ ทั้งข้าวมะลิ 105 ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกข. ตลอดจนข้าวพื้นบ้าน ส่งขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ โดยกลุ่มแปรรูปข้าวบ้านโนนยาง จะรับซื้อข้าวเปลือกแห้ง แล้วนำมาสี แพ็คเป็นข้าวสารอย่างดี หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆขาย

       ทว่าเส้นทางการทำธุรกิจเพื่อการพัฒนานี้ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พ่อบุญส่งเล่าว่า การทำธุรกิจแบบนี้มันต้องทำงานทั้งกับผู้ผลิต ซึ่งก็ต้องทำทั้งสร้างแรงจูงใจด้วยราคารับซื้อ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความสัมพันธ์ให้ทั้งเชื่อมั่น ศรัทธาในวิถีการผลิตแบบนี้ รวมถึงเข้าใจการทำงานของกลุ่มองค์กรด้วย ดังนั้นการลงพื้นที่ทำงานกับสมาชิกอย่างใกล้ชิดก็สำคัญมาก เพราะหากสมาชิกไม่เปลี่ยนแนวคิด ไม่ได้เกิดจิตสำนึก ที่ตระหนักว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้เป็นการทำทั้งเพื่อสุขภาพตนเอง เพื่อผู้บริโภค เพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นการทำเพื่อให้ตัวเองสามารถขายข้าวได้ราคาสูงเท่านั้น
       ที่สำคัญ มีเพียงผู้ผลิตอย่างเดียว ธุรกิจนี้ก็ไม่อาจดำเนินต่อได้ เพราะบุคคลสำคัญไม่แพ้กันก็คือผู้บริโภค ที่เข้าใจ และพร้อมจะรับซื้อผลผลิต ที่แม้ว่าจะราคาสูงกว่าราคาข้าวในท้องตลาดทั่วไป ก็เลือกที่จะซื้อผลผลิตจากกลุ่มนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถที่จะอยู่รอดได้ต่อไป เรียกว่าเป็นการบริโภคที่ไม่ใช่เพียงบริโภคอย่างเดียว แต่ต้องมีความเข้าใจ คำนึงถึงกันและกัน ดังนั้นถ้าผู้ผลิตกับผู้บริโภคเกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้มากขึ้นก็จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจไปได้ต่อไป   
ต้องยอมรับว่า ภาพรวมของการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ตอนนี้
       มีจำนวนผู้ผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตที่รับซื้อมาก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย การหาเงินทุนมารับซื้อ ควบคู่ไปกับการทำการตลาด เพื่อระบายผลผลิตออกสู่ผู้บริโภคก็กลายเป็นงานหลัก และเป็นงานใหญ่ของกลุ่มที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการ

       พ่อบุญส่งบอกว่า ตอนนี้ผู้รับซื้อหลักๆคือทางกระทิงแดง ที่รับซื้อข้าวเป็นประจำเดือนละ 3 ตัน และก็มีส่งให้กับศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ตั้งใจจะทำเชื่อมโยงกับโรงเรียน แต่ยังไม่สำเร็จ นอกจากนี้ ก็พยายามพัฒนามาตรฐานการรับรอง เพื่อที่จะขยายตลาดจากเฉพาะในประเทศ ให้ไปสู่ตลาดนอกประเทศได้ด้วย
       อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ยังมีปัญหาข้าวค้างสต๊อก ซึ่งเมื่อปีก่อน ก็ต้องหาทางระบาย โดยที่ขายในราคาต่ำกว่าที่รับซื้อมา คือยอมขายขาดทุน  ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแบกรับภาระในการกู้เงินมารับซื้อผลผลิตจากสมาชิกด้วย เพื่อไม่ให้เสียสมาชิกไป และหากสมาชิกไปขายผลผลิตในโรงสีข้างนอก แทนที่วัตถุดิบต่างๆอย่างแกลบ รำ จะหมุนเวียนสู่ชุมชน ก็ไหลออกนอกชุมชนหมด
       เมื่อถามถึงภาพฝัน พ่อบุญส่งก็ฝันอยากเห็นความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกรที่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ คือสามารถส่งเสริม ขยายสมาชิกเกษตรกรได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็มีเงินรับซื้อผลผลิตเกษตรกร และหาช่องทางการตลาดได้อย่างสมดุลกัน ซึ่งการจะทำให้ฝันนี้เป็นจริงได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ และสนับสนุนจากหลายฝ่ายเช่นกัน
       “หากมีกองทุนมาช่วยส่งเสริม เป็นกองทุนปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ ก็จะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ ไม่ทำให้แบกรับภาระหนี้สินมากจนเกินไป นอกจากนี้ นโยบายที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐ ก็ควรมาช่วยสนับสนุนต่อยอดโครงการที่มีอยู่แล้วด้วย และภาครัฐก็ควรคิดนโยบายที่มีการบูรณาการ และการเชื่อมโยงให้เป็นลูกโซ่ เช่นแทนที่จะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ก็ควรส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว สร้างเอกลักษณ์ สร้างมาตรฐานแบรนด์ให้เกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย” พ่อบุญส่งเสนอความคิดเห็นให้ฟัง
       นับเป็นความท้าทายในการพยายามขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อชุมชนที่ต้องอาศัยทั้งหัวใจ ความศรัทธา ความมุ่งมั่งและความพยายามของคนที่ทำงาน ในขณะเดียวกันก็อาศัยความเข้าใจ และสำนึกร่วมของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงความร่วมไม้ร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะมาช่วยสร้างสรรค์ธุรกิจที่ดีงามเช่นนี้ให้ดำเนินต่อไปได้จริงๆ

ใครสนใจมีส่วนร่วมในการช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจชุมชนดีๆแบบนี้ ดูผลิตภัณฑ์และติดต่อได้ที่ FB กลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง จังหวัดยโสธร หรือ โทร 0801978884 ได้เลยนะคะ