กิจกรรมเปิดตัวโครงการ “โครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน”

วันที่ 17 กรกฎาคม 63 ณ โรงแรมฮอลิเดย์การ์เดนท์ จังหวัดเชียงใหม่

กล่าวเปิดงาน โดย คุณเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่

        การที่เกษตรกรเผชิญผลกระทบของ Climate change มาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอื่นที่ส่งต่อเกษตรกร ที่เห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอันหนึ่งของภาคเหนือ ในอดีตเมื่อถึงเดือนมกราคม จะเป็นฤดูกาลที่ลำไยออกดอก ไม่ต้องใช้สารเคมี สารเร่ง แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิม แต่ตอนนี้ ไม่ใช้สารเร่งไม่ออก

        นอกจากนี้ ภัยจากสภาพอากาศมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  ในช่วงแค่ 10 ปีมานี้ หลายพื้นที่ในภาคเหนือทั้งประสบภัยแล้งและน้ำหลากท่วมหลายครั้ง ในบางพื้นที่ประสบทั้งภัยแล้งและน้ำหลากในปีเดียวกัน ปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่. ได้รับโจทย์ว่า ทำอย่างไรต้นลำไยจะไม่ตาย  จากการทำงานเห็นพบว่า เกษตรกร รับรู้ข้อมูลคาดการภัยแล้ง และรู้วิธีการลดแผลกระทบ เช่น การตัดแต่งกิ่งเพื่อลดการคายน้ำ แต่ปัญหาคือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตัดแต่ง ต้นลำไยมีผลอยู่ อยากเก็บเกี่ยวก่อน แต่เมื่อถึงเดือนมีนาคม ต้นลำไยเริ่มแสดงอาการขาดน้ำรุนแรง หากไม่ตัดแต่งกิ่งต้นลำไยจะยืนต้นตาย แต่ชาวบ้านไม่มีเงินในการตัดแต่งกิ่ง และต้องการความช่วยเหลือ  ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า  การปรับตัวของเกษตรกร มีหลากหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแต่การมีองค์ความรู้ในการปรับตัว

บรรยายพิเศษเรื่อง “เกษตรที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย คุณเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่

        การเกษตรไม่เหมือนเดิมมานานแล้วและความเปลี่ยนแปลงนี้จะรวดเร็วขึ้นเรื่อย  และเกษตรกรก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรและได้รับผลกระทบมาโดยตลอด นอกจากนี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรบางด้านยังส่งผลด้านลบต่อสภาพแวดล้อม และกลับมาส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเอง เช่น การใช้สารเร่งลำไย ยิ่งทำให้ต้นลำไยอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

        เกษตรกรจำเป็นต้องทบทวนถึงเป้าหมายของการทำเกษตร ซึ่งแน่นอนว่า  คือ รายได้ เป็นสิ่งแรกที่เกษตรกรทุกคนนึกถึง แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว เกษตรกรต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  การมองเพียงตัวรายรับนั้นไม่เพียงพอสำหรับการวางแผนพัฒนาเกษตรที่จะอยู่รอดได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

        นอกจากนี้ เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันด้านความรู้และปัจจัยการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนการผลิต นอกจากการจดทะเบียนเป็นกลุ่ม เช่น วิสาหกิจชุมชน ยังทำให้ง่ายต่อการสนับสนุนโดยภาครัฐ และการทำการซื้อขายกับภาคธุรกิจ

        ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัย  แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางการตลาด  ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ การทำให้ผลผลิตได้มาตรฐานการผลิต อย่างน้อยก็มาตรฐาน GAP ที่สำคัญต้องเพิ่มช่องทางการตลาดและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์  เช่น  กลุ่ม Young Smart Farmer ที่นำมะม่วงน้ำดอกไม้ไปขาย online สำเร็จ หลังจากที่เกษตรกรผู้ปลูกไม่สามารถส่งออกได้เพราะตลาดปิดจากโควิด  ปัจจุบันการขนส่งมีความก้าวหน้ามาก มีทั้งการขนส่งในรถห้องเย็น

        แต่สภาพอากาศที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้เกษตรกรมีโจทย์ที่ต้องคิดเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง ทั้งในเรื่องการลดความเสียหาย และการลดผลกระทบหรือความเดือดร้อนเมื่อเกิดการสูญเสียผลผลิต เช่น การประกันผลผลิต

ผู้แทนแต่ละตำบลแนะนำพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงานในภาคเหนือ
คุณเมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล นายก อบต. ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

        ดงพญา เป็นพื้นที่ที่ยังคงมีป่าสมบูรณ์ ชุมชนยังสามารถพึ่งพาพืชอาหารจากป่าได้ สำหรับพืชเศรษฐกิจ ในพื้นที่น่าน คือ ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชทนทานปลูกได้ในสภาพพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ จึงมีการปลูกกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่สูง แต่เป็นพืชที่ทำให้สภาพดินเสื่อมเร็ว นอกจากนี้การพึ่งพารายได้จากพืชชนิดเดียวยังทำให้เกษตรกรอยู่ในสภาวะเสี่ยง ต่างกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน

        การที่มีความหลากหลายของพืชในระบบเกษตรช่วยลดความเสี่ยงทั้งต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและด้านตลาด เมื่อเกิดความเสียหายหรือราคาผลผลิตเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่งตกต่ำ ก็ยังมีผลผลิตอื่นที่ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ อีกทั้งเกษตรยังมีความั่นคงทางอาหารจากเกษตรผสมผสานด้วย

        สำหรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหลัก ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ดงพญา คือ การที่ฝนตกหนักทำให้เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงและดินถล่ม ความคาดหวังของตำบล คือ การพัฒนาด้านเกษตรไปในทิศทางที่ยั่งยืน มีความหลากหลายของผลิต สามารถเป็นแหล่งรายได้และความมั่นคงด้านอาหารไปพร้อมกัน

ผู้แทนเจ้าหน้าที่ อบต.บ้านปวง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

        ตำบลบ้านปวง  มี 11 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชนเผ่ากะเหรี่ยงและคนเมืองเท่าๆ กัน  พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ลำไย ข้าวโพด และขิง  ข้าวโพดมักปลูกกันมากในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ สำหรับพืชอาหารยังคงมีการปลูกกันในส่วนหลังบ้าน

        การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ได้แก่ ฤดูฝนล่าช้า และสิ้นสุดเร็ว และมักมีฝนหลงฤดูในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และแห้งแล้งยาวนานขึ้น ทำให้เกิดโรคแมลง เพิ่มสูงขึ้น. วัชพืชก็เพิ่มขึ้น โตเร็ว ทนยาฆ่าหญ้า ปัญหาศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการใช้สารเคมีมาก อีกทั้งแรงงานยังมีราคาแพง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเกษตรสูง  ซึ่งสวนทางกับราคาผลผลิตที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยมาเป็นเวลานานนับสิบปี. นำมาซึ่งภาวะหนี้สินของเกษตรกร

        ความคาดหวังของการเข้าร่วมเป็นกิจกรรมของโครงการ คือ การพัฒนามุมมอง มีวิธีคิด สามารถปรับตัว แก้ไขปัญหา มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาด้านการเกษตร ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณสันติชาติ ยิ่งสินสุวัฒน์ นายก อบต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

        พืชเศรษฐกิจ ได้แก่  ข้าวโพด. ซึ่งเป็นพืชเดียวในพื้นที่ที่ปลูกได้โดยอาศัยน้ำฝนและมีระบบตลาดรองรับ. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบคือ การที่ฤดูฝนล่าช้า เริ่มตกแล้วทิ้งช่วงหายไปยาวนาน ทำให้บ่อยครั้งต้องมีการปลูกข้าวโพดซ้ำ ปีที่ผ่านมาต้องปลูกซ้ำถึง 3 รอบ  เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ ใช้ระบบการกู้ยืมปัจจัยการผลิตมาผลิต เมื่อการปลูกพืชรอบแรกล้มเหลว เกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นนอกจะต้องผลิตใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ยังคงอยู่ในระบบหมุนเงินนี้ และหวังว่าจะสามารถชดใช้หนี้สินได้เมื่อเก็บเกี่ยว.

        สภาพอากาศที่แปรปรวน ยังทำให้เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงวัชพืช เช่น ปีที่ผ่านมามีการระบาดของหนอนข้าวโพดทั่วทั้งพื้นที่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้สารเคมีนี้ยิ่งส่งผลให้ปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาวัชพืชทุกวันนี้รุนแรงมาก หลังจากที่เริ่มใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่

        นอกจากนี้  สภาวะภัยแล้ง ยังมีความถี่สูงขึ้นเรื่อยๆ แหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำที่ลดลง ทำให้ชุมชนประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้

        ความคาดหวัง. ต้องการพัฒนายุทธศาสตร์หรือแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรในตำบลแม่ศึกให้มีทิศทางที่ชัดเจน เพื่อให้มีพลังขับเคลื่อนและสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่

เวทีเสวนา “มุมมองต่อ Climate Smart Agriculture”

มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผลกระทบ และการปรับตัว จากฝ่ายวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และเกษตรกร

        ดร.พนมศักดิ์ พรหมบุรมย์  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ให้ข้อมูลภาพรวม ถึงสาเหตุ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อภาคเกษตร  เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ชัดเจนถึงคำว่า Climate Smart Agriculture การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือการที่ภูมิอากาศของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันเป็นผลมาจากการที่ก๊าซเรือนกระจกซึ่งปกคลุมโลกอยู่นั้นหนาขึ้นทำให้อากาศในโลกอุ่นขึ้นรวมถึงมีความแปรปรวนมากขึ้นในหลายพื้นที่ ก๊าซเรือนกระจกนี้เกิดการกิจกรรมของมนุษย์ และกิจกรรมการเกษตรก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ

        อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลอย่างแตกต่างกันต่อแต่ละพื้นที่และต่อการผลิตเกษตร  บางการผลิตพืชอาจได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศ  แต่หลายพืชก็ได้รับกระทบด้านลบ  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวในภาคเกษตรเพื่อให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ. กล่าวคือ สามารถพัฒนาผลิตภาพ (productivity) ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สามารถฟื้นคืนหรือกลับสู่การผลิตได้แม้ว่าจะเกิดความเสียหายขึ้น. และเป็นการผลิตเกษตรที่ไม่เพิ่มหรือช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ระบบเกษตรที่เท่าทันนั้นไม่ได้จำกัดรูปแบบ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขบริบท เช่น วนเกษตร  เกษตรผสมผสาน. เกษตรผสมผสานการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

        คุณเกียรติศักดิ์ ฉัตร์ดี สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน  เสริมข้อมูลว่าที่ผ่านมาเกษตรแบบอุตสาหกรรมเป็นแหล่งสร้างวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการมุ่งเน้นการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้สามารถจัดการผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดและสามารถแข่งขันราคาได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติ  นอกจากนี้ยังมุ่งขายปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ที่นอกจากจะทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงปัจจัยเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาและรับภาระความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว การผลิตแบบนี้ยังลดความหลากหลายและส่งผลด้านลบต่อระบบนิเวศน์ธรรมชาติด้วย

        ดังนั้น การเกษตรระบบเดิมจึงไม่ใช่ทางออกของเกษตรกรรายย่อย  เกษตรกรต้องสร้างความโดดเด่นให้กับการผลิตของตัวเองและต้องเชื่อมกับผู้บริโภคให้ได้  การรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิตและสร้างตลาดท้องถิ่นให้เกิดขึ้นเป็นความยั่งยืนทั้งต่อการการผลิตเกษตรและสังคมท้องถิ่น. และเขายังได้ยกตัวอย่างความสำเร็จการพัฒนาตลาดชุมชนเกื้อหนุนชาวนาที่อำเภอสันทรายอีกด้วย

        คุณชัยรัตน์ แสงสรทวีศักดิ์ เกษตรกรนําร่องบ้านปางเกี๊ยะ ตําบลแม่ศึก อําเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะที่เป็นเกษตรกรท้องถิ่น  ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนทั้งระบบนิเวศน์ และไม่ว่าจะทำเกษตรแบบใช้สารเคมีหรือเกษตรอินทรีย์ต่างก็ได้รับกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำหลาก  และความเสียหายหรือการลดลงของผลผลิตยังทำให้เกษตรกรต้องทำการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้ผลผลิตเท่าเดิม ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้พื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้น นั่นทำให้พื้นที่ป่าลดลง

        ตัวเขาเองได้พยายามหาทางออกหรือทำเกษตรแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ทำมาเป็นระยะเวลา 7-8 ปีแล้ว  ในพื้นที่ตำบลแม่ศึกมีข้อจำกัดเรื่องตลาดผู้บริโภค เพราะคนในพื้นที่ผลิตอาหารเองอยู่แล้วและต่างก็ต้องการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อจำหน่าย ทำให้เขาพยายามค้นหาตลาดภายนอก และได้เชื่อมต่อกับตลาดอินทรีย์ที่กรุงเทพฯ. โดยการผลิตผักผลไม้อินทรีย์และขนส่งไปขายจนถึงมือผู้บริโภค  และได้ปรับปรุงจนสามารถผลิตปัจจัยการผลิตได้ครบวงจร และมีความหลากหลายของผลผลิตเพิ่มขึ้น. นอกจากนี้เขาปรับเพิ่มการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครอบครัวได้เกือบสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดใช้ระยะเวลายาวนาน. แต่ก็สามารถตอบสนองทั้งด้านรายได้ สุขภาพ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ช่วงถามตอบ
        ผู้ใหญ่บ้านยอดไผ่ ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่. กล่าวว่าตนเองทำวนเกษตรกาแฟ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผลผลิตกาแฟขายได้ราคาถูก. และอยากให้คนที่ประสบความสำเร็จแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนี้

        ดร.พนมศักดิ์   ชี้ให้เห็นว่า มีตัวอย่างที่สำเร็จมากมาย แต่อะไรที่ทำให้สำเร็จได้   จะเห็นว่าเงื่อนไข ปัจจัย และสภาพแวดล้อมของแต่ละคนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ความสามารถ เงินทุน สภาพพื้นที่ สภาพสังคม ดังนั้น เงื่อนไขและปัจจัยของความสำเร็จ คือ สิ่งที่คนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา ผู้บริหารท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องวิเคราะห์และเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถเสริมสร้างปัจจัยได้อย่างเหมาะสมและสามารถสนับสนุนหรือส่งเสริมการพัฒนาเกษตรในแต่ละบริบทพื้นที่ไปสู่ความสำเร็จได้ 

        นายกดงพญา เสริมว่า ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน. การทำเกษตรก็เช่นกัน. การจะทำให้การเกษตรให้สำเร็จต้องพัฒนาจากพื้นฐานของการเกษตรของแต่ละคนและแต่พื้นที่

        คุณชัยรัตน์ แสงสรทวีศักดิ์ เสริมว่า  การมองความยั่งยืนในระดับชุมชน เป็นเรื่องจำเป็น ไม่งั้นก็จะเป็นการทำเกษตรอินทรีย์แบบธุรกิจและรอดเพียงคนเดียว. การรวมกลุ่มเพื่อทั้งช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และการสร้างตลาดท้องถิ่น หรือ ชุมชนสนับสนุนเกษตรกร จึงจะเป็นความยั่งยืนที่จริงภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

สรุปเนื้อหา โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย

        ในพื้นที่ภาคเหนือ เกษตรในภาคชนบท ชุมชนยังคงมีการผลิตพืชอาหารเพื่อบริโภคเอง เช่น มีสวนหลังบ้าน  การผลิตพืชที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากที่สุดคือการผลิตพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงจากราคาปัจจัยผลิตที่สูง และราคาผลผลิตที่ถูกเมื่อเทียบกับต้นทุน การสูญเสียผลผลิตจึงนำไปสู่ภาวะหนี้สิน.
        การเกษตรที่มีความหลากหลายจะมีความเสี่ยงที่ต่ำทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและจากราคาตลาด แต่การผลิตเกษตรที่หลากหลายต้องการหลากหลายปัจจัยเอื้อ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ความสามารถของเกษตรกร. สภาพแวดล้อมของพื้นที่ เงินลงทุน และตลาด  ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละรายและแต่ละพื้นที่