เกษตรอินทรีย์กับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ?

โดย คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้อำนวยการมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

หากมองถึงสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันที่หลายคนเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เรายังไม่เจอกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแต่เป็นความแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งบางครั้งเรามักจะเจอกับสภาพอากาศสุดขั้ว ที่ไม่ว่าจะปรับตัวทำเกษตรอินทรีย์หรือระบบการผลิตอื่นส่วนใหญ่ก็จะไม่รอด ดังตัวอย่างสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งไม่ว่าจะปลูกพืชหลากหลายหรือปลูกในรูปแบบไหนน้ำก็จะท่วมหมด

ลักษณะการปรับตัวรับมือกับความแปรรวนของสภาพอากาศ

การปรับตัวรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศนั้นมีหลายขั้น หลายรูปแบบ หากอิงจากงานศึกษาเรื่องการปรับตัวที่ทำกันมากกว่า 130 ประเทศ สามารถสรุปการปรับตัวได้เป็น 4 ขั้น ดังต่อไปนี้

ขั้นแรกคือการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงพื้นฐาน (เช่น ความยากจน) หากเกษตรกรที่ยากจนมีที่ดินน้อย หรือที่ดินไม่มีความมั่นคงนั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงพื้นฐาน แต่ถ้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ก็จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงระดับหนึ่ง และลดความเสี่ยงในเรื่องผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศได้ส่วนหนึ่ง

ขั้นที่สองเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ส่วนใหญ่เป็นงานพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งรวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการแก้ปัญหาในระดับปัจจัยเสี่ยงพื้นฐาน

ขั้นที่สามเป็นระดับที่ต้องอาศัยข้อมูล (เช่น ปัจจัยเสี่ยงพื้นฐาน) หากมีการศึกษาเรื่องการปรับตัวต้องศึกษาในระดับพื้นที่เพราะความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงมีความจำเพาะที่สูงมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องสภาพอากาศเท่านั้นแต่ยังไปสัมพันธ์กับโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นในแต่ละพื้นที่ แน่นอนว่าการศึกษาข้อมูลดังกล่าวย่อมจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถปรับตัวและสามารถจัดการกับปัจจัยเสี่ยงได้ตรงกับบริบทที่เกิดขึ้นได้จริง

ขั้นที่สี่ของการปรับตัวคือ ในกรณีที่เกิดผลกระทบและเห็นได้ชัดเจน ดังเช่นกรณีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การปรับตัวของชุมชนชายฝั่งไมใช่ไปส่งเสริมให้ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แต่การปรับตัวตัวคือการย้ายที่อยู่และเปลี่ยนอาชีพจากเพาะปลูกเป็นทำประมงเพราะน้ำท่วมในพื้นที่

การปรับตัวรับมือต่อโลกร้อนนั้นจะต้องไปไกลกว่าการสร้างภูมิคุ้มกัน?

หากตั้งคำถามถึงงานด้านการพัฒนาเกษตรในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านทั้งองค์กรรัฐหรือองค์กรเอกชนว่า เราทำการปรับตัวไหม ก็ตอบได้ว่าเป็นการปรับตัวแต่เป็นแค่การแก้ไขปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานว่าด้วยเรื่องความยากจน ความมั่นคงที่ดิน ความรู้ด้านการเกษตร การเกษตรที่มีความหลากหลายขึ้น หรือบางองค์กรให้น้ำหนักเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น การช่วยในเรื่องการปรับตัวที่จะจัดการกับปัจจัยเสี่ยงและการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะยังน้อยอยู่และอาจจะยังไม่เห็นชัด แม้ว่าการสร้างภูมิคุ้มกันกับการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานในการปรับตัวเป็นเรื่องที่ทำกันมานาน แต่ว่ายังประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อยด้วยหลากหลายปัจจัย ดังเช่นการขยายเกษตรอินทรีย์ที่ยังคงจำกัดที่ 0.2% ของการเกษตรทั่วประเทศ

“ถ้าเราจะตอบโจทย์ในเรื่องของการปรับตัวรับมือกับโลกร้อนเราต้องไปไกลกว่าสิ่งที่เราทำอยู่” การจัดการปัจจัยเสี่ยงเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือหรือการใช้ข้อมูลเชิงวิชาการในการวิเคราะห์ การโปรเจคชั่นความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันไปอีก 30-50 ปีข้างหน้าเพราะสภาพอากาศจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้นสิ่งที่คิดว่าปรับตัวได้ดีในปัจจุบันอาจจะทำให้เรายิ่งเปราะบางในอนาคต การจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ต้องมีการปรับตัวที่ดีจะต้องมองความเสี่ยงในปัจจุบันควบคู่กับความเสี่ยงในอนาคต หรือความเป็นไปได้ในความเสี่ยงในอนาคตเพราะมันมีช่องทางไปได้หลายแบบ

“สังคมไทยเป็นสังคมที่มีแนวโน้มชอบคำตอบแบบสำเร็จรูปที่บอกว่าทำแบบนี้คือการปรับตัว โดยทำเป็น โมเดลการปรับตัวแล้วทำเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งวิธีแบบนี้เป็นการคิดแบบผิดอย่างร้ายแรง” เพราะบริบทแต่ละพื้นที่มีความจำเพาะสูง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการบอกเกษตรกรในเรื่องทางเลือกในการปรับตัว โดยการประเมินความเสี่ยงและศึกษารูปแบบการทำการเกษตรในปัจจุบันเพราะเกษตรกรมีการปรับตัวตลอดเวลา จากนั้นทำเป็นโมเดลการประเมินความเสี่ยงของภูมิอากาศในอนาคตร่วมกับเกษตรกร รวมทั้งให้ความสำคัญในการปรับตัวต่อความแปรปรวนสภาพอากาศแบบองค์รวมไม่ใช่การเป็นการทำงานแบบแยกส่วน

เกษตรอินทรีย์มีศักยภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น

“เกษตรอินทรีย์มีศักยภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น ถ้าใครบอกว่าทำเกษตรอินทรีย์แล้วคุณจะปรับตัวรับมือกับโลกร้อนได้อันนี้บอกตรงๆ ว่าเวอร์มันไม่เป็นจริง” การทำเกษตรอินทรีย์มีศักยภาพในการตอบโจทย์เรื่องความผันผวนได้ระดับหนึ่งแต่ว่ายังไม่เพียงพอ การทำเกษตรอินทรีย์สร้างภูมิคุ้มกัน การทำให้ดินดีขึ้น ทำกับความแห้งแล้งในระยะสั้น และสามารถตรึงคาร์บอนที่มีในอากาศลงไปในดินมากกว่าการทำเกษตรเคมี

อ้างอิง www.sathai.org