มุมมองการพัฒนาพันธุ์ข้าวในไทย

โดย ดร.รณชัย ช่างศรี นักวิจัยชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จ.ขอนแก่น

ดังที่หลายคนทราบกันว่าหลักการพื้นฐานเกษตรกรรมยั่งยืนคือการพึ่งพาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตหรือการนำปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นาเข้าสู่ในไร่นาให้น้อยที่สุด และนำปัจจัยการผลิตในไร่นาให้ออกสู่นอกไร่นาน้อยที่สุดเช่นกันเพื่อให้เกิดการพึ่งพาในระบบการผลิต ซึ่งการอนุรักษ์และการฟื้นฟูตามหลักเกษตรกรรมยั่งยืนมีความสำคัญที่ไม่เฉพาะเรื่องความสมดุลของนิเวศในไร่นาเท่านั้น แต่ได้รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องรักษาและคัดพันธุ์ไว้ใช้เอง ซึ่งข้อดีของข้าวคือข้าวเป็นพืชผสมตัวเองที่เกษตรกรสามารถคัดพันธุ์บริสุทธิ์เก็บไว้ใช้เองตราบชั่วลูกชั่วหลาน

ความท้าทายของชาวนาภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พื้นที่นาข้าวปัจจุบันในไทยมีประมาณ 62 ล้านไร่ ที่ทั้งกลุ่มรัฐ เอกชน พี่น้องชาวนา และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงพี่น้องในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่สามารถผลิตได้ ซึ่งหากมองตัวเลขที่หน่วยงานรัฐและเอกชนผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่เพียงพอ แม้เกษตรกรบางส่วนเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง แต่ก็มักเผชิญกับความไม่บริสุทธิ์ของสายพันธุ์ได้เท่าที่ควรซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ จากบริบทพื้นที่การเกษตรในไทยที่ 3 ใน 4 เป็นพื้นที่น้ำฝน เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีความสามารถเพิ่มผลผลิตที่จำกัด และถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายของนักปรับปรุงพันธุ์

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกหรือระดับสากลซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนเท่านั้น พื้นที่ในชลประทานก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำให้กับพี่น้องที่ทำนาได้ ไม่เฉพาะการการเผชิญภาวะภัยแล้งเท่านั้น แต่ได้รวมถึงปัญหาน้ำท่วม ดังเช่นพี่น้องทางอีสานที่เจอฝนแล้ง แต่พอฝนตกก็เกิดน้ำท่วมเสียหายซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ชนิดโรคและการระบาดของแมลงศัตรูข้าวก็เปลี่ยนแปลงไปที่พบว่ามีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกษตรกรหลายรายยังจำได้ดีกับโรคไหม้คอรวงในข้าวหอมมะลิในการทำนาปีของช่วงปีที่ผ่านมา

ที่ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเสียหายจนรัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาให้กับเกษตรกร จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกล่าวได้ว่าการกลับไปทำนาแบบเดิมก็อาจลำบากและไม่ว่าเกษตรกรจะขยันเพียงใด แต่ถ้าเกิดภัยแล้งมากๆ ก็สร้างความยุ่งยากในการทำนามากขึ้นเท่านั้น อย่างกรณีที่เกิดการระบาดของด้วงดำในพื้นที่ปลูกข้าวทางอีสาน หรือหนอนกอข้าวที่ระบาดที่ได้สร้างความเสียหายให้กับการปลูกข้าวในบางปี รวมถึงภัยแล้งที่เป็นเหตุให้เกิดวัชพืช และข้าววัชพืชเกิดเพิ่มขึ้น

ทิศทางการยกระดับการปลูกข้าวและการพัฒนาพันธุ์ข้าวในไทย

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวนานั้น เบื้องต้นมีแนวทางในการปฏิบัติการเพื่อลดความเสียหาย ดังต่อไปนี้

  • การหวนกลับไปดูเทคโนโลยีเก่าที่อิงบนฐานในงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโดยทำควบคู่จากการปฏิบัติจริงในนา: การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อใช้แก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาการหว่านข้าวแห้งที่มาทดแทนนาดำในภาคอีสานที่เป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝน แต่พอหว่านข้าวแห้งแล้วรากข้าวลงไม่ลึกเท่าที่ควร ดังนั้นมีโอกาสเผชิญกับภัยแล้งและยืนต้นตายมีสูง แต่หลังจากงานวิจัยได้มีการคิดค้นให้มีการหยอดข้าวลึก 4 ซม. ที่ทำให้รากข้าวหยั่งลึกลงไปถึงระดับน้ำและสารอาหารได้มากกว่าเดิมทำให้โอกาสยืนต้นตายจะน้อยกว่าการหว่านข้าวแห้งธรรมดา และช่วยควบคุมวัชพืชในนาข้าว, ปัญหาวัชพืชที่ได้มีการประยุกต์การตัดปลายข้าวในระยะที่เหมาะสมก่อนที่ข้าวจะแตกช่อดอก, การเสริมองค์ความรู้เรื่องการใช้อัตราการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมที่จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด, การปรับระบบการผลิตเกษตรโดยมุ่งใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการจัดการแบบอินทรีย์ให้มากขึ้น เป็นต้น
  • การศึกษาวิจัยใหม่เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะพร้อมเพื่อที่จะได้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การพัฒนานวัตกรรมที่เพิ่มคุณภาพข้าว เช่น การปลูกอย่างไรให้ข้าวหอมมะลิมีความหอมสูง ทำให้ทนแล้ง ทนหนาว ทนร้อน ทนท่วม ทนความเค็ม, การพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อรองรับกับการผลิตแบบเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น โดยผ่านโครงการคัดข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองบริสุทธิ์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากท้องถิ่น เป็นต้น

อ้างอิง www.sathai.org