การปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรประเทศบราซิล

       การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อภาคการเกษตร เนื่องด้วยการผลิตในภาคการเกษตรนั้นพึ่งพาหลากหลายตัวแปร โดยเฉพาะช่วงอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่เป็นตัวแปรหลักในการเจริญเติบโตของพืช สัตว์และประมง จากการคาดการณ์ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวารสารวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (The Proceedings of the National Academy of Sciences of the USA-PNAS) ว่า ผลผลิตทางการเกษตรโลกอาจลดลงถึง 17% ในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักอย่างเช่นประเทศบราซิลอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญต่อรูปแบบของการเกิดฝนที่อาจส่งผลต่อคุณภาพถั่วเหลืองซึ่งบราซิลถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก และด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจอาจส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่การปลูกกาแฟที่เหมาะสมถึง 95% ซึ่งกาแฟถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในรัฐเซาเปาลู รัฐมีนัสเชไรส์ และรัฐปารานาของประเทศบราซิล

       การคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังข้างต้นนี้เกิดจากการศึกษาถึงรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนในระยะสั้นและระยะยาวของภาคการเกษตรในประเทศบราซิล เพื่อประเมินสถานการณ์พร้อมกับนำเสนอแนวทางการลดความเสี่ยงในด้านการผลิต โดยที่เกษตรกรยังคงสามารถผลิตอาหารที่เพียงพอและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน การศึกษานี้เป็นความร่วมมือของสถาบันทรัพยากรโลก (World Resource Institute-WRI), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit-GIZ), และเครือข่ายความร่วมมือจากภาคีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศบราซิล โดยการศึกษาได้นำเสนอถึงแนวทางการลดความเสี่ยงในภาคการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4 ระบบ ดังต่อไปนี้

1.ระบบเกษตรแบบผสมผสาน: การผลิตพืช สัตว์ และไม้ยืนต้น

       ระบบการผลิตที่มีความหลากหลาย/ผสมผสานที่มีทั้งพืช สัตว์และไม้ยืนต้นย่อมส่งผลให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีกว่าระบบการผลิตเชิงเดี่ยว คำถามคืออย่างไร? จากการอ้างอิงงานศึกษาขององค์กรทางการเกษตรของบราซิลกล่าวได้ว่า “ระบบเกษตรแบบผสมผสานนั้นสามารถผลิตทั้งอาหาร พลังงาน และไม้ใช้สอยในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงการสร้างความสมดุลของนิเวศในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การช่วยปรับสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่โดยมีอุณหภูมิที่ลดลง มีน้ำที่สามารถนำไปใช้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น การลดผลกระทบของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขีดต่อการผลิตพืช/สัตว์ การพังทรายของหน้าดินลดลง ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรผ่านการจำหน่ายผลผลิตที่หลากหลายในแปลงการผลิต”

2.การฟื้นฟูสภาพทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่เสื่อมโทรม

       การเสื่อมโทรมของทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ถือเป็นปัญหาหลักของบราซิล ด้วยสภาพดินที่มีแนวโน้มการถูกชะล้างและกักเก็บน้ำได้น้อย ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ที่อาจจะส่งกระทบต่อการลดปริมาณการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ การฟื้นฟูสภาวะเสื่อมโทรมของทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากมองในเชิงเกษตรสมัยใหม่ก็อาจเป็นเติมปุ๋ยเคมี แต่การเติมปุ๋ยเคมีถือเป็นรูปแบบการจัดการที่ไม่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรและระบบนิเวศในพื้นที่ที่จะต้องเติมปุ๋ยให้กับพื้นที่นั้นจะเติมทุก 4-5 ปี กลับกันหากมองการจัดการที่ยั่งยืนแล้ว “การเลือกปลูกพืชหรือพุ่มหญ้าพื้นถิ่นคลุมดินหรือการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่เพื่อป้องกันการพังทลาย/กัดเซาะหน้าดิน” ถือเป็นรูปแบบการจัดการที่ยั่งยืนให้กับพื้นที่ที่นอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอากาศ

3.การผลิตพืชในระบบวนเกษตร

       ระบบวนเกษตร ถือเป็นการนำแนวคิดการผลิตที่ปลูกพืชร่วมกับไม้ยืนต้น โดยพืชที่นำไปปลูกร่วมนั้นเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเชิงเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันไม่ได้แย่งกันเจริญเติบโต และด้วยความหลากหลายของพืชและไม้ยืนต้นนี้เป็นการเอื้อให้เกิดผลผลิตตลอดทั้งปีให้กับพื้นที่ โดยเกษตรกรสามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องจากแปลงการผลิตดังกล่าว นอกจากนี้การผลิตในระบบวนเกษตรยังมีความสำคัญในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร ที่ช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศแบบสุดขีดในพื้นที่ได้ เช่น สภาวะภัยแล้ง คลื่นความร้อน คลื่นความเย็น ฝนตกหนักและน้ำท่วม รวมถึงการช่วยปรับความสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่

4.การจัดการป่าที่ยั่งยืน

       การปลูกต้นไม้ที่ยั่งยืนนั้นเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยดักจับก๊าซเรือนกระจกและช่วยดูแลรักษาดิน ตลอดจนเป็นการสร้างศักยภาพเชิงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นโดยผ่านผลิตภัณฑ์จากป่า การฟื้นฟูและการปลูกป่าอาจถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับเกษตรกรในประเทศบราซิลเนื่องด้วยตัวเลขของพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่ที่ถูกตัดไม้ทำลายป่านั้นสูงถึง 131 ล้านไร่ของพื้นที่ป่าประเทศบราซิลที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นพื้นถิ่นถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูสภาพป่าและเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับพื้นที่ในขณะที่เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากพื้นที่ได้เช่นกัน

บทเรียนที่ได้รับจากงานศึกษา

       แนวทางการลดความเสี่ยงในภาคการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง 4 รูปแบบนั้นถือเป็นเส้นทางหรือแนวทางที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ในทุกพื้นที่ในการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสู่การผลิตที่มีความยืดหยุ่นที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตอาหารที่เพียงพอ และในขณะเดียวกันเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้กับพื้นที่

อ้างอิง
Calmon, M. & Feltran-Barbieri, R. 2562. 4 Ways Farmers Can Adapt to Climate Change and Generate Income. ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 จากเวปไซต์ https://www.wri.org/blog/2019/12/4-ways-farmers-can-adapt-climate-change-and-generate-income