โครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน (Advancing an inclusive, resilient and equally represented society through climate smart agriculture: ClimateSA)

          มูลนิธิรักษ์ไทย ( Raks Thai Foundation : RTF)  และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) (Sustainable Agriculture Foundation Thailand) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (  European Union ) ให้ดำเนินงานโครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน ในระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2563-2566) โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานท้องถิ่นขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรให้เข้าสู่การทำเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  (Climates Smart Agriculture System)  เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน
วัตถุประสงค์โดยรวม
          โครงการตั้งวัตถุประสงค์โดยรวมของโครงการคือ “ภายในปี พ.ศ.2573 องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในไทยสามารถเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรกรรมในแบบแผนเชิงเดี่ยวไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรและระบบเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและขณะเดียวกันก็เป็นการลดความไม่เท่าเทียม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่ 1, 2, 10, 13 และ 17”

วัตถุประสงค์เฉพาะ
            โครงการได้ตั้งวัตถุประสงค์เฉพาะหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโครงการ 2 ข้อ คือ

  1. การเสริมศักยภาพสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานท้องถิ่นในการพัฒนาและสนับสนุนระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนำไปสู่การปรับตัวของเกษตรกรรายย่อย
  2. สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคีในการผลักดันนโยบายที่สนับสนุนระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉพาะนโยบายการประกันภัยพืชผลให้เกษตรกรรายย่อย

ผลลัพธ์

          โครงการได้กำหนดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการประกอบด้วย 4 ข้อคือ

  1. เสริมสร้างความรู้และทักษะการเกษตรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและภาคีระดับท้องถิ่นใน 4 ภูมิภาค
  2. การพัฒนานวัตกรรมด้านเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับไร่นา และขยายองค์ความรู้สู่เครือข่ายเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด
  3. บูรณาการแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติด้านระบบเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้าสู่พัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล 12 ตำบล
  4. จัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

 

กลุ่มเป้าหมาย

  • องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายระดับท้องถิ่นและระดับชาติ 60 องค์กร
  • เกษตรกรนำร่อง(ต้นแบบ) 240 คน จาก 9 จังหวัด
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง

พื้นที่เป้าหมาย
โครงการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมาย 4 ภาค 9 จังหวัด รวม 12 ตำบล คือ         

ภาคเหนือ 3 พื้นที่ คือ  

  • ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  • ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
  • ต.บ้านปวง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 พื้นที่คือ     

  • ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
  • ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
  • ต.เพ็กใหญ่ อ.พล จ.ขอนแก่น

          ภาคกลาง 3 พื้นที่คือ    

  • ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
  • ต.วังตาล อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
  • ต.สระขวัญ อ.เมือง จ.สระแก้ว

          ภาคใต้ 3 พื้นที่คือ       

  • ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร
  • ต.นาขา อ.หลังสวน จ.ชุมพร
  • ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา

    ระยะเวลาดำเนินงาน
    4 ปี (มกราคม 2563-ธันวาคม 2566)