แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

          เป็นที่ชัดเจนว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก่อให้เกิดผลกระทบกับภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)  และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางด้านอาหารและระบบเกษตรยั่งยืนภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเสนอแนวคิดการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิ(Climate Smart Agriculture : CSA) มุ่งเน้นการดำเนินงาน 3 เสาหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารและมีรายได้ภาคเกษตรอย่างยั่งยืน 2) การเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้เกษตรกรสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนทั้งในด้านการดำรงชีวิตและระบบนิเวศ และ 3) การลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางการเกษตร รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียนและการกักเก็บคาร์บอน

          แนวคิดการเกษตรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือ CSA มุ่งพัฒนาการเกษตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากระดับล่างสู่บน (Bottom up) ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการในระดับท้องถิ่นและระดับไร่นา โดยเน้นการปรับตัวโดยชุมชน (Community-based Adaptation: CbA) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือและลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้มีการบูรณาการแนวคิด CSA เข้ากับกระบวนการทำแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน หรือการจัดทําและดําเนินการแนวทางการปรับตัวที่อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ความสําคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญหาท้องถิ่น และเทคโนโลยีชุมชนอย่างง่าย ซึ่งจัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่

          มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยและมูลนิธิรักษ์ไทยได้ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยในระดับชุมชนท้องถิ่น และเห็นว่าหลักการของแนวคิดการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสอดคล้องกับแนวคิดและหลักการของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหลายประการและเห็นว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ที่เพียงพอกับการพึ่งตนเองของเกษตรกรรายย่อยได้ โดยเกษตรกรรมยั่งยืนในที่นี้หมายถึง “วิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติโดยรวม”(คณะทำงานวิชาการ สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 3 ปี 2547)

หลักการ 10 ประการของเกษตรกรรมยั่งยืน ได้แก่
1.ใช้ประโยชน์และพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อใช้ในระบบเกษตรกรรม
2.ส่งเสริมให้เกษตรกรมีบทบาทหลักในการพัฒนาความรู้และการวิจัยทางการเกษตร
3.ใช้ทรัพยากรจากภายใน(พื้นที่/ระบบ)และลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก(พื้นที่/ระบบ)
4.หลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล
5.ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงบำรุงดินให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
6.ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความหลากหลายของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรในไร่นา และผสมผสานกิจกรรมการผลิตให้เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างสูงสุดควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ และวิธีการซึ่งไม่ใช้สารเคมีรูปแบบต่างๆ
7.ควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ และวิธีการซึ่งไม่ใช้สารเคมีรูปแบบต่างๆ
8.ปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยความเคารพ
9.ผลิตอาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการ มีธาตุอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยตอบสนองต่อความต้องการอาหารและปัจจัยในการดำเนินชีวิตภายในครอบครัวและชุมชนก่อนเป็นเบื้องต้น
10.เอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้โดยปราศจากการครอบงำจากภายนอก

เกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทยสามารถจำแนกได้เป็น 6 รูปแบบสำคัญๆ ดังนี้

  • ระบบไร่หมุนเวียน
  • วนเกษตร (Agro forestry)
  • เกษตรผสมผสาน (Integrated farming)
  • เกษตรอินทรีย์ (Organic farming)
  • เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming)
  • เกษตรทฤษฎีใหม่

          ดังนั้น การดำเนินงานโครงการสร้างการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืนในครั้งนี้จึงเน้นการประสานเชื่อมโยงแนวคิดการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture) กับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเน้นการปรับตัวจาก “ล่างขึ้นบน” ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยทั้งในระดับไร่นาและชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ด้านการปรับตัวจากแผนปรับตัวระดับโลกและระดับชาติ จาก “บนลงล่าง” ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาท้องถิ่นและการดำเนินการในระดับไร่นาของเกษตรกร โดยส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและร่วมกันผลักดันนโยบายที่สนับสนุนระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสู่ระดับนโยบาย เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 1-ขจัดความยากจน  2-ขจัดความหิวโหย , 10-ลดควมเหลื่อมล้ำ, 13-การรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และ 17-หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา