รำลึก อาจารย์พกฤษ์ ยิบมันตะสิริ ผ่านคำนำหนังสือ “จินตนาการอาหารและชุมชน”

          จากหนังสือ “จินตนาการอาหารและชุมชน” เรื่องราวความมั่นคงทางอาหารจากชุมชน โดย เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ที่ได้จัดพิมพ์ไปเมื่อปี 2555 นั้นได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ เขียนคำนำในหนังสือเล่มดังกล่าว ถึงแม้ท่านได้ล่วงลับไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา แต่ด้วยคุณูปการที่ท่านได้ร่วมงานกับชุมชน องค์กรท้องถิ่น และภาคประชาชน จึงยังคงสร้างพลังสำหรับการสานต่อแนวทาง ความคิดและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องตลอดไป ทางมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จึงขอนำมาย้ำเตือน เพื่อระลึกถึงท่านอาจารย์พฤกษ์ด้วยความเคารพ

          ความมั่นคงทางอาหารกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดลงหรือสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงระบบพลังงาน ด้วยระบบอาหารได้เป็นกลไกหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกทั้งในด้านเครือข่ายการผลิต การกระจาย การตลาด และการบริโภค

          ความมั่นคงทางอาหารเป็นผลพวงของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยต่างๆ ซึ่งมักจะไม่ถูกอธิบายในการวิเคราะห์ห่วงโซ่อาหารซึ่งมักจะเน้นด้านการผลิต และการไหลของผลผลิต กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบอาหารควรได้รับการติดตามและประเมิน เนื่องจากบางกิจกรรมอาจส่งผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ และบ่อยครั้งให้ผลทางลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบการผลิตเชิงเดี่ยวที่เข้มข้น ภายใต้เกษตรพันธะสัญญาด้านปศุสัตว์ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ

          ระบบอาหารที่สร้างความมั่นคงให้กับครัวเรือน ชุมชน และสังคมโดยส่วนรวม ได้ดำเนินการในหลายขนาดและหลายระดับ เช่น ระดับแปลงที่มีขนาดแตกต่างกัน ระดับฟาร์ม ระดับภูมิทัศน์ และลุ่มน้ำ การผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดปีและการผลิตตามฤดูกาล โดยมีวงจรการผลิตระยะสั้น ปานกลาง และยาว แตกต่างกัน ภายใต้ขอบเขตการปกครองที่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งครัวเรือนและชุมชนได้รับการบริการ และการสนับสนุนแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันกิจกรรมต่างๆ ของระบบอาหาร ยังต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบต่างๆ ทั้งที่ถูกกำหนดโดยชุมชน หรือกฎระเบียบของฝ่ายปกครอง ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารจึงมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลาย และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ที่ระดับต่างๆ มีผลต่อประสิทธิผลของระบบอาหาร

          การศึกษาและวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารในบริบทใดบริบทหนึ่งมักจะให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลักได้แก่

  1. การมีอาหาร หมายถึง ปริมาณ ประเภท และคุณภาพ ที่ชุมชนสามารถจัดหาและบริโภคได้ อาหารอาจจะมีโดยท้องถิ่นผลิตเองได้ อาหารอาจจะมีโดยอาศัยช่องทางการกระจายที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ เมื่อมีความต้องการ การมีอาหารขึ้นอยู่กับกลไกการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา แรงงาน หรือระบบทางวัฒนธรรมทางชุมชน
  2. การเข้าถึงอาหาร หมายถึง ความสามารถที่เข้าถึงประเภท คุณภาพ และปริมาณอาหารที่ต้องการ และสามารถวิเคราะห์การเข้าถึงอาหาร โดยวัดจากความสามารถในการจัดซื้ออาหารที่มีอยู่ กลไกการจัดสรร เช่น ระบบตลาดและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการควบคุมราคาอาหารและความชอบ ความนิยมของผู้บริโภค
  3. การใช้ประโยชน์อาหาร หมายถึง ความสามารถในการบริโภค และได้ใช้ประโยชน์จากอาหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณค่าโภชนาการ คุณค่าทางสังคม และความปลอดภัยของอาหารที่ชุมชนสามารถจัดหาได้

          ความมั่นคงทางอาหาร เป็นผลลัพธ์ของกิจกรรมระบบอาหาร ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การกระจาย การตลาด และการบริโภค แต่ความมั่นคงทางอาหารก็ถูกกำหนดโดยปัจจัยหรือตัวแปรทางสังคม การเมือง และสภาวะสิ่งแวดล้อมโดยตรง ดังนั้น เสถียรภาพและความสมดุลของทั้ง 3 องค์ประกอบ เป็นมิติที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมของระบบอาหารจะครอบคลุมทุนทางธรรมชาติ และการให้บริหารของระบบนิเวศ เช่น ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในพื้นที่ขนาดใหญ่ มีส่วนกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ส่วนผลลัพธ์ทางสังคมและสวัสดิการของระบบอาหารที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างรายได้ สร้างงาน สวัสดิการและสุขภาวะของชุมชน

          สำหรับมุมมองด้านความมั่นคงทางอาหารของชุมชน บ่งบอกถึงการปรับตัวของครัวเรือนและชุมชนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นที่จะรองรับแรงกระแทกจากภายนอก และพัฒนาภูมิคุ้มกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของความมั่นคงทางอาหาร

          ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของ 4 ฐานที่หนุนเสริมความมั่นคงทางอาหาร อันได้แก่ ฐานการผลิต ฐานทรัพยากร ฐานการค้า และฐานทางวัฒนธรรม ความสามารถในการเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารของแต่ละครัวเรือนภายในชุมชนมีความแตกต่างกัน อาจเนื่องจากฐานทรัพยากร และฐานการผลิตที่มีทุนแตกต่างกัน แต่ในระดับชุมชนในภาพรวม ครัวเรือนสามารถบรรลุความมั่นคงทางอาหาร หรือบรรเทาภาวการณ์ขาดแคลน โดยอาศัยฐานทางวัฒนธรรม การเกื้อกูล และการแบ่งปันผ่านประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ เป็นตัวหนุนเสริม เช่น วิถีประมงพื้นบ้านของฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับภูมินิเวศชายฝั่ง ในลักษณะ “แบ่งปันใช้อยู่ใช้กิน” เป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งต่างจากลักษณะการใช้ประโยชน์แบบตักตวง กอบโกยของการประมงพาณิชย์ อันมีส่วนทำลายทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรง ลักษณะการเคารพและนอบน้อมต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เป็นสิ่งค้ำจุนความหลากหลายชีวภาพ และส่งผลให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนอย่างยั่งยืน กิจกรรมต่างๆ ได้ผ่านการร่วมคิดร่วมทำ ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกันโดยชุมชน

          ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารในระดับต่างๆ ตั้งแต่ท้องถิ่น จังหวัด จนถึงประเทศจำเป็นต้นทำความเข้าใจ เข้าถึง และให้ความเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ผลิตอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนการผลิต และการกระจายที่ระดับจุลภาค เนื่องจากความหลากหลายของ 4 ฐานหลักของความมั่นคงทางอาหารผันแปรไปตามสภาพภูมินิเวศและสังคม

          ความมั่นคงทางอาหารของประเทศอยู่ที่ความเข้มแข็ง ความสามารถ และความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยผู้เป็นกำลังส่วนใหญ่ของประเทศ ผู้ผลิตเหล่านี้ มีคุณสมบัติของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ความเปราะบางบริบทอันเกิดจากนโยบายรัฐ และการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสภาพแวดล้อมจากภายนอก ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลยุทธ์การปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารจำเป็นต้องสร้างระบบความเป็นธรรม เป็นภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรรายย่อยของประเทศ

  พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ
                                                                                                              25 มีนาคม 2555