สรุปเวทีห้องย่อย: วิถีเกษตรนิเวศกับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

1.สถานการณ์และการปรับตัวจากกการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับพื้นที่

1.1 “เกษตรนิเวศ ระบบอาหาร และพลังงานที่ยั่งยืน” โดยคุณนันทวัน หาญดี สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา

            ผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติโลกร้อนที่ปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะโลกเดือดนั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่ใช่ผลกระทบที่เป็นแบบแผนและควบคุมได้ แต่มีความแปรปรวนเพิ่มขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในการรับมือหรือปรับตัวในอนาคต จากประสบการณ์ของเครือข่ายที่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นได้พัฒนาเข้าสู่ในระบบเกษตรนิเวศเพื่อสร้างความหลากหลายและสร้างฐานความมั่นคงอาหารในระดับครอบครัวและชุมชน ควบคู่กับการหนุนเสริมในการนำใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (เช่น โรงเรือนพลาสติกที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักได้ในช่วงฤดูฝนไม่ได้รับความเสียหาย หรือในกลุ่มผู้สูงอายุอาจมีการยกแปลงปลูกเพื่อให้ง่ายและสามารถเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง) เพื่อที่จะเสริมขีดความสามารถในการปรับตัว เกษตรนิเวศเป็นระบบเกษตรที่สร้างความหลากหลายพันธุกรรมพืชท้องถิ่น การฟื้นฟูทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล สร้างฐานความมั่นคงทางอาหาร และมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพ

            สำหรับการผลิตของเครือข่ายนั้นมีการใช้พื้นที่นิเวศย่อยเพื่อสร้างความหลากหลายของป่าอาหาร รวมถึงการผลิตแบบสวนหลังบ้านที่ให้ความสำคัญกับหลากหลายของพันธุ์พืชยืนต้นรวมทั้งพันธุ์พืชพื้นบ้านที่จะเป็นอาหารและรายได้ การจัดระบบการผลิตหลายชั้นเรือนยอดที่ทำให้เห็นระบบในการสร้างความสมดุลของระบบเกษตรและในป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน ตลอดจนการจัดการน้ำในพื้นที่มีความหลากหลายโดยมุ่งเน้นระบบการจัดการน้ำแบบประหยัดและมีประสิทธิภาพ (เช่น การใช้โซลาร์เซลล์มาใช้ในการจัดการน้ำภาคเกษตร) รวมทั้งจำเป็นที่ต้องมีการใช้เครื่องจักรกลที่เข้ามาช่วยในการเตรียมแปลงการผลิตภายใต้การจัดการระดับกลุ่ม

1.2 ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต: คุณปราณี มรรคนันท์ เครือข่ายสมาคมคนทาม อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

            ด้วยพื้นที่ในการดำเนินงานของเครือข่ายนั้นเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลตอนกลางประมาณ 200 กว่าหมู่บ้าน ดังนั้นพื้นที่ทำงานมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือ ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งมีปัจจัยหลัก 2 ด้าน คือ 1) ขาดการจัดการแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ และ 2) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้พื้นที่มีความเสี่ยงและเปราะบาง

            จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังข้างต้น ทำให้เครือข่ายร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งเครือข่ายมีแนวทางการรับมือในช่วงที่ผ่านมา คือ การทดลองปลูกพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์เพื่อทดสอบปลูกในพื้นที่ต่างกันโดยเฉพาะพื้นที่ทามที่มีความหลากหลายทางนิเวศ ในช่วงของการทดสอบปลูกพันธุ์ข้าวนั้น พบว่า 1) ความรู้เรื่องพันธุกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็น การขาดแคลนข้าวในพื้นที่คือเรื่องพันธุกรรมเพราะข้าวมีหลากหลายสายพันธุ์ที่ไม่ใช่มีเพียงพันธุ์ข้าวมะลิ105 กข6 หรือสายพันธุ์ข้าวหลักอื่นที่ตลาดต้องการ, 2) เกษตรกรต้องมีความเข้าใจนิเวศของพื้นที่ตนเอง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีพื้นที่หลายระดับ และ 3) ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องรู้เท่าทัน เพื่อนำมาวางแผนการผลิตหรือคาดการณ์ระดับน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เกษตรกรควรมีการศึกษาและมีการเรียนรู้ร่วมกัน

1.3 เกษตรนิเวศในสวนยาง: คุณณฐา ไชยเพชร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สงขลา

            ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ชัดในช่วงปี 2554 ที่พื้นที่เผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่สวนยาง จากวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรสวนยางมีการรวมกลุ่มและเริ่มปรับระบบการผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องด้วยการทำสวนยางเชิงเดี่ยวที่เห็นชัดว่าไม่เอื้อต่อการดำรงชีพ เพราะว่ามียางอย่างเดียวไม่ได้มีพืชอาหาร โดยในช่วงระยะแรกเกษตรกรมีการจัดการสวนยางในลักษณะป่าปล่อย เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟูด้วยตนเอง และบางส่วนมีการจัดการสวนยางในลักษณะป่าปลูก โดยเกษตรกรมีการปลูกพืชผสมในสวนยาง เช่น กาแฟ โกโก้ หรือไม้เศรษฐกิจต่างๆ โดยผลจากการจัดการในลักษณะป่าร่วมยางนี้ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารและประโยชน์ทางยาเพื่อดูแลคนในครอบครัวและชุมชน รวมถึงมีรายได้ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น

1.4 เกษตรนิเวศบนพื้นที่สูงกับการปรับตัว: คุณศิวกร โอโดเชา เกษตรกรลุ่มน้ำวาง จ.เชียงใหม่

            การทำเกษตรแบบปากะญอมีต้นทุนสำคัญคือในธรรมชาติมีป่า และมีสัตว์ป่าที่ทำให้ระบบธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีอาหารในป่าหลากหลายที่คนในชุมชนสามารถนำมาเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี ปากะญอมีความเชื่อว่าถ้าปลูกพืชมากกว่า 30 ชนิดก็จะทำให้ชุมชนสามารถเก็บเกี่ยวพืชอาหารได้ทุกฤดูกาลที่แสดงถึงความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน สำหรับหลักคิดในการปลูกข้าวบนพื้นที่สูงที่ว่า “ไร่คือพี่ นาคือน้อง” นั้นเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า 1) พันธุ์ข้าวไร่ปลูกในนาได้ แต่ข้าวนาปลูกในไร่ส่วนใหญ่ไม่ได้ และ 2) การจัดการข้าวไร่มีความหลากหลายและมีการจัดการน้อยกว่าการทำนา

            ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้ในพื้นที่เริ่มเผชิญปัญหา เช่น รูปแบบการตกของฝนและการกระจายตัวของฝนที่เปลี่ยนไปจากเดิม และช่วงอุณภูมิแปรปรวน เช่น ในช่วงฤดูหนาวมีระยะที่สั้นลงทำให้สภาพอากาศเย็นไม่ต่อเนื่อง ซึ่งได้กระทบกับการผลิตในพื้นที่ ดังนี้

  • เกิดการแข่งขันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำเนื่องจากระดับน้ำในห้วยที่ลดลง จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนให้เข้าถึงน้ำที่เพียงพอในกระบวนการผลิต
  • ปริมาณผลผลิตในพื้นที่ลดลง เช่น ข้าว กาแฟ และไม้ผลบางชนิด เนื่องจากการระบาดของโรค-แมลง และการที่มีสภาพอากาศที่เย็นไม่ต่อเนื่องทำให้การติดผลของกลุ่มไม้ผลเมืองหนาวลดลง ซึ่งส่งผลต่อความหลากหลายของผลผลิตในพื้นที่ที่สัมพันธ์กับแหล่งอาหารและรายได้ของคนในชุมชน

 2.ข้อเสนอทางนโยบาย

  • การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถจัดการแปลงการผลิตในระบบเกษตรนิเวศได้อย่างเป็นรูปธรรมและทำได้จริง โดยการส่งเสริมเกษตรนิเวศอย่างจริงจังภายใต้แผนการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเกษตรนิเวศตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการจัดการทั้งระบบเพื่อให้เกิดการขยายผลเรื่องเกษตรนิเวศ
  • สนับสนุนงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • ศึกษาบทบาทเกษตรนิเวศในการลดการปล่อยหรือดูดซับก๊าซเชิงปริมาณ/ตัวเลขเชิงสถิติเพื่อให้เห็นประโยชน์ในการผลิตดังกล่าว โดยรัฐมีการสนับสนุนให้เกิดการผลิตเกษตรนิเวศโดยเฉพาะในพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อยที่เป็นพื้นที่บอบบางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ควบคู่กับการพัฒนานักวิจัยชาวบ้านเพื่อสนองต่อการปรับตัวได้ทันท่วงที โดยกระจายสู่ท้องถิ่นต้องพัฒนานักวิจัยชาวบ้านชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นผ่านการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • ส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างระหว่างแถวพืชหลัก (เช่นปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา) เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวพืชหลักในการสร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรผ่านการส่งเสริม/ให้ความรู้กับเกษตรและชุมชน
  • การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงสิทธิเกษตรกรในพื้นที่ที่เกษตรกรสามารถสร้างพื้นที่อาหารและรายได้ได้จริง ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มั่นคงยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน/ทางเลือกควบคู่กับการทำเกษตรนิเวศ
  • กรณีเกษตรกรที่มีการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรนิเวศ ไร่หมุนเวียน ฯลฯ รัฐควรให้การสนับสนุน/หนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น
  • สนับสนุนชุมชนในการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช โดยการมีส่วนร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความหลากหลายพันธุกรรม ผ่านการเสริมเสร้างศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนมีความรู้และทักษะเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์ และผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตนเอง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่น ชาวนาต้องรู้จักพันธุ์ข้าวตัวเองถึงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นต้น
  • สนับสนุนคนรุ่นใหม่สู่ภาคการเกษตร โดยภาครัฐให้การสนับสนุนทุนการศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาให้ทุนในการประกอบอาชีพเกษตร
  • ด้านการประกันภัยพืชผลยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะกลไกการประเมินความเสียหายและความล่าช้าในการจ่ายเงินสินไหม ควรนำใช้ระบบดาวเทียมเพื่อประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติ กลไกการประเมินความเสียหายดังกล่าวจะนำมาสู่การประเมินความคุ้มระหว่างเบี้ยประกันและค่าสินไหมทดแทนของโครงการประกันภัยพืชผลว่าคุ้มหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการประกันภัยพืชในการลดความเสี่ยงผลผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ซึ่งอาจจะพิจารณาควบคู่กับการใช้ข้อมูลเชิงตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผล กรณี USA เป็นกองทุนเดียวที่สนับสนุนหลายกลุ่มพืช