อุบล อยู่หว้า : บนเส้นทางชีวิตเกษตรกรและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงเกษตรกรรมทางเลือก หรือสนใจประเด็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม รวมถึงเรื่องนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นโยบายภาษีที่ดิน การคัดค้านร่างกฎหมายจีเอ็มโอ เกษตรพันธสัญญา การค้าเสรี ไปจนถึงเรื่องสารเคมี และพรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน คงคุ้นเคยกับชายที่ชื่อว่า อุบล อยู่หว้า กันดี แต่สำหรับคนทั่วไป อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก ที่ได้รับรู้ และตระหนักว่า การอยู่รอด และเติบโตของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ผู้ผลิตซึ่งทำให้เรามีอาหารที่ทั้งดีต่อสุขภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อมกินนั้น มีชายคนนี้ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ที่ช่วยทำงาน ขับเคลื่อน ผลักดัน รณรงค์ เรียกร้อง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมขึ้นมา
“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับมลาย
ดาวยังพราย ศรัทธา เย้ยฟ้าดิน”
บทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ดังก้องขึ้นมาในหัว หลังจากมีโอกาสได้นั่งพูดคุยสนทนาการเดินทางของชีวิตกับพี่อุบล อยู่หว้า ผู้ทำงานด้านชุมชน และมีบทบาทสำคัญในการทำงานกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งทำงานสนับสนุน ส่งเสริมเรื่องเกษตรทำเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นการปลูกหลากหลายให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ โดยไม่ใช้สารเคมี มาอย่างยาวนาน คือตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
พี่อุบล เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนร้อยเอ็ด อ.เกษตรวิสัย อยู่บ้านหัวรอนชาติ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลมากๆ มีแต่ทางเกวียนเข้าไป เรียกว่าไม่มีถนนจนถึงยุครัฐบาลคึกฤทธิ์เลยทีเดียว และด้วยความที่เติบโตอยู่ในชนบทที่แสนห่างไกลความเจริญ ตอนนั้นก็มีความใฝ่ฝันอยากเข้ากรุงเทพ เมืองฟ้าอมรที่ใครๆก็ว่าเจริญ
แม้ว่าเพื่อนๆในหมู่บ้านแทบจะไม่มีใครเรียนสูง แต่เขากลับมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียน และด้วยความหวังว่าจะสอบบรรจุรับราชการเป็นเกษตรตำบล เขาจึงเลือกเรียนเกษตร ตั้งใจเรียนตั้งแต่ ปวช. ปวส. จนกระทั่งจบปริญญาตรีที่เกษตรบางพระ
อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ เขาไม่ได้เป็นเกษตรตำบลอย่างที่ตั้งใจ เพราะกว่าจะเรียนจบ ตำแหน่งก็ไม่ว่างให้สอบบรรจุแล้ว “มองย้อนกลับไป บางทีก็รู้สึกว่าไม่น่าไปเรียนเลย เพราะตอนนั้น ชาวนาที่ยากจนส่งลูกเรียนก็ลำบากมาก ตอนเขียนจดหมายมาขอเงินแม่ พี่สาวเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นข้าวยังไม่แก่พอ แม่ต้องไปเดินเลือกเฉพาะรวงข้าวที่แก่ แล้วตัดยีเอาเมล็ดข้าวไปขาย ถึงมีเงินส่งไปให้” พี่อุบลเล่า พร้อมกับบอกว่า ส่วนตัวเองก็ต้องทำงานหนัก หาเงินไปเรียน กว่าจะเลิกงานบางทีก็เที่ยงคืน ตอนนั้นจากเด็กเรียนเก่ง ก็ได้เกรดน้อยลง เพราะเรียนแทบไม่รู้เรื่อง
แต่ใครเล่าจะรู้ว่า เส้นทางชีวิตอาจลิขิตให้ชายคนนี้ เดินทางเข้าสู่เมืองกรุง เพื่อไปเจอกับเหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในช่วงเวลานั้น การมีโอกาสได้ใช้ชีวิตคลุกคลี ร่วมวงอยู่กับกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายช่วงที่เรียนอยู่นั้น ก็ส่งผลทำให้ จากเดิมที่เคยมีความหมายมุ่งว่าจะเรียนเพื่อทำงานให้ได้เงินเยอะๆ เขาก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด เข้าใจโครงสร้างทางสังคม ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ รอบตัวมากขึ้น จนก่อเกิดเป็นอุดมคติขึ้นในใจ

พี่อุบลเล่าย้อนให้ฟังว่า ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ เคยไปทำงานในฟาร์มหมู เรียกว่าต้องนอนในคอกหมูเลย ตอนนั้นในชีวิตการทำงานรู้จักคนอยู่แค่ 9 คน เลยตัดสินลาออก กลับไปอยู่อีสาน และได้รับคำแนะนำจากพี่ที่รู้จัก ให้ไปทำงานในโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ไทย-ออสเตรเลีย ตอนนั้นประมาณปี 2529 เข้าไปทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ชาวบ้าน เป็นงานฝ่ายสังคมที่ทำร่วมกับทีมวิศวกร ที่มาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ตรงนั้น พลิกฟื้นจากพื้นที่อันแสนแห้งแล้ง ให้กลายเป็นทุ่งนาเขียวขจี เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของไทย
หลังจากงานที่โครงการทุ่งกุลาร้องไห้ พี่อุบลก็ทำงานคลุกคลีอยู่ในแวดวงการพัฒนาชุมชนกับองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆมาโดยตลอด จนกระทั่งประมาณปี 2538 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจปูม ค่าแรงขึ้นสูง จนทำให้ชาวบ้านที่เคยทำเกษตรผสมผสานอย่างดี ตัดสินใจทิ้งแปลงเกษตร เข้าเมืองไปทำงานก่อสร้าง เพราะได้ค่าแรงเยอะมาก พี่อุบลเล่าว่า ตอนนั้นขนาดในแวดวงนักพัฒนาบางกลุ่ม ก็ยังเกิดการวิเคราะห์ว่าอาชีพเกษตรอาจไม่ใช่คำตอบ ประเทศไทยควรจะมุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรมมากกว่า อย่างไรก็ตาม พอเกิดการปฏิวัติในยุครัฐบาลชาติชาย เศรษฐกิจก็ซบเซาลงอีกครั้ง ก็เลยเกิดการกลับมาทำงานฟื้นเครือข่ายเกษตรกรขึ้นมา
จากเดิมที่เคยมีองค์กรที่ทำงานส่งเสริมเกษตรร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2532 แล้วห่างหายกันไป ก็ชวนกันกลับมาคุยกันใหม่ว่าจะทำงานกันต่ออย่างไร จนกระทั่งเกิดการสรุปบทเรียนในงานมหกรรมเกษตรครั้งที่ 2 ซึ่งพบว่าการเสนอนโยบายอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ผล ในที่สุดเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเลยตัดสินใจร่วมกันชุมชนหน้าทำเนียบ 99 วัน ร่วมกับสมัชชาคนจน จนได้รับงบประมาณจากภาครัฐ มาทำโครงการนำร่อง ฯ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างเหมาะสม และจากนั้นมา พี่อุบล ก็ยังคงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการทำงานให้กับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อถามถึงภาพฝันที่เขาอยากเห็น พี่อุบลตอบว่า สิ่งที่อยากเห็น คือ เรื่องความเป็นธรรม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้สึกว่าสังคมเราไม่ตรงไปตรงมา ไม่โปร่งใส จะทำอะไรที่ไหน ก็มีผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น เรื่องที่ใฝ่ฝันอยากให้ก้าวหน้า คือ จากการทำงาน เชื่อว่าประเทศไทยเราน่าจะสามารถผลิตด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งประเทศ ถ้าทำอย่างเอาจริงเอาจัง แต่พอทำงานขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ก็มีแรงเสียดทานจากกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องสารเคมี เต็มไปหมด
หรือการพยายามขับเคลื่อนให้ภาครัฐเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืน เช่นโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งใช้ข้าวปีละหลายแสนกิโล ก็น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ แต่โรงพยาบาลก็ไม่เคยซื้อข้าวจากชาวนารายย่อยเลย
“ตอนยุคแรกๆ ก็มีความฝันอยากทำอะไรให้สำเร็จสักอย่าง แต่ตอนนี้เข้าใจ และรู้ว่าไม่ง่าย ถ้าหวังให้ทำสำเร็จในช่วงชีวิตนี้อาจจะยาก ตอบไม่ได้ว่าจะสำเร็จมั้ย สิ่งที่คิดตอนนี้คือ ทำให้ดีที่สุดในช่วงชีวิตเรา และพยายามส่งต่อ ทำให้เป็นภารกิจของเพื่อนมนุษย์ ที่จะช่วยต่อสู้ร่วมกันต่อไป เป็นการต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด และก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างๆไป” พี่อุบลกล่าว
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะกำลังเกิดคำถามว่า แล้วเราจะมีส่วนช่วยกัน “ต่อสู้”ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง และมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน การต่อสู้เรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของเกษตรกร ผู้ผลิต หรือผู้ที่ทำงานกับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเราๆท่านๆทุกคน ที่เป็นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
พี่อุบลยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นมาว่า โดยพื้นฐาน ถ้าเป็นเกษตรกร จะปลูกอะไรก็ดูที่สำรับกับข้าวว่ากินอะไรบ้าง แล้วเริ่มออกแบบการผลิตจากความต้องการในท้องถิ่น ก็จะมีความหลากหลาย ลดความเสี่ยงทั้งเรื่องแมลง เรื่องฟ้าฝนที่แปรปรวน รวมถึงเรื่องตลาด ก็มีความยืดหยุ่น มีความหลากหลายควบคู่ไปกับอาหารในท้องถิ่น ซึ่งถ้ามีการผลิต และมีการสนับสนุนให้เกิดสายพานระบบอาหารท้องถิ่น ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนทั้งเกษตรกรรายย่อย และมีส่วนช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม คือลดค่าขนส่ง ลดการใช้สารเคมีได้จำนวนมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมอาหารของบรรษัทขนาดใหญ่ ได้เข้าไปส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก บางครั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็นำไปสู่การทำลายความหลากหลายในการผลิต รวมถึงลดโอกาสในการทำมาหากินของรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้บริโภค เลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกที่ขายในห้างร้านใหญ่ๆ แทนการสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย ก็ยิ่งส่งผลทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถอยู่รอดได้ เรียกว่าเงินที่จ่ายไป แม้จะถูก แต่ก็ไหลไปอยู่กลุ่มทุนเพียงไม่กี่คน ในขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยก็ไม่สามารถทำราคาให้ต่ำลงขนาดนั้นได้
“พลังสร้างสรรค์เกิดจากคนเล็กๆเสมอ แต่ถ้าคลื่นใหญ่มันมักจะมากลืนกิน เช่น ขนมเป็นของคนๆหนึ่งผลิต พอดัง บริษัทก็มาซื้อ มากลืนกินไป แต่ถ้าเราสร้างจุดเล็กๆ แล้วไม่ถูกกลืน ไม่ยอมถูกกลืน มันก็อาจจะสร้างแรงต้านขึ้นมาได้ โดยธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น” พี่อุบลกล่าว
ฟังแล้วก็อดคิดทบทวนตามไปด้วยไม่ได้ ว่าแล้วในการดำเนินชีวิตของเรา เรามีส่วนช่วยสร้างจุดเล็กๆ ที่ไม่ถูกกลืนกินจากกลุ่มทุนรายใหญ่มากน้อยเพียงใด
ต้องยอมรับว่า การทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และก็รู้สึกทั้งขอบคุณ และนับถือหัวใจของคนที่ช่วยกันทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างชายที่ชื่อว่า อุบล อยู่หว้า คนนี้
เมื่อถามว่าท้อบ้างมั้ย พี่อุบลตอบว่า “ก็มีท้อบ้าง บางครั้ง แต่ไม่ตลอด พอท้อก็จะไปอยู่กับธรรมชาติ ไปคุยกับวัว มีแรงก็กลับมาทำงานต่อ สิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจที่ทำให้มีแรงทำงานต่อทุกวันนี้ คือการได้ยืนอยู่ข้างเดียวกับคนที่เสียเปรียบ หรือคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นการหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณ เป็นภูมิใจที่อยู่ลึกข้างใน แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่มีเงินเยอะ เรียกว่าทำงานแบบไม่มีเงินเดือน แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติ มีความสำคัญ”
“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับมลาย
ดาวยังพราย ศรัทธา เย้ยฟ้าดิน”
ขอจบด้วยบทเพลงที่ก้องดังในหัว เมื่อลุกจากโต๊ะการสนทนาวันนั้นอีกครั้ง
ด้วยจิตคารวะจริงๆ
Leave a Reply