พันธุกรรมข้าวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“พันธุ์ข้าวพื้นเมืองแต่ละสายพันธุ์นั้นมีของดี แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากข้าวพื้นเมืองได้อย่างไร การใช้ประโยชน์โดยตรงอาจใช้ไม่ได้ เพราะสถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไป คนปลูกต้องการผลิตมากขึ้น ต้องการเงินมากขึ้น ดั้นนั้นพันธุ์พื้นบ้านจะต้องเป็นเป็นแหล่งพันธุกรรมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านการปรับปรุงพันธุ์น่าจะเป็นภาพแบบนั้นมากกว่า” กล่าวโดย ดร.บุญรัตน์ จงดี นักวิชาการเชี่ยวชาญเรื่องการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการเชื่อมโยงเรื่องพันธุกรรมข้าวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การจัดการน้ำภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง

น้ำถือว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญในการปลูกข้าว จากการวิเคราะห์พบว่าฝนช้าลง ทำให้ฤดูกาลปลูกช้าลงไปด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเกษตรกรขยับช่วงเวลาปลูกข้าวให้ช้าลงเพื่อให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝน แต่การที่เกษตรกรขยับการปลูกข้าวให้ช้าลงนั้นได้ส่งผลให้ข้าวมีการสะสมธาตุอาหารได้น้อย และแน่นอนว่าส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง อย่างเช่นในช่วงนี้ฝนเริ่มตกเกษตรกรเริ่มหว่านข้าวกันหมด แต่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงช่วงกรกฎาคมนี้ฝนอาจทิ้งช่วง แล้วอะไรจะเกิดขึ้น? ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถปลูกได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่เป็นไปได้นี้อาจมองถึงเรื่องการจัดการน้ำ ที่ทำงานร่วมกับผู้เชียวชาญ ปราชญ์ หรืออาจารย์จากสถาบันต่างๆ ที่มีประสบการณ์การทำโคก หนอง นา หรือการทำโครงการน้ำใต้ดิน ที่ทำงานเชื่อมกับหน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำอยู่ในระบบของชุมชน โดยชุมชนได้ใช้และเข้าถึงแหล่งน้ำเหล่านั้นได้จริงควบคู่กับการนำใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการใช้น้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าการปลูกพืชและข้าวในทุกวันนี้ใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แม้เรื่องความหลากหลายของเทคโนโลยีเพื่อเสริมการผลิตข้าวในไทยมีพอสมควรแต่ประเด็นคือไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการลดการใช้น้ำให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง หรือการปลูกข้าวไร่เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร

แนวทางการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว

  • ให้มีเวทีหารือร่วมกันทั้งเกษตรกร นักวิชาการ/นักวิจัย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยกันสร้างแผนของแต่ละภาคว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง โดยมีเป้าให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้จริง เช่น โมเดลโคก หนอง นา โมเดลธนาคารน้ำใต้ดินที่ โดยทำให้ออกมาเป็นโมเดลใหญ่ที่ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และช่วยกันสร้างระบบการผลิตข้าวขึ้นมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำน้อย หรือการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถอยู่ได้ภายใต้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
  • แม้เกษตรกรในหลายพื้นที่มีเกษตรกรแกนนำที่เก่งมีความรู้ แต่การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรยังถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเกษตรกรโดยทั่วไปนั้นส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร รวมถึงการยกระดับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทำขั้นตอนทุกอย่างให้เหมือนกับการพัฒนาพันธุ์ของกรมการข้าวในการผลิตเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพและมีมาตรฐานรับรอง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สร้างประสิทธิภาพ/ศักยภาพให้กับเกษตรกรด้วยตนเองมากขึ้น

อ้างอิง www.sathai.org