รูปธรรมและประสบการณ์การปรับตัวของเกษตรกรภาคตะวันออกในวิกฤตโลกเดือด : คุณนันทวัน หาญดี ตัวแทนสมาคมเกษตรทางเลือก

       จากงานมหกรรม กู้โลกเดือด : COP28 ภาคประชาชน “วิถีเกษตรนิเวศกับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมย่อย 401 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ บางช่วงบางตอนของเวทีสัมมนา “เกษตรนิเวศ ระบบอาหาร และพลังงานที่ยั่งยืนของเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออก” คุณนันทวัน หาญดี ตัวแทนสมาคมเกษตรทางเลือก ได้กล่าวถึง

สถานการณ์วิกฤตโลกเดือดในปัจจุบันไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นแบบแผนและควบคุมได้ แต่เป็นสถานการณ์ที่มีความแปรปรวนสูง จนเกินกว่าที่เกษตรกรจะปรับตัวรับมือได้ในอนาคตระยะยาว เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเคยกระจายผลผลิตส่งเมืองหลวงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12 ตัน/เดือน ปัจจุบันลดลงเหลือ 7.2 ตัน/เดือน

การปรับตัวของเครือข่ายฯ ในวิกฤตโลกเดือด 1)ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรเป็นระบบเกษตรนิเวศ 2)การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตอย่างยั่งยืน เช่น โรงเรือนกึ่งเปิด/พรางแสง เครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับขึ้นแปลงเพาะปลูกเพราะมีแรงงานจำกัดและเป็นผู้สูงอายุ 3)การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กในแปลงเกษตร การกระจายน้ำจากสระในแปลงโดยใช้พลังงานโซล่าเซลล์ 4)การสำรองเมล็ดพันธุ์และความหลากหลายของพันธุกรรมพืช พันธุ์ข้าว ผักพื้นบ้าน ไม้ผล 5)การใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนการผลิต และ 6)เปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด

เครือข่ายฯ กำลังพัฒนาเข้าสู่ระบบเกษตรนิเวศ เพื่อสร้างความหลากหลายและฐานความมั่นคงทางอาหารในครอบครัวและชุมชน วิถีเกษตรนิเวศช่วยเกษตรกรในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 1)เกษตรนิเวศสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ 2)สร้างฐานทรัพยากรพื้นบ้านและความมั่นคงทางอาหารในครอบครัวและชุมชน 3)การใช้พลังงานสะอาด/พลังงานหมุนเวียนในระบบการผลิต และ4)สร้างรายได้จากผลผลิตในแปลงเกษตร ที่หลากหลาย ระบบเกษตรนิเวศมีพืชที่หลากหลายเป็นแหล่งอาหารให้เกษตรกรเพื่อบริโภค แบ่งปัน เหลือจึงเก็บขายสร้างรายได้ นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารชุมชนมีระบบการผลิตด้วยพลังงานที่ยั่งยืน

          ข้อเสนอเชิงนโยบาย 1)กองทุนส่งเสริมเกษตรนิเวศ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่เกษตร/วิถีพื้นถิ่น การสำรองเมล็ดพันธุ์และการพัฒนาพันธุกรรมเมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2)เกษตรกรเข้าถึงการพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมฯระดับพื้นที่ 3)สนับสนุนงานวิจัยระบบเกษตรนิเวศ 4)ส่งเสริมพลังงานทางเลือก ทำเกษตรนิเวศด้วยนวัตกรรมพลังงานสะอาด และ5)จัดเก็บภาษีคาร์บอนเครดิตและการจัดสรรภาษีอย่างเป็นธรรม

การเก็บภาษีคาร์บอนเครดิตไม่ได้ช่วยลดโลกร้อน การปรับตัวของเกษตรกรเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออก เพื่อสร้างความเข้มแข็งและไม่เป็นการผลักภาวะจำยอมให้เกษตรกรต้องทนรับปรับตัวกับวิกฤตโลกเดือดฝ่ายเดียว ทั้งที่สาเหตุหลักเกิดจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล