ระบบนิเวศเกษตรที่ยั่งยืน : กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่มุ่งสู่การมีสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ดีมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
“อาหารที่เราบริโภคนั้นมาจากพื้นดิน…ในขณะที่เราทำลายชีววิทยาทางดินนั่นหมายถึงเราได้ทำลายแหล่งอาหารที่ให้ชีวิตกับเรา” ดร.Paul Stamets นักวิทยาศาสตร์ด้านเห็ดราวิทยา ผู้เขียนหนังสือ “Mycelium Running”
ในขณะที่การนำใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ และกระบวนการจัดการสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนั้น พบว่าการตระหนักถึงเรื่องประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบองค์รวมยังมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการทำการเกษตรแบบสมัยใหม่ที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลเชิงลบต่อพื้นดินและระบบนิเวศในพื้นที่ รวมถึงกระทบต่อการทำงานของระบบนิเวศที่ทำงานบกพร่องได้ ซึ่งหากต้องการให้ผลกระทบต่อมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาตินั้นลดลงโดยคงไว้ซึ่งความมั่นคงอาหารในอนาคตนั้นจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องมีการให้ความรู้และกระบวนการพิจารณาบนฐานการจัดการเพื่อการฟื้นฟูการทำงานของระบบนิเวศ โดยปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเกษตรกรที่กำลังปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในการกระตุ้นให้เกิดการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รวมถึงผู้บริโภคที่เริ่มตระหนักในการให้ความสำคัญในระบบการผลิต และเลือกบริโภคอาหารจากการผลิตในระบบเกษตรที่ยั่งยืนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
การจัดการผลิตภายใต้ระบบเกษตรนิเวศที่ยั่งยืน
ระบบธรรมชาตินั้นมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ซึ่งหากส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหายก็จะทำให้การทำงานของระบบไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการทำความเข้าใจในระบบธรรมชาตินั้นควรมองเชิงองค์รวมว่าแต่ละส่วนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งการคงไว้ของระบบนิเวศที่ดีนั้นได้เอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์ในหลายมิติ ดังเช่นความยั่งยืนในการจัดการฟาร์มที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมแมลง การเพิ่มปริมาณผลผลิต และช่วยลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตามด้วยระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ที่มีระบบการผลิตอย่างเข้มข้นในการเร่งปริมาณผลผลิตโดยการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากนั้นได้ทำลายความหลากหลายทางนิเวศเกษตรในพื้นที่ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของผู้คนภายใต้ระบบการผลิตดังกล่าว นอกจากนี้ด้วยวงจรอุบาทว์ที่ไม่ยั่งยืนดังกล่าวยังเป็นเหตุให้ผืนดินเสื่อมโทรม ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ภาพอนาคตความมั่นคงทางอาหารในด้านที่ดีที่สุดอาจพบว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเข้าถึงอาหารของผู้คน ขณะเดียวกันหากมองภาพอนาคตในด้านที่แย่ที่สุดอาจพบว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
การจัดการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบที่เอื้อต่อการทำงานของดินให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีระบบนิเวศที่ดีขึ้นในการช่วยบรรเทาปัญหาข้างต้นได้ เนื่องจากดินที่อุดมไปด้วยธาตุคาร์บอนนั้นเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของระบบนิเวศ โดยการเพิ่มธาตุคาร์บอนในดินช่วยการดูดซับและเก็บกักน้ำในดิน การเก็บกักธาตุอาหารในดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น รา จุลินทรีย์ แมลง พืช และสัตว์ เป็นต้น เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นแหล่งอาหารของการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยสนับสนุนและสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มคาร์บอนในดินอย่างยั่งยืนนั้น ได้แก่ ระบบการเกษตรที่มีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดิน ระบบการเลี้ยงสัตว์ที่มีการเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับดินในพื้นที่ปลูกพืชยืนต้นและพื้นที่ทุ่งหญ้า การฟื้นฟูต้นไม้/พืชยืนต้นในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และการเกิดไฟป่าในพื้นที่ทุ่งหญ้า โดยหลักสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบนิเวศและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมที่มีสาเหตุมาจากการจัดการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ที่ผิดนั้น คือ การนำใช้รูปแบบการจัดการที่ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยเฉพาะการทำงานของระบบนิเวศวิทยาทางดินในการลดพื้นที่ว่างเปล่าโดยการปลูกพืชคลุมดินตลอดทั้งปี โดยการเลือกปลูกพืชยืนต้นแทนการปลูกพืชล้มลุก เน้นการปลูกพืชผสมผสานและพืชคลุมดิน ส่งเสริมพืชที่มีศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ การเลี่ยงไถพรวนดิน การใช้อินทรียวัตถุในการปรับปรุงดิน และการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางทางการเกษตรในกระบวนการผลิต
ในแต่ละฟาร์มและในแต่ละภูมิภาคนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติใช้ที่ได้ผลในพื้นที่เขตร้อนนั้นอาจใช้ไม่ได้ผลในพื้นที่ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่นหรือพื้นที่ป่าดิบชื้น อย่างไรก็ตามการนำหลักคิดพื้นฐานในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของพื้นดินที่เอื้อต่อการผลิตและการดำรงชีพของเกษตรกรในมิติด้านรายได้ การเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพของครัวเรือนเกษตรกรและผู้บริโภคนั้น มีหลักการสำคัญ 3 ประการที่ควรคำนึงในการทำการผลิตที่ยั่งยืน ดังนี้ 1) ลดการรบกวนโครงสร้างดิน เช่น เลี่ยงการไถพรวนดินและการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร 2) ปลูกพืชคลุมดิน 3) ปลูกพืชหมุนเวียนควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์
กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการผลิตที่มีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดิน
การทำความเข้าใจว่า ทำไมเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ควรนำหลักการและนวัตกรรมดังข้างต้นมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปฏิบัติตาม เนื่องด้วยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นรูปแบบการจัดการแบบองค์รวมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในแง่การสร้างความสมดุลระบบนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคมของผู้คนในชุมชน โดยผลที่เกิดขึ้นจากการนำหลักการและแนวปฏิบัติในระบบการผลิตที่มีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดินนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการนำไปสื่อสาร เพื่อสร้างแรงจูงใจโดยผ่านความรู้ความเข้าใจถึงเป้าหมายในการจัดการแปลงการผลิต ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มการเก็บกักคาร์บอนในดินแล้ว ยังเอื้อต่อการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงยังเอื้อต่อการสร้างความยืดหยุ่นในการจัดการแปลงการผลิต และการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
ภาพ 1 การตัดกลบพืชคลุมดินเพื่อเลี่ยงการไถพรวน ภาพ 2 การปลูกพืชหมุนเวียนด้วยพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่
ภาพ 3 การปลูกพืชหลากหลายในระบบการปลูกหมุนเวียน ภาพ 4 การเลี้ยงสัตว์ในระบบพื้นที่หมุนเวียน
อ้างอิง
Richard T. (2563). Sustainable agroecosystems: Facilitating transition to a healthier environment, and healthier and more resilient agricultural communities. ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 จากเวปไซต์https://www.openaccessgovernment.org/soil-carbon/95310/?fbclid=IwAR0Jmo0B1mqfcXON461uZK6Cp8mF73 sPD7VkDHD14wX8iTAtNdJKTiCY2_k
Leave a Reply