การพัฒนารูปแบบการปรับตัวเชิงบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: บทเรียนจากเคนยา

       การบูรณาการหรือการนำเอารูปแบบการปรับตัวที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นในแง่การลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงช่วยผู้กำหนดนโยบายเลี่ยงการลงทุนที่จะส่งผลให้เกิดความเปราะบางของพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนทำให้หลายประเทศได้นำเรื่องการปรับตัวเข้าบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาและในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่ยังคงพบช่องว่างในการนำไปปฏิบัติด้วยความไม่สอดคล้องกันของนโยบายหรือแผนการพัฒนาที่ระบุไว้และการนำไปใช้จริงในพื้นที่


ภาพ 1 ในหลายประเทศ (รวมถึงประเทศเคนยา) นั้นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าไว้ในแผนการพัฒนาและในเชิงนโยบายหลายภาคส่วนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนที่อาศัยในเขตพื้นที่ที่เผชิญกับสภาวะภัยแล้ง (ภาพ: USAID/Flickr)

       ประเทศเคนยาถือเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในการนำเรื่องการบูรณาการเรื่องการปรับตัวบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาที่ในระดับพื้นที่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง รัฐบาลเคนยาไม่ได้นำกลยุทธ์เรื่องการปรับตัวจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเท่านั้น แต่ได้สร้างนวัตกรรมกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้กับส่วนภูมิภาคและชุมชนให้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความพยายามในการเร่งหาทางรับมือจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากประเทศประสบกับสภาวะภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานานที่ส่งผลกระทบให้ประชากร 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงปี 2557-2562 และประชากรอีก 500,000 คนไม่มีน้ำใช้เป็นประวัติการณ์สูงสุดในวิกฤติปี 2561

ภาพ 2 หลายชุมชนเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำและอาหารนั้นกำลังนำใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ภาพ: Civil Protection and Humanitarian Aid/ Flickr)

       ในขณะประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกเผชิญกับสภาวะภัยแล้งมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยิ่งจะทำให้เกิดความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติในทศวรรษหน้ามากขึ้น จากภาวะภัยแล้งที่ยาวนานอุณหภูมิที่สูงขึ้นควบคู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระจายของปริมาณน้ำฝนและน้ำท่วมฉับพลันต่อเนื่องนี้จะเป็นภัยที่คุกคามชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งโดยเฉพาะประชากรที่ดำรงชีวิตอยู่กับพื้นที่การเกษตรน้ำฝนและพื้นที่ทุ่งหญ้า จากการคาดการณ์ผลกระทบที่จะทวีความรุนแรงขึ้นนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและความพยายามฟื้นฟูจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ยากขึ้น
      ด้วยความตระหนักในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต้องสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น ประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งได้มีการนำเรื่องการปรับตัวเข้าไว้ในแผนการพัฒนาและได้ก่อตั้งกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในการสนับสนุนงบประมาณในการปรับตัวที่ยั่งยืน โดยสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute – WRI) ได้ประเมินถึงประสบการณ์ของกลุ่มประเทศดังกล่าวที่มีการดำเนินการด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้เร็วและใช้ได้จริงในระดับพื้นที่นั้น สามารถสรุปบทเรียนหลัก ได้ดังต่อไปนี้

1.การเข้าถึงงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานที่ทำให้เกิดการเริ่มต้นปฏิบัติในพื้นที่ได้เร็ว
       
การสร้างกระบวนการสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริม/สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำเรื่องความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศบรรจุไว้ในแผนงบประมาณของหน่วยงาน โดยจัดสรรงบประมาณใช้ในด้านการปรับตัวหรือการติดตามการใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดังตัวอย่างกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศเคนยาที่เป็นช่องทางในการสนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการด้านการปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้กับองค์กรท้องถิ่น เพื่อให้เข้าถึงงบประมาณนี้องค์กรท้องถิ่นในแต่ละเมืองต้องมีแผนที่ชัดเจนในแง่แผนการพัฒนาที่เกี่ยวข้องและมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยข้อกำหนดเบื้องต้นนี้ไม่เพียงแค่เป็นการสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำงานเป็นระบบมากขึ้นในการค้นหาพื้นที่เปราะบางในระดับพื้นที่และเกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนา/ปรับปรุงความยืดหยุ่นในผลลัพธ์การพัฒนาพื้นที่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ที่ตัดสินใจที่เกี่ยวข้องเลี่ยงการลงทุนในโครงการที่ไม่ได้เอื้อต่อการปรับตัวหรือสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือได้จริงในพื้นที่

ภาพ 3 ด้วยภาวะฝนทิ้งช่วงติดต่อกันได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน การจัดตั้งกระบวนการสนับสนุนงบประมาณสามารถช่วยค้นหาพื้นที่เปราะบางและสร้างความยืดหยุ่นในพื้นที่เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ภาพ: Africa Progress Panel/Flick

       ดังตัวอย่างในเมือง Wajir เจ้าหน้าที่รัฐได้รับการฝึกอบรมจากองค์กรด้านการปรับตัว (Ada Consortium) ซึ่งเป็นเครือข่ายของหน่วยภาครัฐร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ดำเนินการโดยหน่วยงานการจัดการด้านภัยแล้งแห่งประเทศเคนยา ซึ่งการอบรมดังกล่าวเป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจและการนำใช้ข้อมูลสภาพอากาศในระดับท้องถิ่นเข้าไว้ในแผนการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไว้ในแผนพัฒนาของเมือง การวางแผนนั้นเริ่มจากการค้นหาพื้นที่ที่เผชิญกับสภาวะภัยแล้งที่เพิ่มขึ้นบ่อยครั้งจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ดำรงชีพพื้นฐานของพื้นที่) การค้นพบนี้ทำให้หน่วยงานได้มีการนำมาตรการเฉพาะมาใช้เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้าไว้ในแผนการดำเนินงาน โดยองค์กรส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของเมือง Wajir เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ในด้านการพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงน้ำ และช่วยเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนสำหรับการเกิดภัยแล้งในอนาคตโดยการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อลดภาวะน้ำขาดแคลน และมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำโดยการสร้างแทงค์เก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำและรางน้ำให้สัตว์ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ Wajir-bor ในการกระจายน้ำให้กับคนมากกว่า 30,000 คน และการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่

       นอกจากพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเชิงเทคนิคขององค์กรด้านการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแล้ว หน่วยงานรัฐในเมือง Makueni ได้นำใช้แผนพัฒนาโดยให้ความสำคัญในการขยายการเข้าถึงน้ำที่สะอาดและปลอดภัยเนื่องจากรูปแบบการกระจายของน้ำฝนที่ไม่สามารถคาดการณ์เพิ่มสูงขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เมือง Makueni ได้นำงบประมาณที่ได้รับจากกองทุนฯ มาใช้ในงานอนุรักษ์และช่วยกระจายน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงใช้ในกิจกรรมลดผลกระทบจากสภาวะภัยแล้งควบคู่กับการพัฒนา/ปรังปรุงระบบการผลิตในภาคการเกษตรของพื้นที่

ภาพ 4 เมือง Makueni ได้เข้าถึงงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับภัยแล้งซึ่งช่วยให้พื้นที่ได้มีการพัฒนา/ปรับปรุงระดับการผลิตได้เพิ่มขึ้น (ภาพ Aaron&Lisa/Flickr)
  1. สนับสนุนการสร้างภาวะผู้นำในเรื่องการปรับตัว
           จากงานวิจัยพบว่า ภาวะผู้นำที่ยั่งยืนจากบุคคลที่มีอุดมการณ์นั้นมีบทบาทในการสร้างความยืดหยุ่นทางการเมือง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทำตามและมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานระยะยาว เช่นเดียวกับผู้นำชุมชนในเมือง Makueni ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐให้นำเรื่องการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือเรื่องสภาพภูมิอากาศไว้ในแผนการพัฒนาเมือง โดยนายกเทศมนตรีเมือง Makueni ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้กระตุ้นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเช่นกันในการให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำชุมชนในการก้าวขึ้นมาวางแผนรับมือร่วมกัน ด้วยการดำเนินการนี้ทำให้ประชากรในเมือง Makeuni มีความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและสร้างความเป็นเจ้าของให้คนในชุมชนผ่านโครงการการปรับตัวในระดับพื้นที่

           เช่นเดียวกับผู้นำทางความคิดในเมือง Wajir ได้แก่ ครู และเจ้าหน้าที่การเกษตร ได้มีการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น สภาวะการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม โดยข้อมูลการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการนี้ได้ช่วยให้คนในชุมชนได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร และจะสร้างความตระหนักที่ต้องจัดลำดับความสำคัญในการปรับตัวอย่างไรบ้างที่จะทำให้เรื่องการปรับตัวเข้าบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม ดังตัวอย่างแผนการพัฒนาเมือง Wajir ช่วงปี 2556-2560 ที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีการกล่าวถึงข้อมูลหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่การแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่การเกษตรและชุมชนนั้นทำให้แผนการพัฒนาเมืองในช่วง 2561-2564 นั้นได้ให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการสำหรับการวางแผนและนำรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate-Smart Livestock Practices) มาปรับใช้ในพื้นที่
  1. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการช่วยแก้ไขปัญหาความเปราะบางในระดับพื้นที่
           ในขณะที่กองทุนด้านการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้สนับสนุนเรื่องการปรับตัวให้กับการเตรียมความพร้อมในการรับมือของเมืองแล้ว การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นสามารถให้เกิดการยอมรับและร่วมสร้างความเป็นเจ้าของผ่านแผนการพัฒนาท้องถิ่น การสนับสนุนจากองค์กรด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ADA Consortium) เมือง Makeuni และ Wajir ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการในการวางแผนสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนองค์กรไม่แสวงหากำไร และตัวแทนของชุม เพื่อระดมค้นหาความเปราะบางในพื้นที่พร้อมกับการให้ความสำคัญของแผนการดำเนินการเพื่อรับมือจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่มีบริบทที่เฉพาะแตกต่างกัน
           ถึงแม้ว่าการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน แต่กระบวนการดังกล่าวนี้สร้างการมีส่วนร่วมนี้ไม่เพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีโอกาสในการช่วยชุมชนให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะกระทบต่อชีวิตและการดำรงอยู่ของชุมชนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเป็นไปได้ที่คนในชุมชนยังคงรักษาความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแม้ว่าสิ้นสุดการสนับสนุนจากโครงการก็ตาม

       การปรับตัวเชิงบูรณามุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยืดหยุ่นในการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
       ข้อค้นพบในช่วงต้นจากความพยายามในการนำใช้การปรับตัวเชิงบูรณาการของเมือง Wajir และ Makueni พบว่า คนในชุมชนเริ่มได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเจ้าหน้าที่รัฐรายงานว่าคนในชุมชนเข้าถึงน้ำ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ และมีความมั่นคงทางอาหารของเมืองนั้นเพิ่มขึ้นในช่วงตลอดทั้งปี จากการเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเมือง Wajir และ Makueni นั้นสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในแง่การลดความตึงเครียดเรื่องการเข้าถึงน้ำและทำให้ชุมชนมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจากสภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม

       “แม้ว่าไม่มีกลยุทธ์ใดที่สามารถตอบสนองหรือใช้ได้กับทุกพื้นที่สำหรับการปรับตัวเชิงบูรณาการตามแผนการพัฒนาเมือง แต่งานวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากประเทศเคนยานี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการสนับสนุนกลไกด้านงบประมาณ การฝึกอบรม การสร้างภาวะผู้นำที่มีอุดมการณ์ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแผนการพัฒนาเมือง เป็นอีกรูปแบบการจัดการหนึ่งที่น่าสนใจในการพัฒนารูปแบบการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่อื่นต่อไป”

อ้างอิง: Tonya SummerlinMoushumi Chaudhury and Namrata Ginoya. (2020), INSIDER: Mainstreaming Climate Adaptation into Development: Three Lessons from Kenya.ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 จากเวปไซต์https://www.wri.org/blog/2020/08/insider-three-lessons-mainstreaming-climate-adaptation